นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้เอกชน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติพระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจ ธปท.ออกซอฟท์โลน เพื่อดูแลภาคธุรกิจ พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ตลอดจน พรก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นเรื่องที่มี ความสำคัญ และ ความจำเป็น อย่างมาก
ผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นเป็นเม็ดเงินสุทธิราว 1.3 ล้านล้านบาท เท่ากับ 7.7% ของจีดีพี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว รายได้หายไปถึง 1.1 ล้านล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลึกใกล้เคียงกับปี 2540 และอาจจะมากกว่านั้น ถ้าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในไตรมาสที่สอง ของปีนี้ ซึ่งผลกระทบด้านตัวเลข อาจจะแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของสถานการณ์ครั้งนี้ คือ การออกมาตรการให้ความช่วยเหลือที่รวดเร็ว และ ระดับใหญ่ เพื่อยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ทรุดลงแรงกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การจัดการด้านสาธารณะสุขเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคและดูแลผู้ป่วยในวงที่กว้างขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องอาชีพและปากท้องของประชาชน โดยมาตรการด้านการคลังจะเข้ามาเป็นกลไกหลัก ทำให้ต้องเร่งอนุมัติ พรก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อดึงงบประมาณจากหน่วยงานรัฐต่าง ๆ มาเป็นทรัพยากรเพิ่มเติม หลังจากที่งบกลางเดิมจัดสรรไปหมดแล้ว
ขณะที่การดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจตลาดการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ ปัจจุบันตลาดการเงินไทยเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก ทำให้ความตื่นตระหนกทั้งจากทั้งในและต่างประเทศ สามารถฉุดให้อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินปรับตัวแรง กระทบกับความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และสถานะทางการเงินลูกค้าธุรกิจและครัวเรือนได้ จึงควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นของตลาดก่อนเป็นอันดับแรก
ดังนั้น มาตรการ 9 แสนล้านบาทในรอบนี้ จึงจำเป็นต้องพุ่งเป้าหมายไปที่การจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนที่มีขนาดใหญ่ราว 22% ของจีดีพี ซึ่งจะช่วยทั้งตัวกิจการที่ต้องการระดมทุนไปชำระคืนหนี้เดิมและเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ รวมถึงช่วยผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าในระยะหลัง ผู้ฝากเงินรายย่อยหันมาออมเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมในตราสารหนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ยังประกอบด้วยมาตรการช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ครอบคลุมกว่า 99% ของจำนวนกิจการทั้งหมด และการจ้างงานกว่า 85% ของการจ้างงานทั้งประเทศ หรือกว่า 13 ล้านคน ผ่านการให้ซอฟท์โลนเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติ
เชื่อมั่นว่า การดำเนินการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังของภาครัฐ จะทำให้การหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในกรอบจำกัด และไม่กลายเป็นวิกฤตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็น ทางการไทยยังมีทรัพยากรอีกมากเพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตครั้งนี้ไปได้แน่นอน