Home Blog Page 41

ซีพีเอฟ x หมาจ๋า มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สถาบันบำราศนราดูร

นางสาวอนรรฆวี ชูรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ ณัฐวีร์ ลิมปนิลชาติ เจ้าของภาพวาดสติ๊กเกอร์“หมาจ๋า” ร่วมกันมอบอุปกรณ์การแพทย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัย ครั้งที่ 1 รวมมูลค่า 237,720 บาท ให้แก่ สถาบันบำราศนราดูรซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้จากการชวนคนไทยใจบุญ โหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ “CP x หมาจ๋า สู้โควิด19”  โดยมี จ.อ.รังสรรค์ ถามูลแสน หัวหน้ากลุ่มอำนวยการ เป็นผู้รับมอบ ณ สถาบันบำราศนราดูร

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ และศิลปินนักวาดภาพสิต๊กเกอร์ไลน์ ที่ได้เชิญชวนประชาชนโหลดสติ๊กเกอร์ “CP x หมาจ๋า สู้โควิด-19” ในราคาเพียง 30.- บาท ระหว่างวันที่ 5 เมษายน – 31พฤษภาคม 2563 โดยนำรายได้ทุกๆ 30.- บาทนั้นไปสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง สามารถรวบรวมเงินได้เป็นมูลค่าถึง 237,720 บาท

“วันนี้เราได้นำเงินจากน้ำใจของทุกท่านที่โหลดสติ๊กเกอร์“ CP x หมาจ๋า สู้โควิด-19” ครั้งที่ 1  มามอบให้คุณหมอตามความตั้งใจ นับเป็นอีกความภูมิใจของซีพีเอฟที่ได้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง จึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านร่วมทำบุญสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเวลาให้ทุกท่านช่วยกันโหลดไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้” นางสาวอนรรฆวีกล่าว

วิธีจัดการกับ PVD เมื่อต้องเผชิญกับ “วิกฤตโควิด”

บทความโดย นางศิษฏศรี นาคะศิริ
ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ในช่วง “วิกฤตโควิด” เพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หลายท่าน อาจมีเหตุจำเป็นให้ต้องออกจากงานหรือลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดี มีทางเลือกอะไรบ้างที่ทำให้เป้าหมายการออมเพื่อวัยเกษียณไม่สะดุด และที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นภาษีต่อเมื่อท่านเป็นสมาชิกกองทุนอย่างน้อย 5 ปี และมีอายุ 55 ปี ขึ้นไปเท่านั้น

O ออกจากงาน… รอโอนย้ายไป PVD ของนายจ้างใหม่

ในกรณีที่ออกจากงาน ท่านไม่จำเป็นต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้ เพราะสามารถ “คงเงิน” ไว้ที่กองทุนเดิมได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยเงินที่คงไว้จะได้รับเงินผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเดิมนับจากที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน เมื่อได้งานใหม่ จึงค่อยมาโอนย้ายเงินที่คงไว้ในกองทุนเดิมไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ก็ได้ หรือหากนายจ้างใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเปลี่ยนใจไปทำอาชีพอิสระไม่มีนายจ้างก็สามารถโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) for PVD ในภายหลังก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะโอนไปกองทุนใหม่ หรือโอนไป RMF ก็ไม่ต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ

O ออกจากงาน… โอนเงินไป RMF for PVD

ในกรณีที่ออกจากงานแล้วไม่ต้องการคงเงินไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม หรือนายจ้างยกเลิกกองทุนไปแล้ว ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ โอนย้ายเงินจาก PVD ไปยัง RMF เพราะนอกจากจะทำให้ไม่เสียภาษีแล้ว ยังช่วยให้เงิน ลงทุนที่มีอยู่ได้ทำงานต่อเนื่อง ตามแผนการออมระยะยาวที่วางไว้

หากเลือกเดินหน้าในเส้นทางนี้แล้วจะไม่สามารถถอยหลังกลับมาได้ เพราะเงินลงทุนที่โอนจาก PVD ไป RMF แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะท่านสามารถย้ายกองทุนหรือเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเป็นการสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันเท่านั้น

นอกจากนี้ กองทุน RMF ที่สามารถรับโอนเงินจาก PVD ได้จะต้องเป็น RMF ที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เท่านั้น (RMF for PVD) ซึ่งต่างจากกองทุน RMF ปกติ เพราะ RMF ปกติ ต้องซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ขณะที่ RMF for PVD ไม่ต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม เพราะมีหลักการเสมือนการ “คงเงิน” ไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม
เงื่อนไขการถอนเงินจาก RMF for PVD ก็จะเหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม นั่นคือ หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี โดยจะนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไป และต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป

O กลับมาใหม่… เมื่อวิกฤตผ่านไป

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้ต้องออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านกลับมาเป็นสมาชิกกองทุนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เพราะการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือทางการเงินสำคัญ และมีความได้เปรียบกว่าการออมการลงทุนรูปแบบอื่นหลายประการ

นอกจากจะช่วยประหยัดภาษีแล้ว ท่านยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) การบริหารจัดการลงทุนโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพและมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนดีที่ในระยะยาว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นทางเลือกในการออมสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถบรรลุเป้าหมายมีเงินใช้ในวัยเกษียณได้ง่ายขึ้น

COVID-19 กับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โดย นางศิษฏศรี นาคะศิริ
ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ช่วงนี้ได้ยินเพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หลายท่านกังวลกับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความผันผวนและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับลดลงค่อนข้างมากทำให้ผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดลงไปด้วย

ตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับ “วิกฤตโควิด” จากสิ้นเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนเมษายน SET Index ปรับลดลงถึง 212.48 จุด หรือ -14% โดยเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 173.62 จุด หรือ -11% และในเดือนมีนาคม ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดหนักที่สุด SET Index ก็ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงถึง 214.66 จุด หรือ -16% และได้เริ่มปรับตัวขึ้นในเมษายนที่ผ่านมา โดยปรับขึ้นไปกว่า 175.8 จุด หรือ +16% ไปอยู่ที่ 1301.66 จุด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการเชิงรุกของภาครัฐด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดและผู้ลงทุน

เมื่อเห็นการขึ้นลงของตลาดหุ้นเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาที่หลาย ๆ ท่านจะมีความกังวล แต่เมื่อผู้เขียนได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่มเติมทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แม้มีกองทุนบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดบ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อย โดยข้อมูล ณ มีนาคม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value) ที่ขาดทุน 10% ขึ้นไป และน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ที่คลี่คลายลงในเดือนเมษายน เนื่องจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่อยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยประมาณ 82% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล และ 30% ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน โดยเกือบทั้งหมดเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) ขณะที่ลงทุนในตราสารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ และตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (non-investment grade และ unrated) เพียง 50 ล้านบาท หรือ น้อยกว่า 0.005% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท การลงทุนในหุ้นมีเพียง 22% จึงได้รับผลกระทบน้อยในช่วงตลาดหุ้นมีความผันผวน

แม้การลงทุนในหุ้นอาจได้รับผลกระทบจากราคาตลาดได้มากกว่า แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าเช่นกันหากเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี สำหรับสมาชิกที่อายุยังน้อย มีเวลาอีกมากในการทำงานก่อนเกษียณ หรือสมาชิกที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากหากมีการขาดทุนในระยะสั้น การมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้ท่านสามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการมีเงินออมเพียงพอรองรับการเกษียณ ซึ่งวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้พวกเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งต้องมีเงินออมมากขึ้นเพื่อเพียงพอมีใช้ภายหลังเกษียณ สมาชิกจึงควรมีสัดส่วนการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงให้เหมาะสมกับเป้าหมายและระยะเวลาการลงทุนของตนเองหากท่านเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการออมเพื่อรองรับการเกษียณ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความได้เปรียบมากกว่าการออมประเภทอื่น ๆ ในหลายประการ ทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเสมือนได้รับโบนัสเพิ่มในแต่ละเดือน มีผู้จัดการมืออาชีพมาช่วยบริหารเงิน มีคณะกรรมการกองทุนมาช่วยคัดเลือกและติดตามดูแลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนให้อีกชั้นหนึ่ง ยังพบว่ามีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ท่านได้ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราสามารถบรรลุเป้าหมายมีเงินเอาไว้ใช้ยามเกษียณได้ง่ายขึ้น

สำหรับสมาชิกกองทุนที่จะเกษียณในปีนี้ (จากสถิติที่ผ่านมาในแต่ละปีจะมีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณประมาณ 2-3 หมื่นคน) ท่านสามารถคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อได้เพื่อให้การลงทุนมีความต่อเนื่องโดยไม่มีภาระต้องส่งเงินเพิ่มแต่อย่างใด ไม่ควรเอาเงินออกมาทั้งหมดในคราวเดียว แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินบางส่วน ควรขอรับเงินเป็นงวดออกมาใช้เท่าที่จำเป็น เช่น นำเงินออก 50,000 บาท ทุก ๆ 3 เดือน เพื่อให้การออมมีความต่อเนื่องและมีผลตอบแทนงอกเงยไว้ใช้อย่างเพียงพอภายหลังเกษียณ เนื่องจากการขอรับเงินเป็นงวด ท่านจะยังคงสถานะสมาชิกกองทุนอยู่เช่นเดิม และบริษัทจัดการจะบริหารเงินของท่านต่อไป โดยไม่ต้องส่งเงินเพิ่มเช่นกัน

