นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลในภูมิภาค โดยตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ค. ถึงปัจจุบัน (11 มิ.ย. 63) เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 2.71% รองจากเงินรูเปียของอินโดนีเซีย และเงินวอนของเกาหลีใต้
สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลกลับของนักลงทุนที่เป็นทั้งนักลงทุนไทยและกองทุนต่างๆ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่มาก
อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกและไทย อาจส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวน ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ และกระจายสกุลเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงการอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว โดยเฉพาะหากเป็นการซื้อขายระหว่างกันเองในภูมิภาค การพิจารณาเลือกเงินสกุลเพื่อกำหนดราคาสินค้า (invoicing currency) ในสกุลที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันจะมีโอกาสช่วยลดความผันผวนของรายรับในสกุลบาท นอกจากการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สถาบันการเงินให้บริการอยู่แล้ว