Home Blog Page 46

กรมอนามัยแนะ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม เปิดยังไงให้ถูกวิธีปฏิบัติ และสร้างความเชื่อมั่น ช่วงโควิด-19

รายงานข่าวจากรมอนามัย เปิดเผยถึงมาตรการผ่อนปรน เปิดร้านเสริมสวย และร้านตัดผม อย่างไรถึงจะปลอดภัยจากโควิด-19 ดังนี้

ผู้เกี่ยวข้องกับงานบริการในร้านทุกคน

  • ผู้ให้บริการทุกคน มีความรู้ในการปฏิบัติตัว มีสุขอนามัยที่ดี
  • ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
  • สวมเสื้อคลุม ใส่หน้ากากผ้า หรือ เฟซชิลด์ ใส่ถุงมือยางตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน

สิ่งแวดล้อมภายในร้าน

  • มีจุดล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการอย่างเพียงพอ
  • ทำความสะอาดเก้าอี้ หรือจุดบริเวณที่มีการสัมผัส อย่างน้อย 2 ขม.ต่อครั้ง
  • มีระบบระบายอากาศที่ดี เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  • อุปกรณ์ต่างๆ เช่น กรรไกร ต้องทำความสะอาดก่อนและหลังบริการ
  • ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ใบมีดโกน ผ้าขนหนู

ส่วนของลูกค้า

  • ต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
  • ต้องใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย
  • ต้องล้างมือให้สะอาด ก่อนเข้าและออกจากร้าน
  • ต้องนัดคิว เพื่อลดระยะเวลาการรอในร้าน และเวลาที่อยู่ในร้านร่วมกัน

ทั้งนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้เน้นย้ำว่า ขอให้ร้านตัดผม ร้านเสริมสวม ปฏิบัติตามมาตรการด้านความสะอาด ปลอดภัย ทั้งสถานที่และอุปกรณ์ รวมทั้งต้องมีสุขอนามัยที่ดีทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นยังไงให้ปลอดภัยและประหยัดค่าไฟ

กระทรวงพลังงาน แนะวิธีใช้เครื่องทำน้ำอุ่นให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เครื่องทำน้ำอุ่นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จัดอยู่ในกลุ่มใช้ความร้อนในการทำงาน ซึ่งเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีขายทั่วไป มักมีปริมาณการกินไฟ (กำลังไฟฟ้า) ประมาณ 3,000-6,000 วัตต์ จึงมีปริมาณการใช้ไฟมากพอสมควร

แนวทางการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นให้คุ้มค่า และประหยัดพลังงาน มีตามนี้

1.เลือกขนาดให้เหมาะสมกับครอบครัว เครื่องทำน้ำอุ่นที่เหมาะกับครอบครัวเล็ก ควรจะเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นประเภท single point ที่ทำความร้อนจากเครื่องทำน้ำอุ่น 1 ตัว ต่อ 1 จุด แต่ถ้าที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กันหลายคน และต้องใช้น้ำอุ่นในหลายๆ จุดในบ้าน ที่เหมาะสมที่สุดคือ เครื่องทำน้ำอุ่นแบบ multi point ที่ให้ความร้อนได้หลายๆ จุด พร้อมกันแล้วส่งน้ำร้อนผ่านท่อน้ำร้อน และวาล์วผสม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติมสำหรับ เครื่องทำน้ำอุ่นแบบ multi point ก็คือ ยิ่งสะดวกสบาย ยิ่งให้ความร้อนได้หลายจุด ก็ยิ่งกินไฟ

2.เลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เพราะฉลากประหยัดไฟนั้น บ่งบอกถึงระดับการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลเบื้องต้นต่าง ๆ ของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อปี เป็นต้น โดยเฉพาะยิ่งมีตัวเลขที่สูงและเป็นฉลากในปีใหม่ ๆ จะแสดงถึงประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานที่มากกว่า

3.ปรับอุณหภูมิให้พอดี การใช้เครื่องทำน้ำอุ่น ไม่ควรปรับปุ่มความร้อนเกินความจำเป็น เพราะการทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงมาก ๆ นั้น จะใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

4.ปิดเครื่องทุกครั้งหลังใช้งาน ปิดเครื่องทำน้ำอุ่นทุกครั้ง หลังสิ้นสุดการใช้งาน เพื่อประหยัดไฟฟ้าและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

5.ควรเปิดใช้เครื่องทำน้ำอุ่นในอากาศที่เหมาะสม ถ้าอากาศไม่หนาว เราควรอาบน้ำในอุณหภูมิปกติ

ทั้งนี้ ควรศึกษาคู่มือการใช้งานอย่างละเอียด ก่อนใช้ และเลือกอุปกรณ์เป็นชนิดกันน้ำ กระแสไฟฟ้าที่อาจรั่วได้ พร้อมทั้งติดตั้งสายดิน/ระบบตัดไฟรั่ว ระบบตัดไฟอัตโนมัติที่ติดตั้งมาภายในตัวเครื่อง และระบบตัดไฟที่ติดตั้งเองภายหลัง เพื่อความปลอดภัยจากการใช้งาน เพียงเท่านี้ เราก็ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นได้อย่างอุ่นกาย สบายใจ และยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศให้มากขึ้นด้วยครับ

ที่มา กระทรวงพลังงาน

เผยแนวปฏิบัติของ 9 กลุ่มกิจกรรมที่กลับมาเปิดได้วันที่ 3 พ.ค.