ทั้งนี้ สามารถติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อขอรับเงินเป็นงวด หรือทยอยเอาเงินออกจากกองทุน โดยระยะเวลาการคงเงิน และการขอรับเงินเป็นงวดจะขึ้นกับข้อบังคับกองทุน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละกองทุน ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ในข้อบังคับกองทุนของท่านเพิ่มเติม

เงาหุ้น : โฟกัสหุ้นทีวีดิจิทัล

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 8 พ.ค.63 ปิดที่ 1,266.02 จุด เพิ่มขึ้น 8.04 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 44,086.49 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,284.23 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด CPALL ปิด 72 บาท บวก 2 บาท, PTT ปิด 35.25 บาท บวก 1 บาท, ADVANC ปิด 193.50 บาท ลบ 4 บาท, BAM ปิด 22.20 บาท บวก 0.10 บาท และ AOT ปิด 59.75 บาท บวก 0.25 บาท

หุ้นไทยรีบาวน์ขึ้นตามตลาดต่างประเทศ หลังปรับตัวลงแรงกว่า 40 จุด!!

บล.เคทีบี ออกบทวิเคราะห์หุ้นทีวีดิจิทัลระบุว่า ปี 63 จะได้รับผลกระทบมาก จาก COVID-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอ โดยคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม Media (Digital TV) ที่ “น้อยกว่าตลาด” และปรับคำแนะนำเป็น “ขาย” จากเดิม “ถือ” จากเหตุผล 3 ปัจจัยหลัก คือ

1.ผลประกอบการกลุ่มปี 63 ต่ำสุดในรอบ 8 ปี จากผลกระทบของ COVID-19 2.การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงของกลุ่มทีวีดิจิทัล ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขึ้นราคาค่าโฆษณาได้ แม้เรตติ้งจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

และ 3.เศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาก โดย ธปท.ประเมิน GDP growth ปีนี้ติดลบ 5.3% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณารวมลดลง 5.8% YoY เนื่องจากผู้ประกอบการลดงบโฆษณา โดยเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ทั้งนี้ ประเมินผลประกอบการ Q1/63 หุ้น BEC คาดขาดทุนปกติที่ -254 ล้านบาท (จาก Q1/62 ที่ขาดทุน 128 ล้านบาท, Q4/62 ขาดทุน 113 ล้านบาท) และหุ้น WORK คาดขาดทุนสุทธิที่ 10 ล้านบาท (พลิกจากกำไรสุทธิใน Q1/62 ที่ 75 ล้านบาท และฟื้นตัว QoQ จากขาดทุนสุทธิใน Q4/62 ที่ 31 ล้านบาท)

และเชื่อว่า COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเนื่องใน Q2/63 เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการได้ลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาลง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดทำให้ event ต่างๆได้ถูกเลื่อนออกไป คาดผลประกอบการจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ Q3/63 เป็นต้นไป หลัง COVID-19 คลี่คลาย

ทั้งนี้ ปรับคำแนะนำหุ้น BEC ลงเป็น “ขาย” และ Rollover ราคาเป้าหมายปี 2564E ที่ 3.84 บาท อิง PBV 1.37 เท่า จากเดิมแนะ “ถือ” ส่วนหุ้น WORK ปรับคำแนะนำลงเป็น “ขาย” และ Rollover ราคา เป้าหมายเป็นปี 64 ที่ 8.10 บาท อิง PBV 0.72 เท่า จากเดิมแนะ “ถือ”

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ออมสินให้ชะลอจ่ายหนี้บัตรเครดิตกับบัตรเงินสด

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการให้ชะลอการชำระหนี้บัตรเครดิตและบัตรเงินสด เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19

โดยการชะลอการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรเงินสดที่มีประวัติดีไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน และไม่ใช่ลูกค้าโครงการ GSB Refinance ลูกหนี้ดี โดยชะลอการชำระหนี้สูงสุด 3 รอบบัญชีอัตโนมัติ วันสรุปยอดบัญชีตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563

