Home Blog Page 48

ธ.ก.ส. พักเงินต้นและดอกเบี้ยให้ SMEs เกษตร ออกสินเชื่อดบ.ต่ำ 2% ปลอดดบ. 6 เดือนแรก

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เห็นชอบให้ตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และมีผลบังคับ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการมาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ และการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 และปัญหาอื่น ๆ ให้มีเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ช่วยรักษาระดับการจ้างงาน และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดย ธ.ก.ส. พร้อมให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการ ดังนี้

1) มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจ SMEs โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน ตั้งแต่เมษายน ถึง กันยายน 2563 แบบอัตโนมัติทุกราย ให้กับลูกค้า SMEs และ SMEs เกษตร ของ ธ.ก.ส. ได้แก่ เกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน และสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ประกอบธุรกิจในกระบวนการรวบรวม การแปรรูป การตลาด และการบริการที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสถานะหนี้ไม่เป็น NPLs ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งผู้ค้ำประกันไม่ต้องลงนามสัญญา อีกทั้งลูกหนี้ที่ได้รับสิทธิ์จะไม่ถูกรายงานเครดิตบูโรเป็น NPLs ทั้งนี้ หากลูกหนี้ประสงค์ชำระค่างวดในช่วงของการพักชำระหนี้ ไม่ถือว่าลูกหนี้ สละสิทธิ์ในการร่วมโครงการ โดย ธ.ก.ส. ยังคืนดอกเบี้ยให้ร้อยละ 10 ของเงินที่ส่งชำระ (Cash Back)

2) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ในการดำเนินธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ปลอดชำระคืนดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยไม่เรียกหลักประกันเพิ่ม ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจทุกประเภทสามารถใช้บริการตามมาตรการดังกล่าว ยกเว้นวงเงินหนังสือ ค้ำประกัน วงเงิน A – Cash บัตรเกษตรสุขใจ บุคลากรภาครัฐ สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ โดยสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับมาตรการสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาต้นสังกัด หรือศูนย์ธุรกิจ ธ.ก.ส. ประจำจังหวัด ใกล้บ้านท่าน

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 นายอภิรมย์กล่าว

ก.ล.ต. ติดตามตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง บรรเทาผลกระทบโควิด-19

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามสถานการณ์ของตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง (unrated และ non-investment grade) มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประสานงานกับบริษัทผู้ออกตราสาร บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาแนวทางเพื่อลดและจำกัดผลกระทบในวงกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยมาตรการที่ ก.ล.ต. ดำเนินการที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้

1.ติดตามสถานการณ์และผู้ออกตราสารอย่างใกล้ชิด

2. ก.ล.ต. ตั้ง #ศูนย์ประสานงานหุ้นกู้ : ติดต่อสอบถามและให้คำแนะนำผู้ออกตราสาร กรณีคาดว่าจะไม่สามารถ rollover ได้

3. จัดตั้ง คณะกรรมการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ : ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ยกระดับ ecosystem ของตลาดตราสารหนี้ และช่วยหาแนวทางแก้ปัญหาเป็นรายกรณีหากจำเป็น

4. แนะนำ #ผู้ออกตราสาร #ตัวกลางในการขาย #ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ : แนวทางการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ การมอบฉันทะ การจัดประชุมแบบ e-meeting กรณีผู้ออกต้องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อแก้ไขข้อกำหนดสิทธิในเรื่องต่าง ๆ

5. กำชับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ทำหน้าที่ #รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้

ชงแผนฟื้นฟูการบินไทยให้คนร.พิจารณา 29 เม.ย.นี้

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (24 เม.ย.) มีการประชุมติดตามแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงคมนาคม โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย

ภายหลังการประชุม นายศักดิ์สยาม รมว.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รายละเอียดในแผนฟื้นฟูยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่สามารถเปิดเผยได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จทันต่อการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาได้ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยกลับมาเข้มแข็งได้