รายงานข่าว เปิดเผย ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 6  ว่า่ด้วยการผ่อนคลายให้เปิดกิจการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ เช่น กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือดูแลสุขภาพ ซึ่งได้มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด ทางเพจไทยคู่ฟ้า ได้เปิดเผยรายละเอียดการผ่อนคลายให้ทำกิจกรรม จากข้อกำหนด ฉบับที่ 6 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่แต่ละจังหวัดจะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.63 ดังนี้

การผ่อนคลายให้ทำกิจกรรม ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

  • โรงแรม สนามบิน สถานีรถไฟ ขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย
    • เปิดขายอาหารเครื่องดื่มได้แบบให้นำกลับบ้าน
    • เปิดบริการได้ แต่ต้องจัดระเบียบ
    • ขายสุราได้เฉพาะนำกลับบ้าน
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์
    • เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านโทรศัพทฺ ธนาคาร ที่ทำการของรัฐ
    • ร้านอาหารเฉพาะนำกลับบ้าน
  • ร้านค้าปลีก-ส่ง ตลาด ตลาดน้ำ ตลาดนัด
    • ควบคุมการเข้าออก
    • วัดอุณหภูมิ
    • เว้นระยะห่าง
  • ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม
    • สระ ตัด ซอย แต่งผม
    • ต้องไม่มีคนนั่งรอในร้าน

ด้านการออกกำลังกาย หรือดูแลสุขภาพ

  • โรงพยาบาล สถานทันตกรรม สถานพยาบาลทุกประเภทที่ถูกกม. : เปิดได้
  • สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
    • เปิดได้
    • ต้องไม่มีผู้ชม
    • ต้อมไม่มีการแข่งขัน
  • สนามกีฬากลางแจ้ง เช่น เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู
    • ผู้เล่นต้องมีระยะห่าง
    • ต้องไม่มีผู้ชม หรือการแข่งขัน
  • สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่สาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา
    • เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้ง
    • ต้องไม่มีผู้ชม หรือการแข่งขัน เล่น แสดง
  • สถานที่ให้บริการ ดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยง รับฝากสัตว์ : เปิดได้

คิง เพาเวอร์ ตอบจม.นายกฯ พร้อมช่วยเหลือ

นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้จัดทำเอกสารนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และรมว.กลาโหม ตามที่นายกฯ ได้ทำจดหมายมาขอให้ช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่มทุกภาคส่วนด้วยวิธีการใดก็ได้ เพื่อ บรรเทาความทุกข์จากมาตร การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ได้ จัดทำโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการเพื่อเยาวชนเช่น แจกลูกฟุตบอล 1 ล้านลูกสร้างฝันแก่เด็กไทย, สร้างสนามฟุตบอลเยาวชนไทยสนามที่ 61 -100 , ให้ทุนการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยมองฟอร์ตจากมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา 

ด้านการสาธารณสุข ได้มอบตู้อบเด็กให้โรงพยาบาล,สนับสนุนมูลนิธิก้าวเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสาธารณสุข,ให้กระเป๋ายังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์ และในด้านอาชีพ หนุนโครงการฟ็อกซ์​ฮันท์ และ คิง เพาเวอร์คัพ,การประกวดวงดนตรีดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมเป็นเงิน 749 ล้านบาท

ส่วนโครงการเพื่อสังคมที่นำเสนอนายกฯ ในงบประมาณปี 63 – 65 ระยะเวลา 3 ปี เป็นเงิน 719.5 ล้านบาทนั้น คิง เพาเวอร์ ได้เสนอโครงการพัฒนาสังคมด้านชุมชน และเศรษฐกิจชุมชนเพื่อยกระดับศักยภาพของสินค้าไทย Thai Power World Market เพื่อยกระดับศักยภาพสินค้าไทยโดยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ และประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน วิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถสร้างยอดขายได้ในระดับนานาชาติ และในฐานะเจ้าของสโมสรทีม ฟุตบอลเลสเตอร์ ได้ขอให้นักเตะเลสเตอร์ช่วยโปรโมทประเทศไทยบนหน้าอกชุดแข่งขันในฤดูกาลนี้ พร้อมติดป้ายโฆษณาดิจิทัลในสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยมตลอดฤดูกาล ทั้งยังให้การสนับ สนุนทางการแพทย์ ด้วยการมอบรถพยาบาล และบริจาคชุด PPE ให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์ด้วย

และ เสนอให้พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่ากว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาอาจใช้เวลา 1- 2 ปี จึงจำเป็นต้องตั้งกองทุนเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวขึ้น,ทำประกันภัยโควิด -19 ให้่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย,พัฒนาระบบ e-visa on arrival การตรวจคนเข้าเมือง และบริหารจัดการ slot การบิน, พัฒนาองค์ความรู้แนวใหม่ให้สอดรับกับ New Normal,พัฒนา Super Application เพื่อการท่องเที่ยวในไทยทั้งแก่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ,แก้ไขความไม่เพียงพอของมัคคุเทศก์ให้นักท่องเที่ยวบางสัญชาติ และจัดคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

เงาหุ้น : มุมมองเอเซียพลัส!!