มาตรการชะลอการชำระหนี้ สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรเงินสด ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

▪ สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรเงินสดธนาคารออมสินที่มีสถานะบัญชีไม่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน

▪ ชะลอการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรเงินสด ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 ดังนี้
▪ ในระหว่างที่ลูกค้าเข้าร่วมมาตรการชะลอการชำระหนี้ภาระสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรเงินสด ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ธนาคารยังคงคิดอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากการใช้จ่ายของลูกค้าตามปกติ
▪ กรณีที่ลูกค้าเลือกผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการ (Sabaijai On Call) สามารถเข้าร่วมมาตรการได้แต่เมื่อสิ้นสุดมาตรการลูกค้าจะต้องจ่ายยอดผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการย้อนหลังตามจำนวนรอบบัญชีที่ลูกค้าชะลอการชำระหนี้
▪ ชะลอการชำระค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถาม ค่าจัดการ และค่าบริการอื่นๆ สำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรเงินสด ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563
▪ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลามาตรการชะลอเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบัตรเงินสดต้องชำระเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายที่การติดตามทวงถาม ค่าจัดการและค่าบริการอื่นๆ ตามปกติ
▪ ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อบัตรเงินสด GSB Refinance ไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระดังกล่าวได้
▪ เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
▪ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 2299 8888

บีทีเอสกรุ๊ปฯ ปลื้ม ได้รางวัล Best Green Bond 2019

รายงานข่าว เปิดเผยว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้รับรางวัล Best Green Bond ประจำปี 2019 ในประเภท Best Deal หมวดธุรกิจขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน ในงาน The Asset Triple A Sustainable Capital Markets Regional Awards 2019 โดยหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ดังกล่าว เป็น Green Bond ชนิดไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่ารวมไม่เกิน 13,000 ล้านบาท

อีกทั้งยังเป็น Green Bond ชุดแรกของประเทศไทยที่เสนอขายภายใต้เกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอย่างดี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อันเป็นโครงการสำคัญที่จะส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้รถยนต์ และจะช่วยลดการปล่อยมลภาวะในเขตกรุงเทพมหานครได้อย่างมาก

ซีพีเอฟ มอบคูปองส่วนลด 1 ล้านใบ เป็นกำลังใจให้อสม.ทั่วประเทศ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อสม. 1.4 ล้านคน ถือเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยที่ช่วยเหลือสังคมอย่างเข้มแข็งมาตลอด และเป็นกลุ่มที่มีต้นทุนเครือข่ายมหาศาล คุณค่าของ อสม. คือการได้ทำงานมากกว่าต้องการผลตอบแทน

“วันนี้ กระทรวงฯ สร้างคุณค่าเพิ่มของจิตอาสาให้เป็นหน้าด่านของประเทศไทยในการเป็นผู้คัดกรองโรคไม่เฉพาะโรคโควิด 19 และยังดูแลสุขภาพคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง” นายสาธิต กล่าว

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าเพิ่มว่า อสม. เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่เสียสละไปดูแลคนไทยทุกบ้านและให้คำแนะนำอย่างถูกวิธีกรณีผู้กักตัวเอง ทำให้การควบคุมโรคในต่างจังหวัดทำได้ดี

นายจำรัส คำรอด ประธานชมรม อสม. แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อสม. ทำงานมากกว่า 40 ปี ไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดๆ ทำด้วยใจจริง และต้องขอบคุณโรคโควิด 19 ที่ทำให้คนรู้จัก อสม. มากขึ้น สมาชิก อสม. ต้องการทำงานไม่ต้องการเงิน เป็นการทำงานด้วยใจ และสิ่งที่จะทำคือ ทำให้คนไทยปลอดจากโควิด 19

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขเป็นโครงการที่ 4 ในการร่วมดูแล อสม. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่เป็นด่านหน้า ค้นหาและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อนำเข้าระบบการรักษาได้รวดเร็ว ตลอดจนให้ความรู้และย้ำความสำคัญของมาตรการเว้นระยะห่าง

บริษัท จึงขอมอบคูปอง “คูปองส่วนลดจากใจให้ อสม. #ฮีโร่ที่ลืมไม่ได้” จำนวน 1 ล้านใบ เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออาหารที่ร้านซีพี เฟรชมาร์ท เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่และช่วยค่าครองชีพของอาสาสมัคร