การบินไทยจัดให้ อยู่บ้านก็ได้ไมล์สะสม

การบินไทย ร่วมกับ วันเดอร์แมน ธอมสัน เปิดแคมเปญ “เก็บตัว เก็บไมล์ ช่วยชาติกับการบินไทย” มอบไมล์สะสมรอยัล ออร์คิด พลัส 1 ไมล์ ทุก 4 ชั่วโมงที่อยู่บ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน “THAI Stay Home Miles Exchange” เพื่อไว้ใช้เดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย หรือเก็บไว้แลกโรงแรมที่พักหรือของรางวัลอื่นๆ ตามเงื่อนไข

เก็บสะสมไมล์ระหว่างเก็บตัวอยู่บ้านได้ง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน THAI Stay Home Miles Exchange
• ระบบ Android: ดาวน์โหลดที่ bit.ly/THAIStayHome และร่วมแคมเปญได้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2563 – 23 พฤษภาคม 2563
• ระบบ IOS: ดาวน์โหลดที่ App Store และร่วมแคมเปญได้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2563 – 26 พฤษภาคม 2563

2. ค้นหาตำแหน่งบ้านหรือที่พักอาศัย (หากระบุตำแหน่งแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้) จากนั้นแอปพลิเคชันจะเริ่มเก็บข้อมูล หากผู้ใช้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว หรือเคลื่อนที่ในรัศมีไม่เกิน 100 เมตร ระบบจะสะสมไมล์อย่างต่อเนื่อง แต่หากออกจากตำแหน่งดังกล่าว ระบบจะแจ้งเตือนและหยุดสะสมไมล์

3. หลังสิ้นสุดแคมเปญ (หรือเมื่อจำนวนไมล์สะสมในแคมเปญ รวม 500,000 ไมล์สำหรับแต่ละระบบปฏิบัติการ หมดลง) ระบบจะโอนไมล์สะสมรอยัล ออร์คิด พลัส เข้าบัญชีสมาชิกภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 (หากท่านยังไม่มีบัญชีสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส

รายละเอียดเพิ่มเติม ?? bit.ly/ROP-THAISHME

สงวนสิทธิ์การเข้าร่วมแคมเปญเฉพาะสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น 
สมัครสมาชิก ?? bit.ly/ROP-Enroll

บีทีเอสกรุ๊ป มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และอสม.

รายงานข่าว เปิดเผยว่า วันที่ 24 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมมอบกองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้กับ อสม. โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมด้วย

โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชน คือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ ได้มอบ

  • 1.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับแพทย์และพยาบาล จำนวน 50,000,000 บาท
  • 2.กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้ช่วยพยาบาล เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิค จำนวน 10,000,000 บาท
  • 3.กองทุนสนับสนุนและเยียวยาให้แก่อสม. จำนวนเงิน 10,000,000 บาท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ และตอบแทนการกระทำความดีของบุคลากรสาธารณสุขทั้งระบบ จำนวน 400,000 คน และ อสม. จำนวน 1,040,000 คน ที่เป็นกำลังหลักของประเทศ ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งและเสียสละ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าว ชื่นชมและขอบคุณ บุคลากรทุกภาคส่วนที่ได้ เสียสละ อุทิศตน ในการเฝ้าระวังคัดกรองโควิด19 ทำให้สถานการณ์ในประทศดีขึ้น อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลก็ไม่ได้ประมาท ได้มีการเตรียมการวางแผนร่วมกันกับทั้งภาคเอกชน สังคม อย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำ สุขภาพ สำคัญที่สุด รองลงมาคือเรื่องเศรษฐกิจ

และขอบคุณที่บริษัท BTS ได้เข้ามาช่วยเหลือบุคคลากรสาธารณสุข โดย มอบกรรมธรรม์ เงินช่วยเหลือเยียวยา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมมือในการเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจต่อไป

สำนักการบินพลเรือน เตรียมม.รับมือสายการบินกลับมาเปิดบริการ 1 พ.ค. ตั้งกฏนั่งเว้นที่ ห้ามเสิร์ฟอาหาร

