AIS จับมือ ธ.กรุงไทย ให้บริการ “PromptBIZ” ผ่านแพลตฟอร์ม Krungthai BUSINESS รายแรกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

582

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า AIS Business ร่วมมือกับพันธมิตรหลักอย่างธนาคารกรุงไทย เพื่อใช้แพลตฟอร์ม Krungthai BUSINESS เปิดให้ลูกค้าองค์กรของเอไอเอสใช้บริการ “PromptBIZ”  ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินกลางสำหรับภาคธุรกิจของประเทศ  ในการทำธุรกรรมการค้าและการชำระเงินขององค์กรให้เป็นไปอย่างคล่องตัว รวดเร็ว เพราะสามารถดำเนินการข้ามธนาคารในรูปแบบดิจิทัลได้แบบครบวงจร อีกทั้ง เชื่อมโยงระบบภาษี ลดข้อผิดพลาด และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มุ่งสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ  AIS Business  ครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ  2 องค์กรชั้นนำของประเทศ  ในการนำระบบ  “PromptBIZ” บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม  Krungthai BUSINESS มาเสริมศักยภาพการทำธุรกิจของเอไอเอสและคู่ค้าตลอดซัพพลายเชนให้เป็นระบบดิจิทัลแบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดการข้อมูลเอกสาร ลดการใช้กระดาษ โดยเปลี่ยนเอกสารทางการค้าจากกระดาษเป็นเอกสารการค้าดิจิทัล อำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ลูกค้าองค์กรของเอไอเอสต้องนำใบแจ้งค่าบริการไปชำระและรับใบเสร็จรับเงินหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ศูนย์บริการ AIS หรือจุดรับวางบิลธุรกิจ สามารถชำระเงินข้ามธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ สะดวก ง่าย ไม่ต้องเดินทาง

อีกทั้งยังลดเวลาการทำงานของพนักงานในการตรวจสอบความถูกต้อง Reconcile เอกสารทางการค้า และรับชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม  ตลอดจนสามารถรองรับการทำรายการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตโนมัติ (Krungthai e-Withholding Tax) โดยไม่ต้องออก 50 ทวิให้กับคู่ค้า การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงต่อยอดการใช้ข้อมูลไปยังธุรกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การให้สินเชื่อธุรกิจผ่านบริการ Digital Supply  Chain Finance ซึ่งใช้ข้อมูลธุรกรรมการค้าบนระบบ PromptBIZ ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ช่วยให้คู่ค้าของเอไอเอส โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น บนต้นทุนที่เหมาะสม ป้องกันการใช้ข้อมูลมาขอสินเชื่อซ้ำ (Double Financing) ตอบโจทย์การดำเนินงานของทั้ง 2 องค์กร  ที่มุ่งสนับสนุนทุกภาคส่วนในสังคมให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Digital Economy