มีมุมมองน่าสนใจจาก “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยเดือนพฤษภาคมว่า คาดว่าจีดีพี Q1/63 ของไทยที่จะประกาศในวันที่ 18 พ.ค.นี้ จะหดตัว

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 63 ยังคงมีมุมมองเดิมจะเข้าสู่ภาวะถดถอย Recession (จีดีพีหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 2 ไตรมาส) จากปัญหาโควิด–19 โดยคาดจีดีพีทั้งปี 63 จะติดลบ 1.4% อย่างไรก็ตาม รอการประกาศจีดีพี Q1/63 จากสภาพัฒน์ วันที่ 18 พ.ค.63

เบื้องต้นเอเซีย พลัส ได้ประมาณการจีดีพีไทยงวด Q1/63 ผ่านข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันอิงจาก Leading Economics Indicator ของไทย ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 จะออกมาติดลบ 7% ถือเป็น Downside ต่อประมาณการจีดีพีปี 63 ที่ปัจจุบันคาดว่าจะติดลบ 1.4% เนื่องจากเอเซีย พลัส ยังมีมุมมองว่างวด Q2/63

คาดว่าจะเป็นงวดที่ GDP จะติดลบมากที่สุด และน่าจะเป็น Bottom ของปี และคาดจะค่อยๆดีขึ้นในงวดไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ SET Index ฟื้นขึ้นเร็วราวครึ่งทาง จากจุดต่ำสุดของปีที่ลบ 39% เหลือ ลบ 19% ytd ในยามที่ไร้ Fund Flow หนุน และต่อจากนี้คงต้องกลับมาให้น้ำหนักในเรื่องผลประกอบการหลักเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศ Earning Season งวด Q1/63

เริ่มจากกลุ่ม ธ.พ. มีกำไรสุทธิในงวด Q1/63 อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาทลดลง 17% yoy เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยต่อจากนี้เป็นการประกาศใน Real Sector หลายกลุ่มโอกาสปรับตัวลงแรงเกิน 40%yoy

ขณะที่กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี ต้องเผชิญกับผลขาดทุน จากการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบ ณ สิ้นงวด Q1/63 ที่ปรับตัวลดลงจาก Q1/62 ราว 25-30 เหรียญฯ รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่า 2.5 บาท/เหรียญฯ

ส่วนกลุ่มขนส่งทางอากาศ คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกระทบหลักมาจากปริมาณความต้องการเดินทางที่ลดลง โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 อย่างหนัก สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการเส้นทางในประเทศ และเส้นทางต่างประเทศของ AOT ที่ลดลง 35.5%yoy และ 22.7% ตามลำดับ

ขณะที่สายการบินคาดว่าจะพลิกจากกําไรใน Q1/62 มาเป็นขาดทุนทุกราย
รวมถึงหุ้นกลุ่มอื่นๆที่กำไรมีโอกาสลดลงทั้ง qoq และ yoy เช่นกัน คือกลุ่มท่องเที่ยว, พลังงาน, อสังหาฯ ฯลฯ

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดยอินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เปิดจดหมายเจ้าสัวธนินท์ ตอบนายกฯ ประยุทธ์

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ทำจดหมายตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำหนังสือลงวันที่ 20 เม.ย.2563 ส่งถึงมหาเศรษฐีไทย เพื่อให้ช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมระบุส่งจดหมายหาเจ้าสัวในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ผมซาบซึ้งใจที่หลายท่านได้ลงมือช่วยเหลือประชาชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติมโดยใช้ศักยภาพของท่านมาทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

ประธานอาวุโส ซีพี ระบุในหนังสือตอบรับว่า “ผมถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติ ก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทย ทำให้วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 30 เมษายน 2563)

นอกจากนี้ทุกครั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยจากทุกภาคส่วน ออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเสมอมา เช่นเดียวกับวิกฤตในครั้งนี้ ที่จะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่ผมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป