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) เปิดเผยว่า วันนี้ (23 เม.ย.) กพท. ได้เชิญสายการบินสัญชาติไทยและต่างชาติ กว่า 20 สายการบิน มาทำความเข้าใจถึงมาตรการควบคุมโรค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 หลังจากที่สายการบินส่วนใหญ่ได้ประกาศหยุดให้บริการชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

แม้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะลดลง และสายการบินภายในประเทศเตรียมกลับมาให้บริการได้ แต่ทุกสายการบินยังจะต้องปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยให้ขายบัตรโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่ง เมื่อถึงช่วงเดินทางต้องรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร (Social Distancing) ทุกขั้นตอนตั้งแต่การเช็กอิน การขึ้นและลงเครื่องบิน จะไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน ทั้งนี้เส้นทางที่มีระยะเวลาการบินเกินกว่า 90 นาทีสายการบินจะต้องกันที่นั่งแถวหลังไว้พิเศษสำหรับแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบิน

สำหรับลูกเรือ ต้องสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ และเครื่องป้องกันบริเวณใบหน้า (Face shield) ส่วนผู้โดยสารต้องรับผิดชอบสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง และไม่สามารถนำอาหารของตนเองมารับประทานบนเครื่องบินได้

ทั้งนี้ ขอให้ผู้โดยสารตรวจสอบเที่ยวบินที่ให้บริการในประเทศกับสายการบินโดยตรง เนื่องจากอาจจะยังไม่เปิดให้บริการในทุกเส้นทาง และสามารถติดตามประกาศการเดินทางทางอากาศที่เกี่ยวกับ โควิด-19 ได้ที่ www.caat.or.th/corona

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 1)

  • โลกหลังวิกฤติ Covid-19 จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอนโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐาน (Fundamental Changes)ในชีวิตและสังคมของมนุษย์
  • สรุปประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลง 8 ประการ ของคุณ Suzy Taherian จากบทความในนิตยสาร Forbes, “The New World : How The World Will Be Different After COVID-19”

ในระหว่างการเกิดวิกฤติ Covid-19 ขึ้นนี้ ทุกคนก็คงพอจะเห็นแล้วว่าโรคระบาดนี้ทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงไปทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่เรื่องการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่การป้องกันโดยใช้มาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ทำให้ส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่สิ่งที่ตามมาที่เราเห็นก็คือการว่างงานจำนวนมหาศาลเพราะหลายธุรกิจต้องหยุดหรือชะลอการดำเนินงาน มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบอย่างมาก และคงเป็นไปอย่างนี้จนกว่าจะได้มีการผลิตวัคซีนหรือยาออกมาปราบไวรัสตัวนี้ ซึ่งทางวงการแพทย์เองต่างก็คาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งในระหว่างนี้ทุกประเทศก็คงบอบช้ำกันไปตามๆ กัน

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า โลกหลังวิกฤติ Covid-19 จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน เพราะถ้าสังเกตดู ระหว่างวิกฤติ Covid-19 นี้ มีหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป และอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐาน (Fundamental Changes) ในชีวิตและสังคมของมนุษย์ จนหลายๆ คนเชื่อว่า เรากำลังก้าวไปสู่โลกใหม่ (A NewWorld) ในตอนที่1 นี้ ผมขอนำข้อคิดวิเคราะห์และข้อสรุปจากบทความในนิตยสาร Forbes, 7 April 2020 ชื่อ “The New World : How The World Will Be Different After COVID-19” เขียนโดย Suzy Taherian ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไว้ 8 ประการดังนี้

