Homeข่าวทั่วไปครม.อนุมัติลดภาษีที่ดิน 90% ปี 63

ครม.อนุมัติลดภาษีที่ดิน 90% ปี 63

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดิน เพื่อลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19และเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในทุกสาขาอาชีพโดยรวม โดยมีสาระสำคัญคือ

กำหนดให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรา 42 หรือมาตรา 95 แล้วแต่กรณี (สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ.2563) สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

1)ที่ดินหรือสั่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

2)ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย

3)ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์นอกเหนือจาก 1) และ 2)

4)ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

ตัวอย่างการคำนวณการลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ มีดังนี้

  • กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563 – 2565) จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 10 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 คิดเป็นภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดิน แล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
  • กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าราคาประเมนทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดิน แล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
  • กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 4 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่าในอัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นภาษี 12,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดิน แล้ว จะชำระภาษีเพียง 1,200 บาท

อย่างไรก็ตาม การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 คาดว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลง 39,420 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดิน จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

- Advertisment -
[td_block_1 custom_title="Must Read" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" category_id="9" sort=""]