Home Blog Page 52

นายกฯ แถลง 4 ข้องดปฏิบัติเทศกาลสงกรานต์ปี 63 ลดเสี่ยงโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทรท.) โดยกล่าวถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่าสัปดาห์หน้าเป็นช่วงประเพณีสงกรานต์แล้ว ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ และให้ทำงานตามปกติ แล้วจะชดเชยภายหลัง แต่ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19

จึงมีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญดังนี้

1.งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ

2. งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา

3. งดเว้นการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี

4. งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงาน และมีคุณค่าทางจิตใจ จึงขอให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน
2. การแสดงความกตัญญู ขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 – 2 เมตร และให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยด้วย
3.ส่งเสริมให้แสดงความรักและความกตัญญู ต่อบุพพการี – ผู้มีพระคุณ ที่อยู่ไกลกัน ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสื่อออนไลน์ และในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่จะมาถึงในเร็ววันนี้

“ผมในนามของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขออวยพรให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจร่วมต่อสู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน และขอให้สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อครอบครัว กันให้มากที่สุด เราจะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ให้จงได้ ประเทศไทยจะต้องชนะ อย่างแน่นอน” นายกฯ กล่าว

การบินไทยต่ออายุไมล์สะสมรอยัล ออร์คิด พลัส ถึงสิ้นปี 2563

การบินไทย ขยายอายุไมล์สะสมที่หมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นกรณีพิเศษ โดยสามารถเก็บไมล์สะสมดังกล่าวไว้สำหรับแลกรางวัลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกที่สะสมไมล์ รอยัล ออร์คิด พลัส ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้ต้องเลื่อนแผนการเดินทางออกไป และทำให้มีระยะเวลาการใช้ไมล์สะสมเพื่อแลกรางวัลต่างๆ ของรอยัล ออร์คิด พลัส ลดน้อยลง

และเพื่อเป็นการขอบคุณและตอบแทนสมาชิกที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

CPF ร่วมปฏิญญาความปลอดภัยในการจัดส่งอาหาร

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มอบปฏิญญาความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยการให้บริการจัดส่งอาหาร แก่ ซีพีเอฟ โดยมี นางณัฐฐินี ชวนะนิกุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านโลจิสติกส์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนร้านซีพี เฟรชมาร์ท เป็นผู้รับมอบ

ปฏิญญาดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนอยู่กับบ้าน และคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัยในการส่งสินค้าโดยเฉพาะอาหาร ว่าจะต้องไม่นำเชื้อมาส่งถึงบ้าน หรือไม่นำเชื้อไปติดยังร้านค้า

ทั้งนี้ ร้านซีพี เฟรชมาร์ท ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคและพนักงาน จึงวางกฏข้อบังคับให้พนักงาน CP Freshmart Delivery จัดส่งอาหาร โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อโควิด19 อย่างเคร่งครัดตามปฏิญญา เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายพนักงานทุกวัน พนักงานจัดส่งอาหารต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคก่อนส่งมอบอาหารให้ผู้บริโภค เว้นระยะห่างในการส่งสินค้าแก่ผู้รับบริการ ส่งเสริมการชำระค่าบริการทางดิจิตอล ผู้บริโภคจึงใช้บริการจัดส่งสินค้าได้อย่างมั่นใจ

ซีพีเอฟ ทุ่มอีก 200 ล้านบาท ส่งอาหารปลอดภัย ดูแลครอบครัวหมอ พยาบาล หลังเดินหน้าส่งให้รพ.ทั่วประเทศ

ประกาศเดินหน้าโครงการ 2 “ซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาลและครอบครัวหมอ-พยาบาล“

ซีพีเอฟ ประกาศเดินหน้าโครงการสอง “ซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาลและครอบครัวหมอ-พยาบาล“ เพื่อส่งต่อความห่วงใยไปยังครอบครัวของบุคลากรที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ย่อท้อ โดยเปิดตัวโครงการนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข มี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงฯ ร่วมด้วยนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ ประธานกรรมการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพีออลล์