  1. ธุรกิจจะหันมาใช้คู่ค้าในประเทศมากขึ้น (Supply chains will be local ratherthan global) ในช่วงเวลาที่ผ่านมาโลกพยายามเปิดเสรีทางการค้าและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันในระดับ Global ตัวอย่างเช่น การสร้างการค้าขายแบบ Online Shopping ซึ่งทำให้เกิดคู่ค้าที่เกี่ยวข้องไปทั่วโลก ทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค แบบไร้พรมแดน แต่การมาของไวรัส Covid-19 ถือว่าได้เข้ามาทำลายห่วงโช่อุปทานระหว่างประเทศ บริษัทในประเทศที่เคยพึ่งพิงForeign Suppliers เกิดความเสี่ยงที่ไม่สามารถค้าขายกันได้ระหว่างเกิดโรคระบาด ต้องหันมาทบทวนการลดความเสื่ยงลงโดยหันมาใช้ Local Suppliers มากขึ้น แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม
  2. ร้านค้าปลีกจะหันมาค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้น (Shop, work and play online) ระหว่างที่เกิดโรคระบาดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ร้านค้าปลีกในลักษณะ Physical Stores เริ่มสูญเสียอำนาจการแข่งขันไปให้กับ Online Shopping เพราะผู้คนเกิดความไม่สะดวกในการออกไปจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งโดนมาตรการปิดเมืองทำให้ต้องปิดหน้าร้านระหว่างเหตุการณ์ระบาดของโรคกลุ่มร้านค้าปลีกเหล่านี้จำนวนมากในตอนแรกถือว่าปรับตัวกับการค้าขาย Online ได้ช้าที่สุด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้กลุ่มร้านค้าเหล่านี้ปรับตัวมาทำ Online Commerce ได้เร็วขึ้น บรรดาร้านค้าเหล่านี้ในอนาคตจะทำธุรกิจทั้งในแบบหน้าร้านและ Online จะไม่มีทางหวนกลับไปทำการค้าในลักษณะ In-store อย่างเดียว ผลกระทบที่ว่านี้นอกเหนือจากมีต่อ Physical Stores แล้ว ยังส่งผลทางลบต่อบรรดาศูนย์การค้าทั้งหลายที่เรียกว่า Commercial Real Estate ที่มีบรรดาร้านค้าต่างๆ ไปตั้งอยู่ในนั้นก็จะต้องปรับตัวตามไปด้วย
  3. การฟื้นฟูความเชื่อมั่นต้องใช้เวลา (Loss of trust will take time to recover) เหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ได้ลดทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไปทุกหย่อมหญ้า ลองคิดดูว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดที่คนจะกล้ากลับไปขึ้นเรือสำราญเพื่อท่องเที่ยวอีกครั้ง หรือการที่จะเปิดบ้านให้ลูกค้าที่เป็นคนแปลกหน้าเข้ามาเช่าห้อง หรือเช่าบ้าน หรือบางประเทศที่ได้ผลกระทบมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จะกล้าเปิดประเทศอย่างเต็มที่เพื่อรับนักท่องเที่ยวอีก การฟื้นฟูความเชื่อมั่นนี้ต้องใช้เวลา มีการคาดการณ์กันว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี หลังวิกฤตินี้
  4. ความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีจะเพิ่มโอกาสให้แรงงานที่ปรับตัวได้ (Digital divide will become a chasm) ความรู้และทักษะด้าน IT จะสำคัญมากในยุคต่อไป จะทำให้เกิดช่องว่างแบ่งคนออกเป็นคนที่ใช้มันได้อย่างคล่องแคล่วและคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งคนที่ปรับตัวและใช้ได้จะมีโอกาสได้งานมากกว่า ต่อจากนี้ไปคนจะเริ่มทำงานและเรียนรู้ทาง Online กันมากขึ้น เพราะในช่วงโรคระบาดมันได้พิสูจน์แล้วว่าคนทำงานอยู่ที่ใดก็ได้