ส่วนที่ 1 : ระยะแรก

การให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์

  • ดำเนินการสร้าง “โรงงานงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์” ใช้งบประมาณ 175ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยผลิตและส่งมอบหน้ากากอนามัยฟรี 3,000,000 ชิ้นต่อเดือน โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้จัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลทั่วประเทศ
  • บริจาคชุดป้องกัน Tyvek 400 Tychem 2000 หน้ากาก N95 แว่นตานิรภัย ถุงคลุมเท้า ชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว (Coverall) และ หน้ากากป้องกันเชื้อ (Face shield) ให้บุคลากรทางการแพทย์
  • สนับสนุน Antibody test kit จำนวน 110,000 ชิ้น มูลค่ารวม 20 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • บริจาคห้อง Conference System จำนวน 2 ชุด มูลค่า 5 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • มอบเงินสนับสนุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
  • มอบเงิน 77 ล้าน ให้กับ 77 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศภายใต้โครงการ“คนไทยไม่ทิ้งกัน” (ถึงปัจจุบันขยายเพิ่มอีก 5 โรงพยาบาล) มอบชุด PPE จำนวน 94,830 ชุด หน้ากากอนามัย KN95 จำนวน 75,480 ชิ้น แอลกอฮอล์ 3,670 ลิตร และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค (เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง Monitor หัวใจ เครื่อง Monitor สำหรับผู้ป่วย เตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ)ดำเนินการโดยซีพีออลล์
  • สนับสนุนอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ (เริ่ม 1 มีนาคม2563) และยังคงส่งมอบให้กับทุกโรงพยาบาลในโครงการอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนอาหารให้ครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 30,000 ครอบครัว (เริ่ม 9 เมษายน 2563 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง) โดยส่งอาหารถึงบ้านให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐที่มีส่วนช่วยดูแลสถานการณ์ โควิด-19ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนแท็บเล็ต และโทรศัพท์วิทยุสื่อสารจำนวนกว่า 500 เครื่อง พร้อมซิมทรูมูฟ เอช ที่ไม่จำกัดปริมาณ
  • การใช้งานแก่โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19รวม 50 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบซิมแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตไม่จำกัด พร้อมโทรฟรีทุกเครือข่าย นาน 90 วัน จำนวน 2,000 ซิม ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบข้าวสารสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โดยข้าวตราฉัตร

การให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ

  • ดูแลผู้เฝ้าระวังตนที่กลับจากต่างประเทศ ผ่านโครงการ “มอบอาหารจากใจ ต้านภัย COVID ส่งอาหารถึงบ้าน” ให้กับผู้เฝ้าระวังตนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 โดยมอบให้กว่า 20,000 ราย (จบโครงการแล้ว) ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • มอบไข่ไก่เพื่อทำอาหารปรุงสุกพร้อมทานแจกจ่ายผู้ยากไร้และว่างงานดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการลดจริง…ไม่ทิ้งกัน” โดยช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยจำหน่ายอาหารพร้อมทานในราคา 20 บาท จำนวน 1,000,000 ถาด ที่ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ร่วมด้วยช่วยค่าครองชีพ” สนับสนุนข้าวกล่องจำนวน 13 ล้านกล่อง จำหน่ายในราคา 20 บาทดำเนินการโดยซีพีออลล์

การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จากปัญหาการตกงาน หรือ ขาดรายได้

  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศนโยบายไม่ปลดพนักงานจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อรักษางาน นอกจากนี้
    ยังสร้างงานเพิ่มโดย ซีพี ออลล์ มีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 20,000 อัตรา และซีพีเอฟมีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 5,000 อัตรา เริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2563

การให้ความช่วยเหลือพนักงานกว่า 300,000 คนในประเทศไทย

  • ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความมั่นใจแก่เพื่อนพนักงานทุกคนว่า
    เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ ไม่มีนโยบายเลิกจ้างอันเนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์นี้ สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน และการดำรงชีพและปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป
  • หากพนักงานได้รับเชื้อโควิด-19เครือเจริญโภคภัณฑ์มีนโยบายดูแลพนักงานโดยรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
  • สำหรับบุคคลในครอบครัวของพนักงานได้แก่ คู่สมรสและบุตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เช่น
    ถูกเลิกจ้าง หรือ ไม่ได้รับค่าจ้างอันเนื่องจากการปิดงาน หรือปิดกิจการร้านค้าของตนเอง จนไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ไหว เครือเจริญโภคภัณฑ์จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการมอบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
  • ให้ความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนของบุตรธิดาของพนักงานที่เดือดร้อนเช่น การขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินระยะสั้นการติดต่อกับสถาบันการเงิน เป็นต้นโดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป

การให้ความต่อเนื่องกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อย และภาคการศึกษา

  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร SME นำร่องกว่า 50 ร้านค้าพันธมิตรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
    ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และสนับสนุนพื้นที่สื่อโฆษณาทุกช่องทางให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ โดยในอนาคต มีแผนจะขยายพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร
    ให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ดำเนินการโดยซีพีอินเตอร์เทรด
  • มอบ “ซิมสามัญประจำบ้าน แจกฟรีที่ 7-Eleven ทั่วประเทศ” โดยสามารถใช้แพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อเรียนทางไกลและทำงานที่บ้าน โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต โทรฟรีสายด่วนสำคัญช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาในการเข้าถึงองค์ความรู้โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อสนับสนุนการเรียนทางไกล ดำเนินการโดยกลุ่มทรู

