Home Blog Page 27

เงาหุ้น : หุ้น Window Dressing

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 24 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,333.43 จุด ลดลง 23.00 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 60,885.82 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,589.37 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด KCE ปิด 21 บาท บวก 1.30 บาท, KBANK ปิด 90.25 บาท บวก 1.25 บาท, MINT ปิด 20.90 บาท บวก 0.30 บาท, SCB ปิด 72.75 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง และ BBL ปิด 107.50 บาท บวก 1.50 บาท

หุ้นไทยปรับตัวลง หลัง กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้จะติดลบ 8.1% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบเพียง 5.3% ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันตลาด ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงกดตลาดในภาพรวม

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า แม้ปัจจุบันหุ้นไทยจะซื้อขายบน P/E ที่สูงกว่าในอดีตมาก และยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยรอบด้าน

ทำให้เกิดความผันผวน แต่ช่วงที่เหลือก่อนสิ้นไตรมาส 2 มักเกิดการทำ Window Dressing ของนักลงทุนสถาบันฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในความหวัง ที่จะช่วยพยุงและลดความผันผวนของตลาดในช่วงที่เหลือของเดือน มิ.ย.

โดยเอเซียพลัสประเมินว่า โอกาสเกิด Window Dressing ในรอบนี้อยู่ที่ 3 ปัจจัย คือ 1.เดือน มิ.ย.มักเป็นเดือนที่สถาบันซื้อสุทธิหุ้นไทยสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของปี ซื้อสุทธิเฉลี่ย 8.9 พันล้านบาท แต่หากนับตั้งแต่ต้น มิ.ย.63 ถึงปัจจุบัน พบว่า สถาบันฯยังขายสุทธิหุ้นไทย 1.82 พันล้านบาท สวนทางกับสถิติในอดีตอยู่ ทำให้เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่แรงซื้อของสถาบันฯจะกลับเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้ายของเดือน

2.กองทุน SSFX ที่ใกล้จะครบกำหนดเวลา ในการซื้อเพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีสิ้นเดือนนี้ ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่น ตรงที่อาจมีแรงซื้อจากกองทุน SSFX ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นเดือนเข้ามาช่วยหนุนตลาดอีกแรง ที่ผ่านมา มีแรงซื้อกองทุน SSFXจากนักลงทุนเพียง 3.6 พันล้านบาทเท่านั้น

3.หุ้นใหญ่มีโอกาสได้รับความสนใจมากขึ้น

ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เป็นไปได้สูงที่จะเกิดการทำ Window Dressing กับหุ้นใหญ่ที่กองทุนนิยมสะสม ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงค้นหาเป้าหมายหุ้นถูกทำ Window Dressing จากหุ้นใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่งที่มัก Outperform ตลาดได้ดีในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้น มิ.ย. ย้อนหลัง 10 ปี

พบว่า มีหุ้นใหญ่น่าสนใจลงทุนที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าตลาด 8 บริษัท คือ BJC, GPSC, ADVANC, BDMS, INTUCH, CPF, RATCH และ CPALL!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

พันธบัตรรุ่นวอลเล็ต สบม. ขายหมดเกลี้ยงใน 99 วินาที

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงข่าวความสำเร็จการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. (วอลเล็ตสะสมบอนด์มั่งคั่ง) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.70 ต่อปี ซึ่งเป็นการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นครั้งแรกที่ทำสถิติการจำหน่ายหมดรวดเร็วที่สุดภายใน 99 วินาที และมีจำนวนผู้ลงทุนที่เข้าใช้แพลตฟอร์มถึง 1,374 คน (วงเงินลงทุนเฉลี่ย 145,560 บาทต่อคน) มีผู้ลงทุนกระจายตัวในเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ แสดงถึงความสนใจในการลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์และการใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างการโอนเงินผ่านวอลเล็ต สบม. ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ลงทุนในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นการทำธุรกรรมที่ง่ายและมีความปลอดภัยได้ด้วยตนเองในส่วนของผู้ลงทุนมีการกระจายตัวทุกช่วงอายุโดยมีสัดส่วนของผู้ลงทุนที่อายุ 15-24 ปีเกือบร้อยละ 10 แสดงถึงความสนใจในการเริ่มออมเงินของเยาวชน

แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. ของกระทรวงการคลังในครั้งนี้เป็นการประยุกต์ใช้ Blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการออกพันธบัตร และช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาคเข้าถึงการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน และเป็นหนึ่งในโครงการ MOF GO Digital ที่จะนำกระทรวงการคลังไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบและสนับสนุนระบบการเงินในโลกแห่งอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ได้ทันที (Real-time) รวมทั้งการดาวน์โหลดเอกสารต่างๆ ได้ ผ่านวอลเล็ต สบม. ซึ่งจะสามารถรองรับการซื้อพันธบัตรในอนาคต และรองรับการซื้อขายพันธบัตรรุ่นอื่นๆ ตลอดจนรองรับการซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ระหว่างผู้ลงทุนในตลาดรองเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านตลาดเงินตลาดทุนของประเทศ

มติกนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5 % ต่อปี

​นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้และรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความไม่แน่นอนสูงต่อโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีซึ่งรวมถึงไทยด้วย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

นอกจากนี้ กนง. กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้า ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบ ระยะที่ 2 และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ธุรกิจ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า

กนง. จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

รบ.อัดฉีด 3 แสนล้าน ผ่านธ.ก.ส. ฟื้นฟูเกษตรกรหลังโควิด-19 สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่ง

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สถานประกอบการหยุดกิจการ คนตกงานและต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ส่งผลกระทบต่อรายได้และภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยรวม เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด เข้ามาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ธ.ก.ส. จึงได้ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท ภายใต้โครงการสำคัญ ๆ ดังนี้

1. โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 “พึ่งตนเอง” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนวน 10,720 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 300,000 ราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว (459 มีกินมีใช้) การสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีการเกษตรแบบใหม่ จำนวน 200,000 ราย มาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ สู่เกษตรกรและคนในชนบท จำนวน 1,200 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ ผ่านระบบ E-learning พร้อมทั้งการศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพวงเงิน 10,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท

2. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 “พึ่งพากันและกัน” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 16,000 แห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ระบบน้ำ โรงเรือน เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุน และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยวงเงิน 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SMEเกษตรวงเงิน 40,000 ล้านบาท

3.โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก (ตั้งมั่น) ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 3 “เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย” โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 21,675 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ จำนวน 7,255 แห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลผลิต การเชื่อมโยงการตลาด การจัดการขนส่ง การให้บริการทางการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท รวมถึงการนำไปพัฒนาความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้นำสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME เกษตรวงเงิน 10,000 ล้านบาท

การฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ถือว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ สู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ทั้งในด้านการผลิต การซื้อ-ขายผลผลิต การแปรรูป และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรและต่อยอดสู่ธุรกิจในชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย พร้อมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

เงาหุ้น : โค้งสุดท้าย SSFX

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 23 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,356.43 จุด เพิ่มขึ้น 4.25 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 49,101.67 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 772.97 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด KBANK ปิด 89 บาท ลบ 0.25 บาท, CPF ปิด 31.50 บาท ลบ 0.50 บาท, STA ปิด 27.75 บาท ลบ 1.25 บาท, BBL ปิด 106 บาท บวก 1 บาท และ MINT ปิด 20.60 บาท ลบ 0.10 บาท

หุ้นไทยพลิกขึ้นในกรอบจำกัด นักลงทุนคลายความกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หลังสหรัฐฯยืนยันไม่เลิกข้อตกลงการค้ากับจีน

ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคโค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุนเพื่อการออมระยะยาวแบบพิเศษ SSFX ที่เปิดให้ซื้อถึง 30 มิ.ย.นี้ เพื่อนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนบาท ซึ่งขณะนี้เปิดเสนอขายอยู่ 20 กองทุน จาก 15 บลจ. โดย SSFX นี้ ที่กำหนดให้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่ต่ำกว่า 65% ส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆได้

สำนักงาน ก.ล.ต.ออกบทแนะนำผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงทุน SSFX กองไหนดีให้พิจารณา 3 คำถามนี้ เพื่อช่วยเลือก SSFX ที่ใช่สำหรับตัวเอง น่าสนใจ!! ดังนี้ 1. สินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่หากกองทุนเน้นลงทุนในหุ้น 80% ขึ้นไป

ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมักมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ส่วนกองที่กระจายลงทุนในสินทรัพย์ 20-35% อื่น เช่น หุ้นกู้ เงินฝาก ทองคำ น้ำมัน ช่วยลดความเสี่ยงได้

2.ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ active หรือ passive โดยการลงทุนแบบ active คือ การลงทุนหุ้นที่มุ่งสร้างผลตอบแทนให้มากกว่าดัชนีอ้างอิง ต้องอาศัยความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการกองหรือมีกระบวนการคัดเลือกหุ้นด้วยการวิเคราะห์เชิงลึก ส่วนการลงทุนแบบ passive เน้นสร้างผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีอ้างอิง เช่น SET50 หรือ SET100 จึงทำให้ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน passive ต่ำกว่ากองทุนรวมที่มีกลยุทธ์แบบ active