  5. การลงทุนจะหันมามุ่งเน้นกับตลาดในประเทศมากขึ้น (Home-bias will increase dramatically) เหตุการณ์โรคระบาดนี้จะกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก เพราะทำให้บรรดานักลงทุนหันมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงว่า การลงทุนแบบใกล้บ้าน (Closer to home) น่าจะเข้าใจง่ายกว่าการออกไปลงทุนไกลๆ ในประเทศอื่น นักลงทุนจึงถูกคาดการณ์ว่าจะหันมาลงทุนในตลาดในประเทศมากขึ้น
  6. ระบบสวัสดิการทางสาธารณสุขจะถูกยกระดับมาตรฐานให้ประชาชน (Healthcare for all becomes a more standard view) ก่อนการเกิดโรคระบาด การออกสวัสดิการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนทุกคนที่เรียกว่า Universal Healthcare ถูกมองว่าเป็นความสิ้นเปลือง แต่เมื่อเกิดเรื่อง Covid19 และมีการพูดเรื่อง Free Testing ให้แก่ประชาชนทุกคน ก็อาจมีปัญหาว่าไม่ได้เตรียมการไว้และไม่มีงบประมาณเพียงพอ ในอนาคตรัฐบาลประเทศต่างๆ จะหันมาทำนโยบายสาธารณสุขให้มีลักษณะ A Good Healthcare System ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูงขึ้น
  7. การพัฒนาระบบสวัสดิการแรงงานจะเข้มแข็งขึ้นเพราะจะมีคนตกงานมหาศาลเป็นเวลานาน (Unemployment benefit is not just for the lazy) ในภาวะปกติของระบบเศรษฐกิจเราอาจมีคนว่างงานอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีคนที่อาจจะไม่ค่อยขยันปนอยู่ และต้องการรับสวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ แต่เหตุการณ์ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจ แรงงานมีการตกงานจำนวนมากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนและเข้ามาขอรับความช่วยเหลือหรือเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก และจะกลายเป็นภาระหนี้สาธารณะของประเทศต่อไป ในระยะต่อไปประเทศต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาฐานข้อมูลและระบบการจ่ายสวัสดิการแรงงานให้มีมาตรฐานดีกว่าเดิม เพื่อให้การจ่ายเงินหรือทรัพยากรต่างๆ เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
  8. ธุรกิจประกันภัยจะได้รับความสำคัญมากขึ้น (Insurance takes center stage) ในอดีตที่ผ่านมาบุคคลและธุรกิจมักจะมองเรื่องความเสี่ยงและการทำประกันภัยเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และเห็นว่าการใช้บริการด้านการประกันภัยเป็นเรื่องการมองโลกในแง่ลบเกินไป แต่การเกิดโรคระบาดในครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างเกินกว่าจะประเมินมูลค่าได้ไปทุกที่ทั่วโลก ใครที่บริหารความเสี่ยงได้ดี มีการทำประกันภัยไว้เหมาะสมก็อาจสามารถบรรเทาผลกระทบตอนนี้ได้ดีกว่าการบริหารความเสี่ยงถูกคาดหมายว่าจะเป็น A Core Activity ในโลกใหม่ต่อไป แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจประกันภัย แต่บริษัทประกันภัยเองก็จะเข้มงวดมากขึ้นในการรับประกันภัยและการบริหาร Exposure ที่จะเกิดขึ้น