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟภูมิใจที่ได้มีส่วนในการสนับสนุนรัฐบาล เพื่อเดินหน้าต่อสู้วิกฤตโรคระบาด ภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิค19” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยการส่งมอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย เพื่อดูแลสุขภาพของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐที่มีผู้ป่วยโควิด19 ทั่วประเทศ จำนวน 88 แห่ง และส่งอาหารให้ผู้เฝ้าระวังตนที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน อีกกว่า 20,000 คน ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการเข้มงวดในการคัดกรองเพื่อชะลอผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้ผู้รับบริการส่วนนี้ลดลงมาก บริษัทจึงขอยุติการส่งมอบอาหารในกลุ่มนี้ เพื่อร่วมดูแลการส่งมอบอาหารให้กับโรงพยาบาลของรัฐต่อไปอย่างเต็มที่

ซีพีเอฟ จะขยายการสนับสนุนอาหารให้ครอบคลุมไปยังครอบครัวของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด ภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ ส่งอาหารจากใจให้โรงพยาบาลและครอบครัวหมอ-พยาบาล” เพื่อให้คนในครอบครัวได้รับอาหารที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ โดยแพทย์และพยาบาลสามารถลงทะเบียนและติดตามเงื่อนไขได้ที่ไลน์ ซีพี เฟรชมาร์ท http://bit.ly/2PFFcyB หรือ สายด่วนฮอตไลน์ โทร.1788 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินงานโครงการทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท

และ พร้อมเป็นตัวกลางให้กับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยใช้เครือข่ายการกระจายสินค้า (Logistic Network) ของซีพีเอฟ ผู้ประสงค์จะบริจาคสามารถแจ้งความจำนงได้ที่ โทร. 083-989-0010

ด้านนายสุภกิต เจียรวนนท์ กล่าวย้ำว่า เครือซีพี ยังคงมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือในทุกด้านให้มากกว่านี้ และขอเป็นกำลังใจให้แพทย์และพยาบาลทั่วประเทศที่เสียสละ

นพ.สุขุม ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า การที่แพทย์ได้รับความช่วยเหลือจาก ซีพี ทำให้มีกำลังใจ และมั่นใจว่าความร่วมมือกันจะทำให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้ และยังแสดงให้เห็นถึงน้ำใจคนไทย

แนะวิธีใช้คอมพิวเตอร์ให้ประหยัดไฟ ช่วงทำงานอยู่กับบ้าน

How to ใช้คอมพิวเตอร์อย่างไร ให้ประหยัดไฟ กับช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19

หลังจากที่ สถานการณ์โรคติดต่อโควิด-19 เริ่มมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้หลายๆ หน่วยงานพิจารณาออกมาตรการให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้าน เพื่อช่วยลดความแออัดของประชาชนในการเดินทางมาทำงาน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งหลายคน ก็มีการปรับวิถีชีวิตมาทำงานที่บ้านกันสักระยะแล้ว และคงเกิดความกังวลกับค่าไฟฟ้าในบ้านที่ต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนนี้ค่าไฟพีคสุดๆ

คอมพิวเตอร์ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเกือบทุกบ้าน และยิ่งทำงานที่บ้านแล้ว จะต้องมีการใช้งานประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

กระทรวงพลังงานจึงหยิบ 5 คำแนะนำดีๆ ในการดูแลคอมพิวเตอร์ให้ประหยัดไฟได้มากขึ้น ดังนี้

1. อย่าเปิดคอมพิวเตอร์และหน้าจอทิ้งไว้หากยังไม่ใช้งาน โดยให้ปิดจอภาพเมื่อไม่ใช้งานเกินกว่า 15 นาที และถอดปลั๊กทั้งหมดเมื่อเลิกใช้งานแล้ว
2. ตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ในบริเวณที่มีการระบายความร้อนได้ดี เพื่อให้เครื่องทำงานไม่หนักจนเกินไป
3. ควรตั้งระบบ Screen Saver เพื่อรักษาคุณภาพของหน้าจอ และตั้งโหมดประหยัดพลังงานเพื่อให้เครื่องหยุดทำงานชั่วขณะเมื่อไม่ได้ใช้งานในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น ช่วงพักเที่ยง
4. เลือกใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบประหยัดพลังงาน โดยสังเกตสัญลักษณ์ Energy Star เพราะระบบนี้จะใช้กำลังไฟฟ้าลดลงร้อยละ 55 ในขณะที่รอทำงาน
5. ควรเลือกซื้อจอภาพที่มีขนาดที่เหมาะสมกับลักษณะงาน เพราะหากเลือกซื้อขนาดใหญ่เกินความจำเป็น จะเสียค่าไฟโดยใช่เหตุ เช่น จอภาพขนาด 14 นิ้ว จะใช้พลังงานน้อยกว่าจอภาพ ขนาด 17 นิ้ว ถึงร้อยละ 25

หากเรารู้จักวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมแล้ว ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงในบ้านได้เยอะ แถมยังคลายความกังวลเรื่องค่าไฟไปได้อีกเปราะหนึ่งเลยนะครับ

ที่มา กระทรวงพลังงาน

กระแสตอบรับกองทุน BEQSSF ดี ขาย IPO ต่ออีกสองวัน 7-8 เม.ย.

แนะนำลงทุนในหุ้น 10 ปีมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ Head of Business Distribution บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า จากการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) “กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นไทยเพื่อการออม” หรือ ‘BEQSSF’  ตั้งแต่ 1-3 เมษายน 2563  พบว่า นักลงทุนให้การตอบรับเป็นอย่างดี  โดยจะเปิดเสนอขาย IPO ต่ออีก 2 วัน คือ วันที่ 7-8 เมษายน นี้ สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เฉพาะวงเงินพิเศษ ไม่เกิน 200,000 บาท ยังสามารถไปลงทุนได้ที่ธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งตัวแทนขายหน่วยลงทุนทุกแห่ง

สำหรับคำแนะนำหลักการง่ายๆสำหรับผู้ลงทุนที่จะลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund หรือ SSF พิเศษ)  คือ

1. ผู้ลงทุนต้องเป็นบุคคลธรรมดา เพราะว่า ภาครัฐตั้งใจจะให้นำรายการนี้ไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา
2. กองทุนนี้ มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องมีความสามารถในการยอมรับ      ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้
3. เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องลงทุน 10 ปี จึงจะสามารถขายหน่วยลงทุนนี้ได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องวางแผน อีกทั้งมั่นใจว่า จะไม่ใช้เงินก้อนนี้ในช่วงระยะเวลา 10 ปี   นับจากนี้ไป 

4. วงเงินที่รัฐบาลอนุญาตให้ลงทุนผ่านกองทุน SSF พิเศษ คือ 200,000 บาท โดยไม่ขึ้นอยู่กับวงเงินลดหย่อนใดๆ เลย และไม่ขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ลงทุนด้วย
5. หากต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก SSF พิเศษ จะต้องลงทุน ภายในวันที่ 1 เมษายน  ถึง 30 มิถุนายน 2563 นี้ เท่านั้น 

ทั้งนี้ ได้รับการสอบถามจากผู้ลงทุนมามาก ว่า การลงทุนใน SSF พิเศษ คุ้มค่าและน่าลงทุนหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลา 10 ปี ในประเด็นนี้ ขอให้คำแนะนำว่า ผู้ลงทุนต้องรู้และเตรียมใจไว้ก่อน ว่า จะไม่ใช้เงินก้อนนี้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีจากนี้ เมื่อมั่นใจแล้ว ให้คิดว่า การลงทุนครั้งนี้ เหมือนการปลูกต้นไม้ ที่เรานำต้นกล้าลงไปปักบนพื้นดิน แล้วรอเวลาให้ต้นไม้เติบโต ด้วยเหตุนี้ จึงอยากให้ผู้ลงทุน มองว่า การลงทุนในกองทุน BEQSSF ซึ่งเป็นกองทุน SSF พิเศษครั้งนี้ คุ้มค่าและมีโอกาสมากกว่า

“หลายคน ถามว่า จะลงทุนในหุ้นเวลานี้ ก็ยังกลัวๆ กล้าๆ แล้วจะมั่นใจได้ 100% หรือไม่ว่า จะกำไร  ก็ต้องบอกกับผู้ลงทุนว่า ในทุกๆ ช่วงของเศรษฐกิจ เวลาเราตัดสินใจลงทุนไป จะเกิดผลด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะสมหวัง หรือผิดหวัง หรือเฉยๆ หากลงทุนแล้ว ราคาขึ้นมากกว่าที่เราซื้อไว้ เราก็ดีใจ ถ้าเกิดราคาต่ำกว่า เราก็รู้สึกว่า ผิดหวัง แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ลงทุน แล้วราคาขึ้น เราอาจรู้สึกเสียดาย หรืออาจจะนึกในภายหลังว่า รู้อย่างนี้น่าจะลงทุนแล้ว สำหรับกองทุน BEQSSF ใช้เวลาลงทุน 10 ปี  ดังนั้น ก็น่าจะมีโอกาสสมหวังมากกว่าผิดหวัง” 

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดกองทุน BEQSSF หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ กองทุนบัวหลวง โทร. 0 2674 6488 กด 8หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ  ตัวแทนขายของกรุงเทพประกันชีวิต บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส  บมจ.หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ ภัทร  บจ.หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี และ บจ.หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา

คืบหน้าสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของซีพี เสร็จแล้ว 80%

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ซีพีนำเข้าเครื่องจักรถึงสุวรรณภูมิแล้ว หลัง เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และเพื่อคนไทย

โรงงานหน้ากากมีความพร้อมแล้วกว่า 80% ซึ่งขณะนี้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 เป็นการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยที่ขาดแคลนหน้ากาก ของเครือเจริญโภคภัณฑ์

ทั้งนี้ เป็นเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตหน้ากากได้เครื่องละ 50,000 ชิ้น ต่อวัน โดยซีพีได้นำเข้าเครื่องจักรเครื่องแรกมาถึงไทยแล้ว และเครื่องจักรเครื่องที่ 2 คาดว่าจะนำเข้ามาในวันที่ 9 เมษายนนี้ กำลังการผลิตของโรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรี หลังติดตั้งเครื่องจักรทั้ง 2 เครื่องแล้วเสร็จ จะอยู่ที่ 1 แสนชิ้นต่อวัน หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน

ที่ผ่านมา ซีพีได้เร่งสร้างโรงงาน พร้อมห้องปลอดเชื้อที่คืบหน้ากว่า 80% แล้ว เครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับผลิตหน้ากาก จัดส่งมาถึงโรงงาน เพื่อประกอบและทดสอบในขั้นตอนถัดไป โดยจะใช้กระบวนการเทเลคอนเฟอเรนซ์เพื่อติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการติดตั้งและปรับแต่งเครื่องจักรต่อไป

เนื่องจากในช่วงเวลานี้แต่ละประเทศได้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการเข้าออกประเทศ ทำให้กระบวนการนำเข้า มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ซีพีต้องปรับแผนเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยขนส่งเครื่องจักร จากเมืองสู่เมือง จากรถบรรทุก สู่เครื่องบิน ผ่านหลายเมือง จนสามารถนำเครื่องจักรเข้ามาถึงไทยได้

ขยายเวลายื่นภาษี ให้ผู้ประกอบการทั่วไป สู้โควิด-19

กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้เพิ่มเติมผู้ได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรให้ครอบคลุมแก่ผู้ประกอบการเป็นการทั่วไป จากเดิมที่ให้เฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องปิด สถานประกอบตามคำสั่งของทางราชการ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอนุมัติขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรออกไปให้ครอบคลุมผู้ประกอบการเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวจากประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 25631 เพื่อช่วยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVId-19) ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ผู้บริหารหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องการยื่นแบบภาษีต้องถูกกักตัวจาก COVID-19 จนไม่สามารถทำงานได้หรือสำนักงานบัญชีที่ไม่สามารถเข้าไปในสถานประกอบการเพื่อเตรียมทำบัญชีและภาษี หรือสถานประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกันกับสถานประกอบการที่ถูกปิดกิจการ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่รณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน และให้ผู้ประกอบการพิจารณาให้ลูกจ้างทำงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดจาก COVID-19

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีอากรในครั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้
1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1 แบบ ภ.ง.ด. 2 แบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และแบบ ภ.ง.ด. 54) ของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นและชำระภาษีภายในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2563 ตามลำดับ ขยายออกไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าและบริการภายในประเทศ (แบบ ภ.พ. 30) ของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นและชำระภาษีภายในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2563 ตามลำดับ ขยายออกไปถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563
2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ (แบบ ภ.พ. 36) ของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นและชำระภาษีภายในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2563 ตามลำดับ ขยายออกไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (แบบ ภ.ธ. 40) ของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2563 ที่ต้องยื่นและ ชำระภาษีภายในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2563 ตามลำดับ ขยายออกไปถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 แต่ไม่รวมถึงกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ชำระในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
4. อากรแสตมป์ (แบบ อ.ส. 4 แบบ อ.ส. 4ก และแบบ อ.ส. 4ข) ที่ต้องยื่นชำระอากรแสตมป์ภายในวันที่ 1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2563 ขยายออกไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมสรรพากรมีระบบที่สนับสนุนการยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีอากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระจัดเก็บเอกสาร รวมทั้ง ลดการเดินทางไปชำระภาษีอากรในสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสรรพากรพื้นที่สาขา

แนะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ขายออนไลน์อยู่บ้านสร้างรายได้

จากสถาการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ที่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ 

ขณะที่หลายธุรกิจต้องปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้หลายคนต้องหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน และส่วนหนึ่งกลายเป็นคนว่างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังทยอยให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการเยียวยา 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนว่างงานเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 เป็นร้อยละ 62 ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน ฯลฯ

ในฐานะหน่วงงานที่ส่งเสริมให้คนไทยใช้ออนไลน์ยกระดับคุณภาพชีวิต สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่รู้จะยุติลงเมื่อใดนี้ เพื่อหาลู่ทางให้คนที่กำลังว่างงานได้เห็นโอกาสใหม่ในการทำอาชีพทางออนไลน์

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. ที่เปรียบเทียบการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทย ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ มียอดการเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น Shopee เพิ่มขึ้นกว่า 478.6% และ Lazada เพิ่ม 121.5% สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การขายของออนไลน์สามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะกลุ่มลูกค้ามารวมกันอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว

ที่สำคัญ การขายสินค้าออนไลน์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยังมีข้อดีกว่าการขายสินค้าบนออฟไลน์ เพราะการขายสินค้าบนออนไลน์ ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง เวลามีความยืดหยุ่นทั้งกับผู้ซื้อ ผู้ขาย และยังสามารถเลือกช่องทางการขาย ทำการตลาด โฆษณาหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง

ต่างจากการขายสินค้าออฟไลน์ ที่มีข้อจำกัดคือ ต้องมีหน้าร้าน ต้องจ่ายค่าเช่า ต้องเปิดปิดตามเวลา แล้วช่วงวิกฤตเช่นนี้ ลูกค้าลดลง ส่วนสถานประกอบการ ห้าง ร้านต้องปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ขณะที่รายย่อยขาดทุนหนัก เพราะขายของไม่ได้ ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย โดยเฉพาะต้นทุนที่ต้องแบกรับในแต่ละวัน เป็นต้น

แม้จะมองเห็นโอกาส แต่จะขายของออนไลน์ประเภทให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำเดือนมีนาคม 2020 ของ aCommerce และ BRANDIQ ที่ทำดัชนีวัดการเติบโตของการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ พบว่า กลุ่มสินค้าขายดี และมีโอกาสโตในช่วงนี้ คือ กลุ่มสินค้า Healthcare และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขายได้น้อยลง และควรพักก่อนช่วงนี้ คือ กลุ่มสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม แฟชั่น และผลิตภัณฑ์เพื่อสัตว์เลี้ยง