3.ต้องการรับเงินปันผลระหว่างทางหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีทั้งกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล มีข้อดีต่างกันคือ SSFX ที่จ่ายปันผลเหมาะกับผู้ที่ชอบผลตอบแทนระหว่างการลงทุน หรือเพื่อให้มีกระแสเงินสด แต่เงินปันผลจะถูกหักภาษี 10%

เลือกเอาว่า รัก–ชอบแบบไหน อายุต่ำกว่า 50 ปี ลุยไปเลย เพราะต้องถือลงทุนยาว 10 ปีโลดดดด!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

EXIM BANK เตือนผู้ส่งออก เตรียมรับมือปัญหาผู้ซื้อตปท.ไม่จ่ายเงิน แนะบริหารความเสี่ยง

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปีนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4% เป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (-10% ขึ้นไป) ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552

EXIM BANK คาดว่า ในปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยจะหดตัว 5-8% สินค้าที่มีโอกาส เช่น สินค้าจำเป็นประเภทอาหาร และสินค้าตามกระแสเมกะเทรนด์ เช่น อุปกรณ์สำนักงานสำหรับทำงานจากบ้าน (Work from Home) เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์

จากการคาดการณ์ของออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลก โควิด-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา ในขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มาก ต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า เนื่องจากโควิด-19 อาจทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ชำระเงินล่าช้าหรือผิดนัดชำระเงิน ซึ่งผลการสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจในระยะสั้นของกลุ่มความร่วมมือองค์กรรับประกันชั้นนำของโลก Berne Union เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า องค์กรรับประกันในประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เริ่มพบสัญญาณการขอขยายระยะเวลาการชำระเงินและชำระเงินล่าช้าของผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนการผิดนัดชำระเงินค่าสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ปี 2563

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม 2563) พบว่า ลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นเอกสารผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 195% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกค้างชำระกว่า 617.33 ล้านบาท ทำให้มีลูกค้ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 24 ราย มูลค่า 284.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226% จาก 12 ราย มูลค่า 87.50 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า (92%) รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย (8%) ประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ส่วนประเภทสินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ ข้าว อาหารกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ

“EXIM BANK มีความเชี่ยวชาญในการช่วยผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยพัฒนาบริการประกันการส่งออกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs มานานกว่า 26 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ได้ให้ความคุ้มครองธุรกิจส่งออกไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.37 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญคือ ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด แม้ในภาวะวิกฤตที่ยังมีโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ” นายพิศิษฐ์กล่าว

เทหุ้นแบงก์

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 22 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,352.18 จุด ลดลง 18.64 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 65,772.37 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,106.15 ล้านบาท

หุ้นไทยถูกกดดันจากแรงขายหุ้นแบงก์ หลังแบงก์ชาติสั่งงดจ่ายปันผลงวดระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน โดย บล.ทรีนีตี้มองกดดันราคาหุ้นในเชิงจิตวิทยา แต่ผลกระทบจะจำกัดแค่ในส่วนปันผล และมองว่าผลประกอบการช่วงที่เหลือของปีกลุ่มธนาคารยังมีปัจจัยกดดัน ทั้งจาก NIM ที่จะอ่อนตัวลง และคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง

จึงยังคงกลยุทธ์ Selective Buy โดยให้ BBL (TP 158 บาท) เป็น Top-pick เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ในสถานการณ์ปัจจุบัน บวกกับ Valuation ที่ยังถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

บล.เคทีบีมีมุมมองเป็นลบต่อการงดจ่ายปันผลระหว่างกาล แม้จะช่วยให้เงินกองทุนแข็งแรงขึ้น แต่ระดับเงินกองทุนของกลุ่มปัจจุบันมีสูงถึง 17-21% มากกว่าขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 12%

มองนักลงทุนที่ถือหุ้นเพื่อรับปันผลจะขายทำกำไรออกมา โดยธนาคารที่จ่ายปันผลระหว่างกาลคือ BBL, KBANK, SCB และ KKP ซึ่งจะทำให้ dividend yield หายไป 0.5-3.4% ในปี 63 ขณะที่คาดว่า หุ้นที่จะปรับตัวลงเยอะจากมากไปน้อย เรียงตามอัตราเงินปันผลระหว่างกาลคือ KKP, SCB, BBL และ KBANK

ส่วนการประกาศให้งดการซื้อหุ้นคืน ไม่กระทบต่อแบงก์รายตัว เพราะก่อนหน้านี้ KBANK, TCAP ได้ซื้อหุ้นคืนครบทั้งจำนวนแล้ว ส่วน SCB ได้ยกเลิกการซื้อหุ้นคืนไปแล้ว ทั้งนี้ ในแง่ของ Valuation จะไม่กระทบต่อประมาณการ

โดยยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารเป็น “เท่าตลาด” มองหุ้น TISCO มีผลกระทบน้อยสุด ให้ราคาเป้าหมาย 88 บาท

บล.หยวนต้าเผยผลศึกษาการเคลื่อนไหวราคาหุ้นแบงก์ในอังกฤษ 4 แบงก์ใหญ่ ที่ประกาศงดจ่ายปันผลงวดผลประกอบการปี 63 ซึ่งเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับมาตรการในประเทศอื่น ที่ให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เพื่อประเมินการตอบสนองของราคาหุ้นกรณีเลวร้าย

พบว่า 1.วันแรกที่ประกาศงดปันผลประจำปี 63 ราคาหุ้นทั้ง 4 แบงก์ตอบสนองเชิงลบรุนแรงราว 7.3-13.2% 2.หุ้น 3 ใน 4 แบงก์มีการฟื้นตัว สู่ระดับราคา ก่อนการประกาศงดจ่ายปันผลค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาเพียง 4-6 วัน 3.ผลตอบแทนเฉลี่ยสำหรับการลงทุน ตั้งแต่วันที่ประกาศงดจ่ายปันผลจนถึง 19 มิ.ย. อยู่ที่ 13.8% มีเพียง 1 แบงก์ที่ให้ผลขาดทุนราว 4.3%.

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

กยศ.เปิดตัวระบบบริหารหนี้ DMS พร้อมให้บริการผ่านแอปฯ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยศ.ได้เปิดใช้งานระบบบริหารหนี้ (Debt Management System – DMS) ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินกู้ ยอดเงินที่ต้องชำระ หรือรายการชำระเงินย้อนหลังได้แบบ Real-time และจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเอง รวมถึงผู้ค้ำประกันยังสามารถตรวจสอบข้อมูลการค้ำประกันตามสัญญาได้อีกด้วย โดยผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android หรือลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งผู้กู้ยืมยังคงสามารถชำระเงินผ่านช่องทางบริการรับชำระทั่วประเทศและ Mobile Banking ของทุกธนาคาร โดยระบบบริหารหนี้ได้พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน ให้ได้รับความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านช่องทาง “กยศ. Connect” และเว็บไซต์

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

สำหรับวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุน ซึ่งในปีนี้มีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5 ล้านราย กองทุนจึงขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่มาชำระเงินคืนภายในกำหนดดังกล่าว และกองทุนต้องขอขอบคุณผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านที่มาชำระเงินคืนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line บัญชีทางการ กยศ. หรือโทร 0 2016 4888

มุมมอง ทรีนีตี้ กรณีธปท. ขอให้แบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน

โดย ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

มอง Downside จำกัดแค่ในส่วนปันผล

มองว่าแนวทางของ ธปท. เป็นการดำเนินการตาม IMF ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ และรองรับการตั้งสำรองสำหรับ NPL ได้มากขึ้น โดยการนำแนวทางนี้มาใช้กับธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เรามองว่าเป็นการช่วยรักษาความแข็งแกร่งให้แก่เงินกองทุน มากกว่าจะเป็นความกังวลต่อความเสี่ยงที่เงินกองทุนจะลดลงอย่างรุนแรง จึงมองผลกระทบด้านลบต่อราคาหุ้นจะจำกัดอยู่ในส่วนของปันผล โดยหากจำกัดเฉพาะในส่วนของเงินปันผลระหว่างกาล มองว่า Downside จะอยู่ที่ราว 1-2% สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะจ่ายปันผลระหว่างกาล เช่น BBL, KBANK และ SCB หรือหากมองว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดจะไม่จ่ายปันผลสำหรับปี 2563 เลย คาดผลกระทบต่อราคาหุ้นที่รุนแรงที่สุดจะไม่เกิน 11% ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแกร่งในด้านเงินทุน

สำหรับความกังวลที่คุณภาพหนี้ (NPL) ที่จะเกิดขึ้นจะกระทบต่อสัดส่วนเงินกองทุนของธนาคารนั้น ทรีนีตี้มองว่าปัจจุบันธนาคารมีความเสี่ยงจากคุณภาพหนี้อยู่แล้วตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และอาจกระทบต่อกำไรของธนาคาร ซึ่งจากประมาณการเดิม คาดกำไรปี 2563 ของธนาคารจะอ่อนตัวลงราว 10-20% อย่างไรก็ตาม มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวต่อฐานเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังต่ำ เนื่องจากในปัจจุบันสัดส่วนเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง โดยหากพิจารณาที่สัดส่วน Tier 1 ของธนาคารพาณิชย์ที่วิเคราะห์เฉลี่ยอยู่ที่ 16% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 9.5% ค่อนข้างมาก