โดยธรรมชาติในระหว่างสงครามซึ่งมีความยากลำบาก บรรดาผู้คนก็มักจะปรารถนาจะให้มีสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า ที่เรียกว่า Rebirth หรือ Renewal ให้เกิดขึ้น และเมื่อสงครามยุติก็มักจะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า A Post-war Boom เกิดตามมาเพราะได้ผ่านพ้นความเจ็บปวดที่ผู้คนล้มตาย และเมื่อความสงบสันติได้เข้ามา
ผู้คนจะรู้สึกอยากระเบิดพลังฝ่ายดี (Creative Energy) ออกมา และกระตือรือล้นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ มีสินค้าและบริการใหม่ๆ คนจะอยากกลับไปทำงาน บริโภค พักผ่อน ท่องเที่ยว และการลงทุนก็จะกลับมา

Credit : Forbes, Suzy Taherian
โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กสิกร ปล่อยสินเชื่อใหม่เสริมสภาพคล่อง คิดดอก 2% นาน 2 ปี สินเชื่อเดิมพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

กสิกรไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ให้รอด ภายใต้โครงการ “รวมใจไม่ทิ้งกัน” พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับวงเงินสินเชื่อเดิม พร้อมปล่อยกู้สินเชื่อใหม่เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ วงเงินสูงสุด 20% ของยอดกู้คงค้าง ดอกเบี้ย 2% 2 ปี ฟรีดอกเบี้ยและไม่ต้องชำระเงินต้น 6 เดือนแรก เริ่ม 27 เม.ย.นี้

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ธนาคารพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจของธนาคารอย่างต่อเนื่อง โดยการช่วยเหลือรอบนี้แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 6 เดือน สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องแจ้งมาที่ธนาคาร ซึ่งจะมีลูกค้าธุรกิจของธนาคารที่ได้สิทธิ์ในมาตรการนี้ ประมาณ 140,000 ราย โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบสิทธ์ได้ที่ www.kasikornbank.com/checkingrescue

นอกจากนี้วงเงินสินเชื่ออื่น ๆ ของลูกค้าที่มีสินเชื่อธุรกิจกับธนาคาร ก็จะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยครอบคลุมถึงสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเงินด่วน ให้เข้ามาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย

มาตรการที่ 2 คือ การให้สินเชื่อใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เนื่องจากตอนนี้อยู่ในช่วง shut down หลายธุรกิจจึงประสบปัญหาในการสร้างรายได้ หรือรายได้ที่ได้รับไม่เท่าเดิม จึงทำให้ลูกค้าไม่มีเงินหมุนเวียนในการใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งเงินในการจ้างพนักงาน ธนาคารจึงสนับสนุนการให้สินเชื่อใหม่เพื่อใช้เพิ่มสภาพคล่อง ประคับประคองให้อยู่รอดทั้งธุรกิจและพนักงาน โดยให้วงเงินสินเชื่อ 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี ฟรีดอกเบี้ยและไม่ต้องชำระเงินต้น ใน 6 เดือนแรก สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท ลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถตรวจสอบสิทธิ์และสมัครได้ที่ www.kasikornbank.com/BOtSoftLoan ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน

นอกจากนี้ ลูกค้าที่ประเมินแล้วว่าตนเองอาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างยาว หรือต้องการความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระ หรือมีหลักประกันจำกัด ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนสินเชื่อใหม่ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยใช้ บสย. ค้ำประกัน

ก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ออกมาตรการให้การช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจไปแล้ว จำนวน 11,000 ราย ยอดหนี้คงค้าง 147,000 ล้านบาท และให้วงเงินสินเชื่อใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออมสิน จำนวน 3,600 ราย วงเงิน 14,800 ล้านบาท และโครงการ บสย. SME สร้างไทย จำนวน 2,150 ราย วงเงินอนุมัติ 6,700 ล้านบาท

คาเฟ่ อเมซอน มอบหน้ากากผ้าและแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) มอบหน้ากากผ้ามัสลิน คาเฟ่ อเมซอน จำนวน 10,000 ชิ้น และ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือผสมแอลกอฮอล์ 70% จำนวน 180 ขวด แก่ นายพิทยา ศรีโกตะเพชร ที่ปรึกษาสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสรรให้ผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกของสมาคม สำหรับใช้ในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดโรคโควิด-19 ต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คาเฟ่ อเมซอน ได้มอบกาแฟดริปคาเฟ่ อเมซอน ซิกเนเจอร์ จำนวนรวม 47,000 ซอง รวมทั้งปั้นขลิบ และขนมปังกรอบ คาเฟ่ อเมซอน ซึ่งผลิตโดย SMEs ไทย จำนวนรวม 3,120 ชุด รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งถือเป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยงแนวหน้าในการต่อสู่กับโรคโควิด-19 อีกด้วย คาเฟ่ อเมซอน ขอส่งความห่วงใยไปยังคนไทยทั่วประเทศ และขอเป็นกำลังใจให้ประเทศไทยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้โดยเร็ว

