น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.63 อยู่ที่ 99.75 ลดลง 2.03% จากเดือนมี.ค. และหากเทียบกับเดือนเม.ย. ปี 62 ปรับลดลง 2.99% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ดัชนีราคาลดลงสูงถึง 30.85% ต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน รวมทั้ง ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล
อีกทั้ง การปรับลดราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ จากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ที่ร่วมมือกับผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวม เงินเฟ้อลดลงมาก
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อต้องติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป และราคาสินค้าและบริการ ต้องลดลงติดต่อกัน ถึงจะเป็นภาวะเงินฝืด แต่ขณะนี้ เงินเฟ้อไทยลดลง เกิดจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นสำคัญ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิต และการขนส่งสินค้าลดลงมาก ส่วนราคาสินค้าและบริการ ยังไม่ลดลงมาก โดยอาหารสดยังราคาเคลื่อนไหวปกติ มีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาลดลงบ้าง แต่ลดลงจากมาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ลดราคาขายเพื่อช่วยเหลือประชาชน
หากถามว่ามีโอกาสเกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่ ก็มีสิทธิ์ หากราคาน้ำมันยังลดลงมาก หรือยังขึ้นได้ไม่เท่ากับราคาของปีก่อน จึงต้องหาทางหลีกเลี่ยง และนโยบายของรัฐบาล จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนมาก เช่น การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ให้กลับมาทำธุรกิจ หรือทำมาค้าขายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนได้ และต้องเร่งส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทย กินของไทย ใช้ของไทย
แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.63 ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากราคาน้ำมัน ที่การบริโภคยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และราคายังไม่ปรับขึ้นมาเท่ากับราคาในปีก่อน และราคาสินค้าเกษตร ที่อาจลดลง เนื่องจากความต้องการซื้อลดลง คาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะยังติดลบ 2.28% ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 น่าจะดีขึ้น และเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ลบ 1.0% ถึงลบ 0.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 0.6%