Homeบทความมุมมอง ทรีนีตี้ กรณีธปท. ขอให้แบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน

มุมมอง ทรีนีตี้ กรณีธปท. ขอให้แบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน

โดย ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

มอง Downside จำกัดแค่ในส่วนปันผล

มองว่าแนวทางของ ธปท. เป็นการดำเนินการตาม IMF ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ และรองรับการตั้งสำรองสำหรับ NPL ได้มากขึ้น โดยการนำแนวทางนี้มาใช้กับธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เรามองว่าเป็นการช่วยรักษาความแข็งแกร่งให้แก่เงินกองทุน มากกว่าจะเป็นความกังวลต่อความเสี่ยงที่เงินกองทุนจะลดลงอย่างรุนแรง จึงมองผลกระทบด้านลบต่อราคาหุ้นจะจำกัดอยู่ในส่วนของปันผล โดยหากจำกัดเฉพาะในส่วนของเงินปันผลระหว่างกาล มองว่า Downside จะอยู่ที่ราว 1-2% สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะจ่ายปันผลระหว่างกาล เช่น BBL, KBANK และ SCB หรือหากมองว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดจะไม่จ่ายปันผลสำหรับปี 2563 เลย คาดผลกระทบต่อราคาหุ้นที่รุนแรงที่สุดจะไม่เกิน 11% ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

ธนาคารพาณิชย์ไทยยังแกร่งในด้านเงินทุน

สำหรับความกังวลที่คุณภาพหนี้ (NPL) ที่จะเกิดขึ้นจะกระทบต่อสัดส่วนเงินกองทุนของธนาคารนั้น ทรีนีตี้มองว่าปัจจุบันธนาคารมีความเสี่ยงจากคุณภาพหนี้อยู่แล้วตามสภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และอาจกระทบต่อกำไรของธนาคาร ซึ่งจากประมาณการเดิม คาดกำไรปี 2563 ของธนาคารจะอ่อนตัวลงราว 10-20% อย่างไรก็ตาม มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวต่อฐานเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังต่ำ เนื่องจากในปัจจุบันสัดส่วนเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง โดยหากพิจารณาที่สัดส่วน Tier 1 ของธนาคารพาณิชย์ที่วิเคราะห์เฉลี่ยอยู่ที่ 16% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 9.5% ค่อนข้างมาก

และในกรณีที่ NPL จะกระทบไปถึงเงินกองทุน จะต้องผ่าน Buffer อีก 2 ชั้น คือ 1. กำไรจากการดำเนินงานของแต่ละธนาคารในแต่ละปี (ในกรณีงดจ่ายปันผล) และ 2. สำรองส่วนเกินที่แต่ละธนาคารมี จาก Sensitivity Analysis ของทรีนีตี้ โดยตั้งสมมติฐานการเพิ่มขึ้นของ NPL จะส่งผลกระทบให้กำไรลดลงจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ที่เพิ่มขึ้น และ Risk Weighted Assets เพิ่มขึ้น โดยธนาคารจะสามารถรองรับ NPL ได้สูงกว่าปัจจุบันโดยเฉลี่ยราว 4 เท่า จึงจะกระทบทำให้เงินกองทุนลดลง และ NPL ต้องสูงขึ้นจากปัจจุบันถึงราว 8.2 เท่า จึงจะมีความเสี่ยงที่จะต้องเพิ่มทุน (Tier 1 ลดลงจนถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 9.5%)

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กระทบธุรกิจเช่าซื้อน้อย

ด้านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ที่ ธปท. ประกาศมีความแตกต่างจากข่าวที่ออกมาก่อนหน้า โดยเฉพาะในประเด็นธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งจากข่าวเดิมมีประเด็นการลดดอกเบี้ยลง 1% จากสัญญาเดิม แต่ในรายละเอียดที่ออกมาจริงเป็นเพียงการเลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือ ลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้ ทำให้ผลกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อต่ำกว่าที่คาดมาก ทั้งในส่วนของธนาคาร อาทิ TISCO และ KKP และ Finance อาทิ TK, S11 และ AMANAH จึงเป็นปัจจัยบวกเชิงจิตวิทยา โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเช่าซื้อที่ราคาอ่อนตัวลงมาก่อนหน้าจากข่าวดังกล่าว

ยังคงกลยุทธ์ Selective Buy

มองว่าประเด็น ธปท. ขอความร่วมมือจากธนาคารให้งดจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน จะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นในเชิงจิตวิทยา แต่ผลกระทบจะจำกัดแค่ในส่วนปันผล อย่างไรก็ตาม มองว่าผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีของกลุ่มธนาคารยังมีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งจาก NIM ที่จะอ่อนตัวลง และคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง จึงยังคงกลยุทธ์ Selective Buy โดยให้ BBL (TP 158 บาท) เป็น Top-pick เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน บวกกับ Valuation ที่ยังถูกกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

- Advertisment -
[td_block_1 custom_title="Must Read" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" category_id="9" sort=""]