การส่งคูปองจะทำผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ และนำไปแจกจ่ายให้กับ อสม. ในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและนำไปใช้สิทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว โดย อสม. สามารถนำคูปองที่ได้รับ พร้อมบัตรประชาชนและบัตรประจำตัว อสม. ไปลงทะเบียนเพื่อสมัครเป็นสมาชิก ซีพี เซอร์ไพรส์ (CP Surprise) ในการรับสิทธิ์ได้ที่ร้านซีพีเฟรชมาร์ททั่วประเทศและสามารถใช้คูปองได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1788

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ต่ำสุดในรอบ 22 ปี

รอปลดล็อคดาวน์อีกรอบ 17 พ.ค. ช่วยเติมเม็ดเงินหมุนเวียนได้ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดทรุดตัว หรือฟื้นจากจุดต่ำสุด

คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นจนเห็นได้ชัดประมาณไตรมาส 2 ปี 2564

ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษยน 2563 เปิดเผยโดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

พบว่าปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยส่วนใหญ่ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 เป็นเวลา 21 ปี 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักทั่วโลก ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ชะลอตัวอย่างมาก ตลอดจนตวามกังวลของผู้บริโภคถึงภาวะว่างงานสูง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยติดลบ 3 ไตรมาสติดต่อกัน และจะเริ่มเป็นบวกไตรมาส 4 ประมาณบวก 1-2% จากการรีสตาร์ทของภาคธุรกิจและ มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ 400,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มเห็นเม็ดเงินในระบบชัดเจนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม และจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 63 ติดลบน้อยลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะติดลบ 8.8% เป็นติดลบ 3.5-5.5%

ในสภาพปกติ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบประมาณ 600,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่เมื่อล็อกดาวน์ เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบหายไปประมาณ 50% และ การปลดล็อกภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดทรุดตัว หรือฟื้นจากจุดต่ำสุด โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นจนเห็นได้ชัดประมาณไตรมาส 2 ปี 2564

คลังออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” 14 พ.ค.นี้

รายงานข่าว เปิดเผยว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ร่วมแถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แบบไร้ใบตราสาร (Scripless) โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบ และแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

พันธบัตรออมทรัพย์เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายของรัฐบาลซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อย และเป็นการเยียวยาให้กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เวลา 8.30 น. วงเงินไม่เกิน50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได รุ่นอายุ 5 ปี เฉลี่ยร้อยละ 2.40 และรุ่นอายุ 10 ปี เฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี

ดบ.ผิดนัดแบบใหม่เริ่ม 1 พ.ค. เป็นธรรมขึ้น และลดหนี้เสีย

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่คิดบนฐานของเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระจริง สถาบันการเงินเริ่มใช้ไปแล้ว (เดิมคิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด)

การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยให้แนวปฏิบัติในเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้น และช่วยลดภาระของประชาชน รวมทั้งลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ซึ่งแนวทางใหม่นี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่ต่างประเทศใช้กัน ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับสิทธิจากการปรับปรุงในครั้งนี้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปขอแก้ไขสัญญา ไม่รวมงวดชำระในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

นางธัญญนิตย์ ชี้แจงว่า เดิมนั้นการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของ “เงินต้นคงค้างทั้งหมด” สมมติว่าเรากู้ซื้อบ้าน 20 ปี 240 งวด ช่วง 2 ปีแรกผ่อนชำระดีมาโดยตลอด งวดที่ 25 มีปัญหาผ่อนชำระไม่ได้ สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด หรือเงินต้นในค่างวดที่ 25 ถึงงวดที่ 240

ในขณะที่การคำนวณที่ปรับปรุงใหม่จะให้คิดบนฐานของ “เงินต้นในค่างวดที่มีการผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในค่างวดตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พูดง่ายๆ คือ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะคิดบนฐานของเงินต้นในงวดที่ 25 เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26-งวดที่ 240

หลักคิดสำคัญในเรื่องนี้ คือ การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต้องคำนึงถึงความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ (credit risk) และความสามารถในการจ่ายของลูกหนี้ไปด้วยกัน ถ้าสูงเกินไปอาจเป็นต้นตอที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ (affordability risk) ลดผลกระทบการจ่ายล่าช้าช่วงโควิดและช่วยสถาบันการเงินให้มั่นคงขึ้นในระยะยาว

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า “สถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้รายได้ของประชาชนจำนวนมากลดลง จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะจ่ายค่างวดล่าช้าหรือไม่สามารถจ่ายได้ในช่วงนี้ ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะช่วยให้คนไทยมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้โดยรวมลดลง”