ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 15 ก.ค.63 ปิดที่ 1,354.31 จุด เพิ่มขึ้น 13.24 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 59,689.12 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 1,310.48 ล้านบาท
หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด CPF ปิด 34.50 บาท บวก 1 บาท, STGT ปิด 80.25 บาท ลบ 3.75 บาท, EA ปิด 48.25 บาท ลบ 0.25 บาท, PTTEP ปิด 95.25 บาท บวก 2.75 บาท และ AOT ปิด 55.25 บาท บวก 1 บาท
ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น หลังมีปัจจัยบวกจากความคาดหวังวัคซีนโควิด-19 กลับเข้ามากระตุ้นการลงทุน ขณะที่นักลงทุนเลือกซื้อคืนหุ้นรายตัว ที่ปรับตัวลงแรง
มีบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มแบงก์ จากหลายโบรกเกอร์ กรณี ธปท.อาจขยายเวลาให้ธนาคาร ลดเงินค่าธรรมเนียมนำส่ง FIDF ออกไปจากปี 64 โดย บล.โนมูระ พัฒนสิน มองเป็น Positive sentiment ต่อประเด็นนี้ หากกลุ่มธนาคารได้รับการต่ออายุ ลดค่าธรรมเนียมนำส่ง FIDF ซึ่งปัจจุบันปรับลดลงจาก 0.46% เหลือ 0.23% มีผลตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 63 ถึงไตรมาส 4 ปี 64 ทำให้ปี 65 กลุ่มแบงก์จะมีต้นทุนทางการเงินลดลง และ NIM เพิ่มขึ้น
มองว่าแบงก์ใหญ่จะได้ประโยชน์มากกว่าแบงก์กลาง-เล็กด้วยฐานเงินฝากที่สูงกว่า หากพิจารณาเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 63พบว่า BBL มีฐานเงินฝากมากสุดที่ 2.51 ล้านล้านบาท ตามด้วย KTB ที่ 2.35 ล้านล้านบาท, SCB ที่ 2.27 ล้านล้านบาท และ KBANK ที่ 2.20 ล้านล้านบาท เลือก BBL และ TISCO เป็น Top pick ของกลุ่ม
ขณะที่ บล. เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่ากรณีดังกล่าว รวมถึงการที่ ธปท.อาจไม่ต่อเวลามาตรการที่ให้ธนาคารพาณิชย์อุ้มลูกหนี้ ถือเป็นข่าวบวก โดยการต่ออายุการลดเงินนำส่ง FIDF จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินลงได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง
โดยเคทีบีได้ทำ sensitivity หากปรับลดเงินนำส่ง FIDFลงเหลือ 0.23% จาก 0.46% ในปี 65 ต่ออีก พบว่า กลุ่มแบงก์ใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่าแบงก์เล็ก ทั้งนี้ KTB ได้ผลดีมากที่สุด โดยกำไรสุทธิมีอัปไซด์เพิ่ม 14% รองลงมาเป็น BBL13% และ SCB 10% ส่วน KBANK 9%
ส่วนประเด็นเรื่องการไม่ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือที่จะหมดอายุเดือน ต.ค.63 ส่งผลดีในแง่กระแสเงินสดที่จะเข้ามา ทำให้ธนาคารไม่ขาดสภาพคล่อง ขณะที่เชื่อว่าแต่ละธนาคารจะจัดการกับลูกหนี้ที่มีปัญหาได้
ชอบ BBL มากสุด แนะ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท เพราะเป็นแบงก์ที่ต้านทานภาวะเศรษฐกิจได้ดี และมีผลดีจากการรวมธนาคารเพอร์มาตาที่จะเพิ่ม upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ราว 10%!!
ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