เงาหุ้น : หุ้นดี STA–RATCH

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 22 เม.ย.63 ปิด 1,261.81 จุด บวก 8.89 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 76,817.44 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,755.84 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด GULF ปิด 39 บาท บวก 2.50 บาท,BAM ปิด 22.70 บาท บวก 0.90 บาท, PTT ปิด 33.25 บาท ลบ 0.75 บาท, GPSC ปิด 71.75 บาท บวก 5.75 บาท, KBANK ปิด 90.25 บาท ลบ 6.75 บาท

บล.เอเซียพลัสระบุว่า หุ้นไทยขณะนี้ปรับตัวขึ้นมาแรงหากนับตั้งแต่จุดต่ำสุดของดัชนี ณ 13 มี.ค.63 ให้ผลตอบแทนสูงราว 30% แต่ต่อจากนี้เชื่อว่าตลาดจะมีอุปสรรคที่ต้องเผชิญ คือ

1.ดัชนีปัจจุบันเข้าใกล้เป้าหมายปี 63 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 1,264 จุด

2.ปัจจัยกดดันปกคลุมรอบด้าน ทั้งราคาน้ำมันที่ผันผวนมากและอยู่ในระดับต่ำสุดรอบ 21 ปี, การขยายเวลาการ Lock Down เมือง รวมถึงการรายงานงบงวด Q1/63 เริ่มต้นจากกลุ่ม ธ.พ.ที่ไม่สดใสนัก และอาจชะลอต่อเนื่องในงวด Q2/63 ต้องรอดูการรายงานงบในกลุ่ม Real Sector ต่อ

3.ต่างชาติยังขายหุ้นไทยหนัก กองทุนเป็นผู้พยุงหลัก ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องกว่า 1.5 แสนล้านบาทนับจากต้นปี และช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด ต่างชาติขายสุทธิกว่า 8 หมื่นล้านบาท 4.หากวิเคราะห์ต้นทุนของกองทุนหรือสถาบันฯ เฉลี่ยจากจุดต่ำสุดของ SET ปีนี้ถึงปัจจุบัน พบว่ามีต้นทุนเฉลี่ยถูกมากอยู่ที่ 1,140 จุด มีกำไรสูงถึง 10% ทำให้มีโอกาสสูงที่จะทยอยขายทำกำไรออกมา

เอเซียพลัสแนะกลยุทธ์ลงทุน เน้นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการดี เสริมด้วยปัจจัยบวกเฉพาะตัว แนะ 2 บริษัท คือ STA (ให้ราคาตามพื้นฐานที่ 14 บาท) แนวโน้มกำไรสุทธิปี 63 ฟื้นตัวโดดเด่นอยู่ที่ 813 ล้านบาท พลิกจากที่ขาดทุนสุทธิ 149 ล้านบาทในปี 62

มีปัจจัยหนุนจาก 1.ธุรกิจถุงมือยาง (20% ของรายได้รวม) โตชัดเจน ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 40.7% yoy 2.ธุรกิจยางพารา (80% ของรายได้รวม) ฟื้นตัวจากโรงงานแปรรูปยางหลายแห่งหยุดผลิตชั่วคราว ทำให้ลูกค้าหันมาซื้อจาก STA เพิ่มขึ้น และได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าหนุนกำไรดีขึ้น

อีกตัว หุ้น RATCH (ให้ราคาพื้นฐานที่ 75 บาท) เป็นหุ้นผันผวนต่ำ ปันผลสูงกว่า 4% ต่อปี และได้ Sentiment บวกจากความต้องการใช้ไฟที่มากขึ้นจากการเข้าสู่หน้าร้อน รวมถึงการ Work From Home และยังไม่มีผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าของรัฐบาล เนื่องจาก สัดส่วนรายได้มาจาก IPP (โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่) มากกว่า 90%

ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลงจนมี upside กว่า 25% จากมูลค่าพื้นฐานเป็นโอกาสเข้าสะสม!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น อินเด็กซ์51 นสพ.ไทยรัฐ