การให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์

  • ถวายปัจจัยสมทบทุนช่วยเหลือพระสงฆ์ทั่วประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จำนวน 500 วัด ผ่านทางสำนักเลขาฯสมเด็จพระสังฆราช เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่พระสงฆ์ สามเณร ที่ไม่สามารถออกมารับอาหารบิณฑบาตและกิจนิมนต์ต่างๆ ของประชาชนได้ดำเนินการโดยซีพีออลล์

การให้ความช่วยเหลือชุมชน

  • “โครงการกองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับ CPFส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” ดำเนินการส่งมอบอาหารให้กับชาวชุมชนคลองเตยกว่า 8,499 หลังคาเรือน
  • “โครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกทม. ร่วมกับ CPFส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” (จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2563) ส่งมอบอาหารมื้อกลางวันเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับชาวชุมชนแออัดต่างๆ
    ใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 2 เดือน

“ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องรักษาความเชื่อมั่น และประคองระบบสังคม วิถีชีวิต ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจากไป และยังรักษาการจ้างงาน พี่น้องประชาชน จะยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพอาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน จะยังคงมีรายได้เพียงพอในการยังชีพมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในยามที่ฟ้ามืด ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อยามฟ้าสว่าง นั่นคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส และ ประเทศไทยกล้าตั้งเป้าหมายให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก” ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ ซีพีขอนำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการปลูกน้ำ โดยเน้นว่าประเทศไทยไม่เป็นเพียงอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทย แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำการผลิตอาหารให้แก่ชาวโลกอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รวดเร็วและรุนแรงได้บั่นทอนทรัพยากรน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างผลผลิตการเกษตร

นอกจากนี้ในแต่ละปีประเทศไทยต้องประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะไม่สามารถจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอและเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาให้จบสิ้นและเบ็ดเสร็จถาวรได้ ซ้ำร้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของหลายประเทศ ก็ถูกประเทศต้นน้ำสร้างเขื่อนขึ้นมาก กว่า 11 แห่ง และยังคงสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศปลายน้ำเช่นประเทศไทย ซึ่งมีระบบชลประทานครอบคลุมเพียง 30% ของเนื้อที่ ถูกลดทอนความมั่นคงของประเทศและความสามารถด้านการผลิตอาหารลงไปเรื่อยๆ โดยปริยาย ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว ยากจนอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ถูกบีบคั้นอย่างไม่มีทางออก จะจัดแบ่งที่ทำกินให้ลูกหลานทำต่อก็ทำให้แปลงเล็กลงและต้นทุนก้าวกระโดดขึ้นจนขาดทุนทำการเกษตรไม่ได้ ทำให้ลูกหลานเกษตรกรต้องอพยพเข้าเมืองหนีจากภาคเกษตรซึ่งขาดแรงจูงใจดูดรั้งให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นปัจจุบันที่มีอายุเฉลี่ยกว่า 58 ปีได้ ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ปัญหาทรัพยากรน้ำจึงจำเป็นต้องถูกแก้ไขเป็นการเร่งด่วนที่สุด

นอกจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยน้ำที่ได้กล่าวไปแล้ว ผลิตผลข้าวก็มีปัญหาในตัวเอง คือ ในตลาดโลกการผลิตข้าวมีปริมาณมากกว่าความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นหลายทศวรรษหลังการยุติของสงครามเย็น ทำให้ราคาข้าวตกต่ำมาโดยตลอด เฉพาะประเทศที่สามารถพัฒนาการปลูกข้าวไปสู่อุตสาหกรรมข้าวครบวงจร คือสามารถบริหารจัดการผ่านสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการตั้งแต่ต้นทางคือปลูกข้าวบนพื้นที่ๆเป็นแปลงติดกันขนาดใหญ่มาก ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีชั้นสูงแทนแรงงานคน ก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลงได้อย่างมากจนสามารถแข่งขันทำกำไรในราคาที่ตกต่ำได้

แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย ที่ยังใช้วิธีดั้งเดิมผ่านชาวนาเกษตรกรรายย่อย ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักและต่อเนื่องโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ภาครัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เช่น การประกันราคาข้าว การจำนำข้าว และการพักชำระหนี้ ซึ่งมิใช่การแก้ปัญหาจริงแต่เป็นเพียงการซื้อเวลาการแก้ปัญหาออกไป แม้การจะแก้ปัญหาโดยการกำหนดให้ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชมูลค่าสูงอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ไม้ผลและไม้ยืนต้น แต่ก็ต้องใช้เวลารอผลผลิตหลังปลูกไม่ต่ำกว่า 3 ถึง 5 ปี ระหว่างนั้นชาวนาจะมีรายได้เลี้ยงชีพอย่างไร? ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้กล่าวมานี้จะถูกแก้ไข ผ่านแผนยุทธการถ่าย“ปลูกน้ำ” ซึ่งซีพีได้ทำการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรไทยให้มากที่สุด

ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการที่ดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผล จึงถือได้ว่า โครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริม ในการบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในเอกสารฉบับนี้ เป็นมุมมองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือเจริญโภคภัณฑ์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป

กยศ.ขยายเกณฑ์คุณสมบัติผู้กู้ยืม ปรับเพิ่มค่าครองชีพ

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2563 กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปรับเกณฑ์คุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากเดิมรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี เป็นไม่เกิน 360,000 บาท/ปี เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น

รวมถึงปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษา โดยระดับ ม.ปลาย จากเดิม 1,200 บาท ปรับเพิ่มเป็น 1,800 บาท/เดือน ส่วนระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี จากเดิม 2,400 บาท ปรับเพิ่มเป็น 3,000 บาท/เดือน
.

นอกจากนี้ กยศ. ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา ที่กำลังมองหาโอกาสทางการศึกษา เพื่อต่อยอดสู่สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก โดยเฉพาะสาขาวิชาที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ 3 โครงสร้างพื้นฐาน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้กู้ยืมที่เรียนระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2566 เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี

สำหรับผู้กู้ยืมระดับปริญญาตรี จะได้ส่วนลดเงินต้น 30% ส่วนผู้กู้ยืมระดับอาชีวศึกษา จะได้ส่วนลดเงินต้น 50% เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และช่วยเพิ่มกำลังคนในสายวิชาชีพ ที่ยังขาดแคลนสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศ

นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถยื่นแบบคำขอกู้ยืมล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ e-Studentloan และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th หรือสอบถามได้ที่ LINE@กยศ. หรือ โทร. 0 2016 4888

เงาหุ้น : จัดพอร์ตรับความผันผวน

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 30 เม.ย.63 ปิดที่ 1,301.66 จุด เพิ่มขึ้น 18.98 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 79,146.25 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,159.15 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด BAM ปิด 24 บาท ลบ 0.50 บาท, PTT ปิด 35.50 บาท บวก 1.50 บาท, PTTEP ปิด 84.50 บาท บวก 6.25 บาท, CPALL ปิด 71 บาท บวก 2.25 บาท และ AOT ปิด 62.25 บาท บวก 2.25 บาท

ตลาดหุ้นไทยทะยานต่อ หลังได้แนวทางผ่อนคลายการล็อกดาวน์ โดยผ่อนผันให้มีการเปิดสถานประกอบการ 6 ประเภท ดันดัชนีหุ้นไทยขึ้นมายืนเหนือ 1,300 จุด ขณะที่มีข่าวดี

บริษัท Gilead Sciences แถลงการณ์ใช้ยา Remdesivir เบื้องต้นมีผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ถือเป็นความคืบหน้าเชิงบวก

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยืนยันจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะ และจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯให้ฟื้นตัวขึ้นโดยเร็ว ล้วนเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงให้ฟื้นตัว

บล.เอเซีย พลัส เผยกลยุทธ์ลงทุนเดือน พ.ค.63 ระบุว่า ผลกระทบ COVID-19 ส่งผ่านไปถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆอย่างชัดเจน ส่งผลให้ IMF ลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 63 พลิกกลับมาติดลบ 3%yoy ส่วนในประเทศแม้ COVID-19 ดีขึ้น แต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังอยู่

โดยผ่อนคลายข้อจํากัด เพื่อให้บางธุรกิจเริ่มกลับมาดําเนินการได้

แนวโน้ม Fund Flow เดือน พ.ค. ซึ่งปกติตลาดหุ้นมักเผชิญกับเหตุการณ์ Sell in May เสมอ ขณะที่แรงซื้อจากสถาบันเริ่มแผ่วลง

รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน SSFX อาจไม่ช่วยหนุนตลาด อย่างที่คาดหวังเนื่องจากมียอดซื้อสะสม ณ 24 เม.ย.63 ไม่ถึง 1 พันล้านบาท

ภาพรวมหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงจากกําไรบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q63 หดตัวแรง บวกกับความคาดหวังการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถูกสะท้อนไประดับหนึ่งแล้ว บวกกับ Valuation ทางพื้นฐานเริ่มตึงตัว ซึ่งกำหนดบนคาดการณ์ EPS ของตลาดปี 63 ที่ 72.62 บาท/หุ้น (ตํ่ากว่า Consensus ที่ 75 บาท/หุ้น) และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็นดัชนีเป้าหมายที่ 1,264 จุด เท่ากับว่าที่ระดับดัชนีปัจจุบันไม่เหลือ Upside ทางพื้นฐานแล้ว

กลยุทธ์ลงทุน พ.ค.นี้ จึงแนะจัดพอร์ตรับความผันผวน โดยเน้นลงทุนหุ้นที่ผันผวนตํ่า ปันผลสูงอย่าง RATCH–KBANK และ DCC หุ้นที่ผลประกอบการโดดเด่น STA–IVL–COM7