และในกรณีที่ NPL จะกระทบไปถึงเงินกองทุน จะต้องผ่าน Buffer อีก 2 ชั้น คือ 1. กำไรจากการดำเนินงานของแต่ละธนาคารในแต่ละปี (ในกรณีงดจ่ายปันผล) และ 2. สำรองส่วนเกินที่แต่ละธนาคารมี จาก Sensitivity Analysis ของทรีนีตี้ โดยตั้งสมมติฐานการเพิ่มขึ้นของ NPL จะส่งผลกระทบให้กำไรลดลงจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่เพิ่มขึ้น และ Risk Weighted Assets เพิ่มขึ้น โดยธนาคารจะสามารถรองรับ NPL ได้สูงกว่าปัจจุบันโดยเฉลี่ยราว 4 เท่า จึงจะกระทบทำให้เงินกองทุนลดลง และ NPL ต้องสูงขึ้นจากปัจจุบันถึงราว 8.2 เท่า จึงจะมีความเสี่ยงที่จะต้องเพิ่มทุน (Tier 1 ลดลงจนถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 9.5%)

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กระทบธุรกิจเช่าซื้อน้อย

ด้านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ที่ ธปท. ประกาศมีความแตกต่างจากข่าวที่ออกมาก่อนหน้า โดยเฉพาะในประเด็นธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งจากข่าวเดิมมีประเด็นการลดดอกเบี้ยลง 1% จากสัญญาเดิม แต่ในรายละเอียดที่ออกมาจริงเป็นเพียงการเลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือ ลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้ ทำให้ผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อต่ำกว่าที่คาดมาก ทั้งในส่วนของธนาคาร อาทิ TISCO และ KKP และ Finance อาทิ TK, S11 และ AMANAH จึงเป็นปัจจัยบวกเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเช่าซื้อที่ราคาอ่อนตัวลงมาก่อนหน้าจากข่าวดังกล่าว

ยังคงกลยุทธ์ Selective Buy

มองว่าประเด็น ธปท. ขอความร่วมมือจากธนาคารให้งดจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน จะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นในเชิงจิตวิทยา แต่ผลกระทบจะจำกัดแค่ในส่วนปันผล อย่างไรก็ตาม มองว่าผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีของกลุ่มธนาคารยังมีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งจาก NIM ที่จะอ่อนตัวลง และคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง จึงยังคงกลยุทธ์ Selective Buy โดยให้ BBL (TP 158 บาท) เป็น Top-pick เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน บวกกับ Valuation ที่ยังถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

เอไอเอส จับมือโรงหนังเอสเอฟ ใช้หุ่น 5G ดูแลลูกค้า

รายงานข่าว เปิดเผยว่า บริษัท เอไอเอส โดยนางศิวลี บูรณสงคราม หัวหน้าแผนกงานบริหารแบรนด์  ร่วมกับโรงภาพยนต์ เอส เอฟ โดยนางสาวพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ยกระดับมาตรการดูแลลูกค้าของโรงภาพยนตร์ในเครือ SF ด้วยการนำเครือข่าย 5G พร้อมหุ่นยนต์อัจฉริยะ 4 แบบ ได้แก่ หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE (ROC), AIS K9LISA และ PP  ทำหน้าที่คอยต้อนรับ ให้ข้อมูลลูกค้า และนำทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่กำหนดไว้, ช่วยคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้า ให้บริการเจลแอลกอฮอลล์ ก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ เพื่อลดการสัมผัส และป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในพื้นที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

นอกจากนี้ ยังมอบสิทธิพิเศษส่วนลดดูหนัง ให้ลูกค้าเอไอเอส และ เอไอเอส ไฟเบอร์ ซื้อตั๋วดูหนังในราคา เพียง 120 บาท ทุกวันศุกร์-วันอาทิตย์ รับสิทธิ์ 1 หมายเลข / 1 สิทธิ์ / เดือน) สำหรับลูกค้าเอไอเอส เซเรเนด รับสิทธิ์ 1 หมายเลข / 2 สิทธิ์ / เดือน และ โปรโมชั่นดูหนังวันธรรมดา ในวันพฤหัสบดีแรกของทุกเดือน ลูกค้าเอไอเอสและ เอไอเอส ไฟเบอร์ ซื้อตั๋วดูหนังในราคาเพียง 80 บาท รับสิทธิ์ 1 หมายเลข / 1 สิทธิ์ / เดือน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึง 31 ธันวาคม 2563 (หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมด)