รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่อาคารวิทยาลัยการแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานนอกระบบ รองรับสถานการณ์ COVID-19 และชมกิจกรรมการฝึกอบรมผ่าน Video Conference Zoom เขตทวีวัฒนา และเขตบึงกุ่ม ฝึกอาชีพแก่ผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 นำร่องฝึกในเขตกรุงเทพมหานคร 4 เขต
ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง ว่างงาน จึงมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้มีความรู้ สามารถนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง ตามนโยบายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เน้นย้ำให้ฝึกทักษะแก่แรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดหรือนำไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งปัจจุบันประชาชนปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) นิยมบริโภคอาหารและซื้อสินค้าออนไลน์ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น อีกทั้ง กระแสความนิยมการรับประทานผักปลอดสารพิษมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดฝึกอบรมการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ปลอดสารพิษ และการประกอบอาหารไทยเชิงธุรกิจออนไลน์ ประเภทอาหารจานเดียว ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรจะช่วยให้ผู้ผ่านการอบรม สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระได้ทันทีเมื่อจบฝึก สามารถทำได้ที่บ้านเหมาะกับแรงงานที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง จึงนำร่องการฝึกในเขตกรุงเทพมหานคร 4 เขต ได้แก่ เขตทวีวัฒนา เขตบึงกุ่ม เขตราชเทวี และเขตดินแดง ณ วิทยาลัยการแรงงาน ระยะเวลาการฝึก 15 วัน เป้าหมายจำนวน 7 รุ่นๆ ละ 20 คน รวม 140 คน
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดี กพร. กล่าวว่า กรมมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการ ปัจจุบันเริ่มฝึกอบรมแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ได้แก่ เขตบึงกุ่ม ณ ชุมชนหมู่บ้านคลองกุ่มพิเวศร ฝึกอบรมการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ปลอดสารพิษ อีก 1 ชุมชนใช้พื้นที่โรงเรียนคลองกุ่ม ฝึกอบรมการประกอบอาหารไทยเชิงธุรกิจออนไลน์ ประเภทอาหารจานเดียว ส่วนเขตทวีวัฒนา ณ วัดโกมุทพุทธรังสี เป็นสถานที่ฝึกการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ปลอดสารพิษ ณ ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เป็นสถานที่ฝึกการประกอบอาหารไทยเชิงธุรกิจออนไลน์ และเขตดินแดง ณ วิทยาลัยการแรงงาน จัดฝึกทั้ง 2 สาขาเช่นกัน โดยเริ่มฝึกตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 และจะฝึกเสร็จสิ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2563
การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ปลอดสารพิษนั้น ผู้เข้ารับการฝึกได้เรียนรู้เกี่ยวกับ การเลือกชนิดเมล็ดพันธุ์ที่นิยมใช้ในการเพาะปลูก ขั้นตอนการเพาะปลูก การเตรียมโรงเรือนแปลงเพาะปลูก การบำรุงดูแล การควบคุมปริมาณน้ำ การเก็บผลผลิต การบรรจุ และการจัดจำหน่าย โดยในพื้นที่เพาะปลูกขนาด 2 x 4 เมตร ใช้งบประมาณ 2,000 บาท ยกตัวอย่าง ผักกรีนโอ๊ค ระยะเวลาการเพาะปลูก 30 วัน สามารถนำไปจำหน่ายได้ราคาประมาณ 500 – 650 บาท/ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาตลาด สถานที่วางจำหน่ายและบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
นางสาวธนพร มากศักดา (หมู) อายุ 47 ปี เล่าว่า ปัจจุบันช่วยครอบครัวเปิดร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ ไข่เค็มสมุนไพร เผือกนึ่ง มันนึ่ง ผักปลอดสารพิษ จำหน่ายในตลาด Green Market เนื่องจากกระแสคนรักสุขภาพมากขึ้น การรับประทานผักปลอดสารพิษจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงสนใจหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ เพื่อนำไปต่อยอดทำจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น