ขณะที่ให้เลี่ยงหุ้น Over Value อย่าง ERW–DELTA!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดยอินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

สุดยอดเชฟไทย รวมพลังปรุงอาหารเมนูเลิศ ส่งมอบให้บุคคลากรทางการแพทย์ สู้ภัยโควิด-19

โครงการ Chef Cares เป็นการรวมตัวของสุดยอดเชฟฝีมือระดับแนวหน้าของเมืองไทยกว่า 25 ท่าน จากร้านอาหารชื่อดังในกรุงเทพฯ และ ภูเก็ต ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ส่งมอบอาหารบุคลากรทางการแพทย์ สู้ภัยโควิด-19

นางมาริษา เจียรวนนท์  ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง โครงการ Chef Cares เปิดเผยว่า เชฟจิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ Chef Cares ปรุงเมนูรสเลิศให้บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร, เชฟทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟ, เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย, เชฟศุภจิตรา ศุกรวรรณ ทินกร จากโรงเรียนศิลปศาสตร์อาหารไทย หม่อมหลวงพวง ทินกร, กุลวัชร ภูริชยวโรดม แห่งร้านโชนัน, ทศพร วิณิชวรพงศ์ แห่งร้าน WOK Station, เชฟธนินทร จันทรวรรณ, เชฟวิชิต มุกุระ, เชฟสุภิญญา จันสุตะ (เจ้ไฝ) และ เชฟแดน บาร์ค  เป็นต้น   

“อาหารเป็นภาษารักที่แสดงออกด้วยความห่วงใย เอื้อเฟื้อ ผ่านการจัดปรุงด้วยความใส่ใจและละเมียดละไมของเชฟสุดยอดฝีมือ ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดื่มด่ำความอร่อยสุดล้ำ ช่วยเพิ่มพลังกายและพลังใจต่อสู้กับสงครามเชื้อโรคได้”

เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการในจังหวัดภูเก็ต บอกว่า ทีมเชฟจิตอาสาจะรังสรรค์เมนูอร่อยๆ ให้กับทีมแพทย์ พยาบาลที่เป็นทัพหน้าในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้อิ่มอร่อย พร้อมกับคุณค่าโภชนาการ และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ    เชฟจิตอาสากว่า 25 คนที่ร่วมโครงการฯ จะสลับหมุนเวียนมาจัดเตรียมอาหารในทุกเช้า เพื่อปรุงอาหารมื้อกลางวันอย่างพิถีพิถันจำนวน 300 ชุด และจัดส่งให้แก่โรงพยาบาลรัฐกว่า 9 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ฯลฯ โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ, เจียไต๋ฟาร์ม, ข้าวตราฉัตร, ไร่ชาอรักษ์ และโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์

ตระกูลเศรษฐี มหากิจศิริ ตอบจดหมาย นายกฯประยุทธ์

รายงานข่าว เปิดเผยว่า นายประยุทธ มหากิจศิริ ประธานกลุ่มบริษัทพีเอมส์ กรุ๊ปส์ เจ้าของบริษัทไทยน็อคซ์ สเตนเลส และไทยคอปเปอร์ ได้ทำหนังสือตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลงวันที่ 29 เม.ย.2563 ถึงเรื่องการให้ความร่วมมือระดับชาติ เพื่อเอาชนะโควิด-19 ไปด้วยกันทั้งประเทศ ตามรายละเอียดดังนี้

ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือที่อ้างถึงมาถึงผมนั้น ผมใคร่ขอขอบคุณ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ให้ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ผมต้องขอชื่นชมท่านนายกรัฐมนตรี ที่พยายามแก้ไขและบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ จนเป็นที่ชื่นชมจากอารยะประเทศมากมาย รวมถึงขอชื่นชมทีมบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้โควิ-19

ผมขอชื่นชมมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ช่วยเหลือโควิด-19 ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถครอบคลุมประชาชนทุกคนได้ครบทุกภาคส่วนที่ต้องการ

ผมขอนำเสนอความเห็นต่อท่านนายกรัฐมนตรี โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้

ส่วนที่ 1 สิ่งที่ผมได้ทำประโยชน์ให้สังคมในช่วงวิกฤตนี้

ผมได้บริจาคให้ สภากาชาดไทยและสถานศึกษา บริจาคทุนสร้างหอปฏิบัติธรรม บริจาคให้โรงพยาบาลเพื่อสนับสนุนสุขภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันโควิด-19 สนับสนุนเกษตรกรไทยในด้านพัฒนาและการศึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพและผลผลิตทางเกษตรที่ดีขึ้น รวมการสนับสนุนพัฒนาสังคมในช่วงนี้เป็นเงินประมาณ 150,000,000.00 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาท)

พร้อมช่วยเหลือพี่น้องคนไทย 

ส่วนที่ 2 สิ่งที่ผมพร้อมจะทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือที่น้องคนไทย แบ่งเป็นโครงการต่างๆดังนี้ 

โครงการที่ 1 โครงการรับซื้อผลผลิตทางเกษตรจากเกษตรลำพูน โดยการดำเนินการ ดังนี้

1.1 การรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรลำพูนโดยตรง ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรลำพูนให้มีรายได้ที่มั่นคงขึ้นได้ประมาณ 1,000 ครัวเรือนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน

1.2 การรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากวิสาหกิจชุมชนลำพูนหรือเกษตรกรแปลงใหญ่ จะช่วยเหลือเกษตรกรได้ประมาณ 5,000 ครัวเรือนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน

การรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางสามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

โครงการที่ 2 จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพผลผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานที่ร่วมพัฒาผลิตภัณฑ์ P-80และควบคุมผลผลิตในองค์กรของผม เข้าไปทำงานวิจัยร่วมกับเกษตรกรในท้องที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพ และจำนวนของผลผลิตให้ได้มากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม ทั้งในด้านการเพาะปลูกพืชผลอื่นๆ นอกฤดูกาลเพาะปลูก ตลอดจนการหาตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับผลผลิตที่คิดค้นขึ้น โดยเฉพาะการปลูกเกษตรปลอดสาร โดยทำโครงการนำร่องในวิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดลำพูน จำนวน 1,000 ครัวเรือน

เปิดพื้นที่ในคนเดือดร้อนขายของฟรี

โครงการที่ 3 เปิดพื้นที่ด้านหน้าถนนมิตรภาพ ทางเข้าเมาน์เทน ครีก กอล์ฟรีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อน นำสินค้า ไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ งานฝีมือ โอทอป หรือสินค้าต่างๆ มาวางจำหน่ายโดยไม่คิดว่าค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาโควิด-19 เพราะสถานที่แห่งนี้อยู่บนถนนสายหลักสู่ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ และตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 200 กิโลเมตร จึงเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยว และนักเดินทางผ่านจำนวนมาก ดังนั้น การนำสินค้ามาขายที่ด้านหน้าถนนมิตรภาพทางเข้าเมาน์เทน ครีก กอล์ฟรีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ จะทำให้ประชาชนสามารถหารายได้ไว้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เป็นอย่างดี ในส่วนนี้มีพื้นที่พร้อมจัดไว้เพื่อเป็นตลาดประมาณ 50 ไร่ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 8 เดือน

ทั้งนี้ การจัดการพื้นที่จะเป็นไปตามหลักมาตรฐาน (physical distancing) ระหว่างช่วงเวลาโควิด-19 อีกด้วย

โครงการที่ 4 การใช้งานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผมมีแพลตฟอร์มการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ภายใต้ www.411estore.com โดยผมยินดีเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยที่มีผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ งานฝีมือ งานโอทอป หรือสินค้าต่างๆ สามารถใช้พื้นที่ของ www.411estore.com และใน 411 Application สามารถโพสต์ขายาของได้โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถหารายได้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 และช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบมีอีกช่องทางหนึ่งในการซื้อขายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ผมมีทีมงานที่มีประสบการณ์ในการแนะนำผู้ประกอบการในการใช้งานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

.มอบผลิตภัณฑ์ P80 สู้ภัยโควิด-19

โครงการที่ 5 โครงการ P80 สู้ภัยโควิด-19 ผมขอมอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพรจากลำใยสกัดเข้มข้นเพื่อสุขภาพP-80 ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณในการช่วยฟื้นฟูร่างกาย ตลอดจนเป็นแหล่งวิตามินซีสูง เปี่ยมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและต่อต้านไวรัส ช่วยแก้อ่อนเพลียและช่วยให้ผ่อนคลาย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่พักรักาาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ด้วยหวังว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้บุคคลที่ต้องทำงานอย่างหนักในแนวหน้ามีสุขภาพที่ดี และมีความพร้อมในฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

สุดท้ายนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมขอแบ่งปันความลับของ P80 Natural Essence นี้กับท่านนายกรัฐมนตรีว่าP80 เป็นนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังได้รับการรับรองจากสถาบันนานาชาติ และสถาบันรับรองด้นยาและเภสัชโภชนาระดับโลก ADSI (Austrian Drug Screening Institute) ว่า P80ประกอบด้วย 5 bioactiv compounds มีวิตามินซีสูง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและต่อต้านไวรัส

“ผมได้ทดลองรับประทาน P80 นี้เป็นการส่วนตัวเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ทำให้สุขภาพผมแข็งแรงแม้วัย 76ปี ผมยังสามารถเป็นแชมป์กอล์ฟและเทนนิสที่ราชกรีฑาสโมสรได้”

ผมขอแนะนำให้ท่าน นรม.และภริยา รับประทานเครื่องดื่มธรรมชาติ P80 นี้ทุกวัน จะทำให้ท่าน นรม. นอนหลับดีขึ้น และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงขึ้น เพื่อบริหารพัฒนาเศรษฐกิจของชาติไทย เราให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป