ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พ.ค. 2563 พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
-อัตราการว่างงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนพ.ค. 2563 อยู่ที่ 9.6% โดยส่วนใหญ่ของจำนวนผู้ว่างงานมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ
อัตราการว่างงานน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 และค่อยๆ ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำของไวรัส COVID-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 2
-ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของเงินออมและการสร้างรายได้หลายช่องทางมากขึ้น หลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 หันไปค้าขายออนไลน์เพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในการดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเข้ามาแทนที่ภาคเกษตรกรรม
รูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ระมัดระวัง และเร่งสร้างวินัยทางการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์เร่งด่วนสำหรับภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับจำนวนผู้ว่างงานใหม่หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง และการออกมาตรการส่งเสริมการออมที่เอื้อต่อแรงงานหลายกลุ่ม