ด้าน ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เผยว่าหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคมนี้ อัตราการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทยสูงขึ้นเกือบเท่าตัวในทุกหมวดสินค้า แต่ดูเหมือนมีหมวดเดียวเท่านั้นที่อัตราการซื้อลดลงคือ หมวดสุขภาพความงาม เนื่องจากอาจเป็นเพราะคนอยู่บ้านและที่พักมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องแต่งสวย-หล่อ เหมือนออกนอกบ้าน ถือเป็นจังหวะดีที่ผู้ประกอบการ รวมถึงคนว่างงาน จะพลิกวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาส ทำตัวเองให้รอดด้วยการเปลี่ยนมาทำธุรกิจจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ 

อย่างไรก็ตาม การจะทำธุรกิจออนไลน์ให้รอดถึงฝั่งฝันในช่วงวิกฤตโควิด-19  สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ต้องคำนึง นอกจากการปรับกลยุทธ์การขายให้สอดคล้องตามความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ของที่นำมาขายต้องไม่ผิดกฎหมาย สินค้าและบริการต้องดี มีมาตราฐาน และหากยังไม่มีความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซเพียงพอ ไม่รู้จะนำสินค้าขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างไร เรียนรู้ฟรีที่เว็บไซต์ SME Go Online หลักสูตรอีคอมเมิร์ซเพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs/OTOP

ที่มา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

คอบช. ติงกสทช. แจกเน็ตฟรี เอื้อรายได้ให้กับค่ายมือถือ แนะลดค่าบริการจะช่วยเหลือปชช.ได้ตรงกว่า

รศ.รุจน์  โกมลบุตร กรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เปิดว่า การที่ กสทช. มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้นเป็นสัญญาณที่ดี แต่มาตรการที่เลือกใช้อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากมิใช่ว่าผู้บริโภคทุกรายจะจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตปริมาณมาก มาตรการดังกล่าวจึงอาจตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้เท่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้บริการทั่วไปอาจไม่ได้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์เทียม ๆ กล่าวคือ ได้กดรับสิทธิ์ แต่ไม่มีการใช้งานหรือใช้ได้ไม่เต็มจำนวน โดยที่ กสทช. กลับต้องอุดหนุนในลักษณะเหมาจ่ายให้กับบริษัท เท่ากับผู้ประกอบการได้ผลประโยชน์แบบเต็มที่และหลายต่อ ทั้งขายบริการได้มากขึ้น หรือรับเงินเกินกว่าบริการที่มีการให้บริการจริง เป็นต้น

“การเพิ่มปริมาณอินเทอร์เน็ตไม่ได้ช่วยผู้บริโภคทั่วไปในภาวะยากลำบากนี้ หรือแม้แต่ผู้ที่ตามปกติต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตปริมาณมาก เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือส่วนใหญ่ก็มักใช้แพ็กเกจที่ให้ปริมาณอินเทอร์เน็ตต่อเดือนเพียงพออยู่แล้ว มาตรการของ กสทช. จึงเหมือนการช่วยผู้ประกอบการขายของ โดยเสนอของชนิดเดียวใส่มือประชาชนทุกคน พร้อมกับบอกว่ารับฟรี ๆ ซึ่งตามพฤติกรรมคนทั่วไปก็ย่อมจะรับมาโดยไม่ได้คำนึงถึงว่ามีความต้องการใช้ของนั้นจริงไหม หรือรับมาแล้วจะต้องใช้เต็มที่หรือไม่” รศ.รุจน์กล่าว

และในส่วนการปรับเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้าน 100 Mbps เป็นมาตรการที่ชวนตั้งคำถามเช่นกัน เนื่องจากประชาชนที่ยากลำบากของประเทศไม่ใช่ผู้เข้าถึงบริการดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ส่วนใหญ่ก็ใช้แพ็กเกจที่กำหนดความเร็วไว้มากกว่า 100 Mbps ขณะที่ถ้าเป็นบริการแบบ ADSL/VDSL/Copper (เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่) ต่อให้ปรับความเร็วสูงสุดก็ทำได้ไม่ถึง 100 Mbps