ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 28 เม.ย. 63 ปิดที่ 1,274.99 จุด เพิ่มขึ้น 7.58 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 60,549.94 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 185.35 ล้านบาท
หุ้นไทยแกว่งตัวผันผวน หลังมีความคาดหวังต่อการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่มีแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง
ฝ่ายวิจัยบล.โกลเบล็ก แนะกลยุทธ์ลงทุน ให้ดักลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลาย โดยทยอยสะสมหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ชู AOT, MINT, ERW และ CENTEL โดยหากโควิด-19 ดีขึ้น น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทย
หุ้นกลุ่มโรงกลั่น เช่น TOP, SPRC และ PTTGC จากผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 1 ปี 63 และไม่มีผลขาดทุนจาก Stock Loss และหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น KCE, HANA และ DELTA ซึ่งกลับมาเร่งผลิตสินค้า หลัง Stock สินค้าที่ลดลงมาก หลังหยุดผลิตช่วงโควิด-19
ปิดท้าย ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ ประเมินวิกฤติไวรัสโควิด-19 เป็นโอกาสในการออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นจะกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง จากการออก QE ของธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ
ผลการดำเนินนโยบายนี้ จะทำให้สภาพคล่องของเงินทุนล้นโลก ซึ่งจะเป็นตัวหนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ หลังวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น ส่วนการจัดสรรเงินลงทุนทรีนีตี้ แนะให้ลงทุนทองคำ 10% ลงทุนหุ้นไทย 20% เน้นหุ้นปันผลดี 30-40% และลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB ขึ้นไป และอีก 10-20% ลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ ส่วนอีก 10-20 % ถือเป็นเงินสด
ดังนั้นทรีนีตี้ จะเปิดขายกองทุนส่วนบุคคล ทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 พ.ค.63 โดยกองทุนนี้ มีนโยบายลงทุนหุ้นในเอเชีย ยกเว้น ญี่ปุ่น โดยบริหารกองทุนแบบ Active Fund ที่เลือกลงทุนหุ้นที่มีคุณภาพ มีการเติบโตและมีมูลค่าเพิ่ม เน้นหุ้นจีนเป็นหลัก ขณะที่ผู้จัดการกองทุนจะปรับเปลี่ยนหุ้นในพอร์ตไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากปัจจัยแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว
ทำให้ผลการดำเนินงานกองทุนนี้ มีผลตอบแทนสูงกว่า Benchmark (MSCI ex-Japan) มาโดยตลอด ณ 17 เม.ย.63 ผลตอบแทน 11.65% ขณะที่ MSCI (ex-Japan) ติดลบ 9.58%
ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