บทความที่แล้วเล่าให้ฟังถึง คุณพี่มนุษย์เดือนชนเดือน พนักงานออฟฟิศท่านหนึ่ง ที่ปรับระบบชีวิตการเงินของตัวเองใหม่ จนสามารถปลดแอกจากชีวิตหนี้ที่มืดมน เงินเดือนหมื่นกว่า แต่เป็นหนี้เกือบครึ่งล้าน จากการใช้จ่ายเงินที่ไม่มีระเบียบแบบแผน มีเงินเข้ากระเป๋าเท่าไร ก็ใช้จ่ายจนหมดเกลี้ยง ไม่พอก็หยิบยืม รูดบัตรเงินสด กู้เงินนอกระบบ เงินเก็บเงินออมไม่เคยมี เงินลงทุนไม่ต้องพูดถึง
เมื่อชีวิตพลิกผัน ได้เข้าสู่โครงการ “Happy Money Happy Retirement” ที่บริษัทส่งพนักงานเข้าร่วมโครงการกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้กลับมาจัดระเบียบการใช้จ่ายของตัวเองใหม่หมด จดบันทึกรายรับรายจ่าย อุดรูรั่ว ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ก็มีเงินเหลือมาจ่ายหนี้ เมื่อรายรับไม่พอจ่าย ก็ต้องหารายได้เพิ่ม
สุดท้ายหมดหนี้ เริ่มออมเงิน โดยเริ่มจากเงินออมต้นทาง คือเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นเงินออมก้อนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเงินออมระยะยาวเพื่อเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ
ผู้ที่รู้ตัวเองดีว่า ถ้าให้เก็บเงินเองจะ “เก็บไม่อยู่” แน่นอน ให้ใช้วิธี “หักดิบ” ยอมให้หักเงินจากเงินเดือนมาสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราสูงสุดไปเลย ซึ่งหลายบริษัทให้สะสมได้สูงสุด 15%ของเงินเดือน
ข้อดีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากเงินออมสะสมของเราที่ใส่เข้าไปทุกเดือนแล้ว ยังมีเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้เราเพิ่มไปอีก ขึ้นกับข้อกำหนดของแต่ละบริษัทว่าจะสมทบให้เท่าไร ตั้งแต่ 2-15% นั่นหมายถึงเงินที่นายจ้างช่วยออมเพิ่มให้เรานั่นเอง!!
แถมเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา ยังสามารถนำไปใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ที่เราต้องจ่ายทุกปีได้อีกด้วย
ที่สำคัญยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุน เพราะเงินสะสมและเงินสมทบของนายจ้าง จะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพบริหารเงินให้
ผลตอบแทนจากการลงทุนแต่ละปีจะมากหรือน้อย ขึ้นกับหลายปัจจัย โดยเฉพาะขึ้นกับระยะเวลาและสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ซึ่งมีทั้งเงินฝาก หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ กองทุนรวมและกองรีทต่างๆ ที่มีทั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์กองทุนโครงสร้างพื้นฐานมากมาย
ซึ่งปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีรูปแบบให้ลูกจ้างเลือกแผนลงทุน (Employee’s Choice)ได้ เช่น หากยังอายุไม่มาก แนะนำให้เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้น เพราะจากสถิติพบว่าการลงทุนระยะยาวในหุ้นพื้นฐานดี มักให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าได้
เมื่ออายุมากขึ้นต้องลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลง เพื่อไปลงทุนมากขึ้นในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่อาจได้ผลตอบแทนที่ลดลง และหากใกล้เกษียณก็สามารถขอเลือกแผนลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงเลย เพื่อปกป้องเงินต้นในโค้งสุดท้ายของการลงทุน
“คุณนายพารวย”อยากแนะนำให้พวกเราเพิ่มพูนความรู้และเทคนิคการออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบแซ่บๆ ได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th และเลือกไปที่ เมนู“ความรู้การลงทุน”
แล้วจะรู้ว่า การเลือกแผนลงทุนที่สอดคล้องกับอายุ เป้าหมายผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างมหาศาล!!
ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออม รู้ใช้รู้ลงทุน สู่ความมั่งคั่ง โดย คุณนายพารวย ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