รศ.รุจน์ โกมลบุตร กรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เปิดว่า การที่ กสทช. มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้นเป็นสัญญาณที่ดี แต่มาตรการที่เลือกใช้อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากมิใช่ว่าผู้บริโภคทุกรายจะจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตปริมาณมาก มาตรการดังกล่าวจึงอาจตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้เท่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้บริการทั่วไปอาจไม่ได้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์เทียม ๆ กล่าวคือ ได้กดรับสิทธิ์ แต่ไม่มีการใช้งานหรือใช้ได้ไม่เต็มจำนวน โดยที่ กสทช. กลับต้องอุดหนุนในลักษณะเหมาจ่ายให้กับบริษัท เท่ากับผู้ประกอบการได้ผลประโยชน์แบบเต็มที่และหลายต่อ ทั้งขายบริการได้มากขึ้น หรือรับเงินเกินกว่าบริการที่มีการให้บริการจริง เป็นต้น
“การเพิ่มปริมาณอินเทอร์เน็ตไม่ได้ช่วยผู้บริโภคทั่วไปในภาวะยากลำบากนี้ หรือแม้แต่ผู้ที่ตามปกติต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตปริมาณมาก เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือส่วนใหญ่ก็มักใช้แพ็กเกจที่ให้ปริมาณอินเทอร์เน็ตต่อเดือนเพียงพออยู่แล้ว มาตรการของ กสทช. จึงเหมือนการช่วยผู้ประกอบการขายของ โดยเสนอของชนิดเดียวใส่มือประชาชนทุกคน พร้อมกับบอกว่ารับฟรี ๆ ซึ่งตามพฤติกรรมคนทั่วไปก็ย่อมจะรับมาโดยไม่ได้คำนึงถึงว่ามีความต้องการใช้ของนั้นจริงไหม หรือรับมาแล้วจะต้องใช้เต็มที่หรือไม่” รศ.รุจน์กล่าว
และในส่วนการปรับเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้าน 100 Mbps เป็นมาตรการที่ชวนตั้งคำถามเช่นกัน เนื่องจากประชาชนที่ยากลำบากของประเทศไม่ใช่ผู้เข้าถึงบริการดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ส่วนใหญ่ก็ใช้แพ็กเกจที่กำหนดความเร็วไว้มากกว่า 100 Mbps ขณะที่ถ้าเป็นบริการแบบ ADSL/VDSL/Copper (เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่) ต่อให้ปรับความเร็วสูงสุดก็ทำได้ไม่ถึง 100 Mbps