การบริหารการเงินสำหรับคนโสดรองรับสังคมผู้สูงอายุ
โดย คุณรัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®
ปัจจุบันพบว่าหลายๆ ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยได้เข้าใกล้สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2565 การเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้สูงอายุ อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น อัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ประชากรมีอายุยืนขึ้นเนื่องจากการรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อมีอายุยืนยาวขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ค่ารักษาพยาบาล ค่าปรับปรุงบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงวัย ค่าจ้างพยาบาล เป็นต้น จากข้อมูลการสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนไทย ของบมจ. ซิกน่า ประกันภัย พบว่า มีเพียงร้อยละ 45 ที่มีความพร้อมทางการเงิน ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีสวัสดิการของรัฐรองรับสำหรับผู้สูงอายุจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นบำนาญชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงสิทธิประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้สวัสดิการต่างๆ ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เราจึงควรเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง
เมื่อสวัสดิการของรัฐอาจไม่เพียงพอ การมีสถานะเป็นคนโสด อาจมีความคิดว่าค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะลดลง เนื่องจากไม่ต้องเดินทางไปประกอบอาชีพทุกวัน และคิดว่าตัวคนเดียวไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก จึงอาจไม่ได้ตระเตรียมเงินในช่วงวัยทำงาน โดยอาจใช้จ่ายในการท่องเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ซึ่งส่งผลต่อเงินออมที่ต้องเตรียมไว้ในอนาคต จากบทความในเว็บไซต์ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พบว่าวัยเกษียณใช้เงินมากกว่าวัยรุ่น เนื่องจากค่าใช้จ่ายประจำวันไม่ได้ลดลง และมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มขึ้น กรณีคนโสดแม้ไม่มีภาระที่จะต้องเตรียมเงินสำหรับค่าการศึกษาบุตร แต่ก็จะไม่มีบุตรช่วยดูแลเราในวัยชราและช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง โดยการเตรียมเงินสำหรับคนโสด จะแตกต่างจากคนมีครอบครัว โดยสามารถพิจารณาประเด็นที่ส่งผลต่อจำนวนเงินที่จะต้องจัดเตรียม ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายสำหรับตัวเองเมื่อไม่มีคนดูแล
- 1.1 ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อการดำรงชีพพื้นฐาน เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ของอุปโภคใช้ในครัวเรือน ค่าน้ำไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าทำความสะอาด ค่าส่วนกลางกรณีอาศัยในคอนโด หรือหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น โดยหากปัจจุบันอายุ 35 ปี และต้องการเตรียมเงินเป็นเวลา 20 ปีเพื่อใช้จ่ายในช่วงเกษียณหลังอายุ 60 ปี โดยคาดว่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท จะพบว่าควรเตรียมเงินขั้นต่ำ ณ อายุ 60 ปี เท่ากับ 9.2 ล้านบาท (กรณีมีสมมติฐานว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3 และอัตราผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ร้อยละ 4)
- 1.2 ค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วยเป็นโรคที่ไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมองและหัชวใจ ถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่อง เช่น ค่าแพทย์พยาบาลและค่ายารายเดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกิดเป็นประจำรายเดือน 2,000 – 10,000 บาทโดยประมาณขึ้นอยู่กับโรค
- 1.3 ค่ารักษาดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วย ค่าอาหารเสริมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ค่าจ้างพยาบาล (10,000 – 20,000 บาท) ผ้าอ้อม รถเข็น (วีลแชร์) ซึ่งอาจต้องเตรียมเงินเพิ่มเติมรวมประมาณ 20,000 – 30,000 บาท
- 1.4 ค่าประกันและบำรุงรักษาทรัพย์สิน เช่น ประกันรถ ประอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ประกันชีวิตสุขภาพและอุบัติเหตุ ค่าซ่อมแซมบ้าน ซ่อมรถ เป็นต้น
- 1.5 ค่าปรับปรุงห้องน้ำและห้องนอนเพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 10,000 – 200,000 บาท ประกอบด้วย ราวจับ เก้าอี้นั่งอาบน้ำ ก๊อกน้ำหรือสุขภัณฑ์ พื้นกันลื่น ไฟส่องสว่าง พื้นลดแรงกระแทก ทำพื้นระดับเดียวหรือทางลาด เป็นต้น
- 1.6 ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อเข้าสังคมและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดความเครียด หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะซึมเศร้า (โดยหากอยู่ในเมือง จะมีค่าใช้จ่ายเดินทางประมาณ 1,000 – 10,000 บาท ขึ้นกับวิธีการเดินทางและระยะทาง) เนื่องจากภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปพบได้มากถึงร้อยละ 10-20 ของประชากร โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง หรืออยู่ตัวคนเดียว หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้น และยิ่งมีอายุมาก ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มมากขึ้น (อ้างอิงบทความของพญ. ทิปภา ชุติกาญจน์โกศล ในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลสมิติเวช จำกัด) ดังนั้น ผู้สูงวัยควรหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เช่น การทำอาหาร งานฝีมือ การออกกำลังกาย การฝึกสติ ฝึกสมาธิ เป็นต้น
- 1.7 ค่าทำบุญและบริจาค กรณีผู้สูงวัยหลังเกษียณ ไปทำบุญ และบริจาคเงินเพื่อการกุศล ประมาณ 2,000 – 5,000 บาท เป็นต้น
- 1.8 กรณีพิจารณาทางเลือกในการพักอาศัยอื่น ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกมากมาย เช่น
- โครงการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย โดยมีค่าใช้จ่ายบริจาคอยู่ระหว่าง 650,000 – 2,000,000 บาทต่อเดือน และค่าส่วนกลาง 2,500 บาทต่อเดือน โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://centralb.redcross.or.th/sawangkanives
- ที่พักที่จัดสร้างโดยโครงการของภาคเอกชน โดยราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000,000 – 3,000,000 บาทขึ้นไป (อ้างอิง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
- สถานบริบาลผู้สูงอายุ Nursing home แบบรายเดือน มีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 15,000 – 80,000 บาทต่อเดือน (อ้างอิง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
- สถานบริบาลผู้สูงอายุ แบบรายวัน Day care มีค่าใช้จ่ายประมาณ 700 – 3,600 บาทต่อวัน (อ้างอิง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุ เช่น โรงพยาบาลผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 – 140,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
- บ้านพักคนชรา โดยพบว่าค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 1,500 – 2,000 บาทต่อเดือน โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.banbangkhae.go.th
2. ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลในอุปการะ ซึ่งอาจไม่ได้เตรียมการณ์ไว้ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาลพ่อแม่ในยามชรา เงินช่วยเหลือญาติพี่น้องและค่าการศึกษาของหลานในอุปการะ เป็นต้น
สุดท้ายนี้ นอกจากการพิจารณาการเตรียมตัวต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น การเตรียมการทางการเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ หลังเกษียณนั้น ควรเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากกรณีสะสมเงินออมต่อเนื่องในระยะเวลาออมที่นานขึ้น โดยมีการบริหารการเงินที่เหมาะสมนั้น จะทำให้เงินออมก็จะสามารถเติบโตได้มากขึ้นเพื่อรองรับชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคง
ที่มา สมาคมนักวางแผนการเงินไทย