รายงานข่าว เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งถึงผลดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้ ว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2563 สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรไปแล้วกว่า 21,000 ใบ ครอบคลุมลูกหนี้ 4,204 ราย ซึ่งมีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 5 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 340,000 บาท และขณะนี้มีลูกหนี้ที่รอลงนามในสัญญาอีกกว่า 800 ราย เนื่องจากไม่สามารถเดินทางช่วง lockdown ที่ผ่านมา และอีก 1,500 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจเช็คข้อมูลกับสถาบันการเงิน คาดว่าครึ่งแรกของปี 2563 ตัวเลขผู้เข้าร่วมโครงการจะเกิน 5,000 ราย
โครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นโครงการแก้หนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ผลของมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวถือว่าน่าพอใจ กล่าวคือ ไม่มีลูกหนี้ต้องออกจากโครงการแม้สักรายเดียว ด้วยเหตุว่าผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว ในขณะที่ลูกหนี้ที่ชำระค่างวดเข้ามา โครงการได้ช่วยเหลือโดยการลดดอกเบี้ยให้ 2% เพื่อลดภาระในช่วงนี้ อีกทั้ง แนวทางช่วยเหลือของโครงการมีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นตัวอย่างที่สถาบันการเงินอาจนำไปประยุกต์ในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไปได้
มาตรการช่วยเหลือประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ เปรียบเหมือนลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับยา 2 ขนานเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ คือ ให้สิทธิเลื่อนชำระหนี้ และลดดอกเบี้ยเพื่อจูงใจให้จ่าย ทำให้ NPL ไม่เพิ่ม ลูกหนี้ไม่หลุดจากโครงการ และลูกหนี้ 72% มีภาระดอกเบี้ยลดลง
- ยาชนิดแรก – การผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนงวดชำระ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือนในช่วง เม.ย. – ก.ย. 2563
- ยาชนิดที่สอง – การปรับลดดอกเบี้ยลง 2% เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และเป็นแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่จ่ายค่างวดเข้ามาต่อเนื่อง โดยดอกเบี้ยในช่วงนี้เหลือเพียง 2-3%
โครงการฯ ผ่อนปรนเงื่อนไขให้สามารถจ่ายชำระเข้ามาเท่าที่ทำได้ เช่น ครึ่งหนึ่งของค่างวดที่เคยจ่าย ในกรณีนี้ก็ยังได้รับสิทธิพิเศษเรื่องการลดดอกเบี้ย
ผลของมาตรการมีหลายส่วนน่าสนใจ กล่าวคือ แม้จะให้สิทธิในการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ หรือ ไม่ต้องจ่ายค่างวดแก่ลูกหนี้ทุกราย ปรากฏว่ามีลูกหนี้เพียง 28% ที่เลือกมาตรการนี้ ในขณะที่ลูกหนี้ที่เหลืออีก 72% ยังจ่ายค่างวดเข้ามาตามปกติ โดยลูกหนี้ 18% ชำระเข้ามามากกว่าค่างวด ส่วนใหญ่คือ 52% จ่ายค่างวดได้ครบ และมีเพียง 2% เท่านั้นที่จ่ายชำระได้เพียงบางส่วน
การออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ยึดลูกหนี้เป็นที่ตั้งคือ คำนึงถึงปัญหา ความเดือดร้อน และข้อจำกัดของลูกหนี้ ช่วยให้โครงการสามารถตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ทุกราย ทั้งรายที่ผ่อนไม่ไหวในช่วงนี้และรายที่สามารถจ่ายเข้ามาก็จะเสียดอกเบี้ยน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีลูกหนี้ที่ต้องกลายเป็นหนี้เสีย และลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่มีความสามารถยังผ่อนชำระเข้ามาต่อเนื่อง
ประชาชนที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ที่สมัครเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ในช่วง เม.ย. – ก.ย. 2563 จะได้รับสิทธิลดดอกเบี้ย 2% จากโครงการเช่นเดียวกัน โดยอัตราดอกเบี้ยที่ 2-3% ถือว่าผ่อนปรนมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยบัตรปกติที่ 18%
วิกฤตโควิด 19 ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือ ผ่อนปรนซึ่งกันและกัน และการที่สถาบันการเงินและลูกค้าสามารถปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน จะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากในระยะข้างหน้า