นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่คิดบนฐานของเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระจริง สถาบันการเงินเริ่มใช้ไปแล้ว (เดิมคิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด)
การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยให้แนวปฏิบัติในเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้น และช่วยลดภาระของประชาชน รวมทั้งลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ซึ่งแนวทางใหม่นี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่ต่างประเทศใช้กัน ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับสิทธิจากการปรับปรุงในครั้งนี้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปขอแก้ไขสัญญา ไม่รวมงวดชำระในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
นางธัญญนิตย์ ชี้แจงว่า เดิมนั้นการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของ “เงินต้นคงค้างทั้งหมด” สมมติว่าเรากู้ซื้อบ้าน 20 ปี 240 งวด ช่วง 2 ปีแรกผ่อนชำระดีมาโดยตลอด งวดที่ 25 มีปัญหาผ่อนชำระไม่ได้ สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด หรือเงินต้นในค่างวดที่ 25 ถึงงวดที่ 240
ในขณะที่การคำนวณที่ปรับปรุงใหม่จะให้คิดบนฐานของ “เงินต้นในค่างวดที่มีการผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในค่างวดตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พูดง่ายๆ คือ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะคิดบนฐานของเงินต้นในงวดที่ 25 เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26-งวดที่ 240
หลักคิดสำคัญในเรื่องนี้ คือ การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต้องคำนึงถึงความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ (credit risk) และความสามารถในการจ่ายของลูกหนี้ไปด้วยกัน ถ้าสูงเกินไปอาจเป็นต้นตอที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ (affordability risk) ลดผลกระทบการจ่ายล่าช้าช่วงโควิดและช่วยสถาบันการเงินให้มั่นคงขึ้นในระยะยาว
นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า “สถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้รายได้ของประชาชนจำนวนมากลดลง จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะจ่ายค่างวดล่าช้าหรือไม่สามารถจ่ายได้ในช่วงนี้ ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะช่วยให้คนไทยมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้โดยรวมลดลง”