Home Blog Page 45

หั่นค่าธรรมเนียมประกันภัยทุกประเภท 50%

บอร์ด คปภ. ไฟเขียว เยียวยาธุรกิจประกันภัย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เห็นชอบให้หั่นค่าธรรมเนียมประกันภัยทุกประเภทลง 50% ประชาชน บริษัทประกันภัย ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย กว่าหกแสนราย ได้อานิสงค์ทั่วหน้า

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ ได้พิจารณากรณีที่สภาธุรกิจประกันภัยไทย มีหนังสือขอให้ลดผลกระทบและแบ่งเบาภาระของภาคธุรกิจประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยขอความอนุเคราะห์ในการพิจารณาผ่อนผันปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมหรือปรับลดอัตราเงินสมทบที่นำส่งสำนักงาน คปภ.

ที่ประชุม เห็นว่า หากเปรียบเทียบกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาวิธีการอื่นแล้ว การปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย จะเป็นประโยชน์มากกว่าและไม่กระทบต่อสภาพคล่องของสำนักงาน คปภ. เนื่องจากเป็นมาตรการช่วยเหลือที่จะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง คือนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทประกันภัยแล้ว ประชาชนที่ประสงค์จะเข้าสู่อาชีพประกันภัย ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะได้ประโยชน์ด้วย ดังนั้นที่ประชุม จึงมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอ ในการให้ปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ลงครึ่งหนึ่งทุกรายการ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้แก่ ค่าธรรมเนียมสมัครสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมในการขอรับใบอนุญาตของตัวแทนนายหน้าประกันภัย การขอต่ออายุใบอนุญาตของตัวแทนนายหน้าประกันภัย การขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย การขอใบแทนใบอนุญาต การขอรับรองสำเนาเอกสาร เป็นต้น

2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิตในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….

3. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….

ที่ประชุม มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ติดตามผลกระทบของภาคธุรกิจประกันภัยอย่างใกล้ชิด โดยให้มีการจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤติเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ หากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจประกันภัยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ก็ให้รีบเสนอให้พิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่จำเป็นเพิ่มเติมต่อไป

เงาหุ้น : มุมมองทรีนีตี้

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 5 พ.ค.63 ปิดที่ 1,278.63 จุด ลดลง 23.03 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 51,384.94 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 4,604.90 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด PTT ปิด 35 บาท ลบ 0.50, BAM ปิด 23.30 บาท ลบ 0.70 บาท, CPALL ปิด 69.75 บาท ลบ 1.25 บาท, PTTEP ปิด 84 บาท ลบ 0.50 บาท และ AOT ปิด 60.50 บาท ลบ 1.75 บาท

หุ้นไทยปรับตัวลง กังวลข่าวประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ขู่เก็บภาษีจีนรอบใหม่

กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ในไทยดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงมาต่อเนื่อง

“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ มองตลาดหุ้นเดือน พ.ค.63 มีโอกาสย่อตัว หลังดัชนีปรับขึ้นมา ซื้อขายที่ระดับ forward P/E ที่ 17.6 เท่าแล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับของปีที่แล้วทั้งปี!!

ดังนั้น ในแง่ของ Valuation หุ้นไทยถือว่าแพงมาก สถานการณ์นี้จึงเหมาะกับการลงทุนระยะสั้นมากกว่า ให้กรอบดัชนีมีแนวรับ 2 ระดับ คือที่ 1,200 จุด และ 1,150 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,350 จุด

ส่วนการลงทุนระยะกลางและยาวให้รอเข้าซื้อช่วงปลาย มิ.ย. หรือพ้นไตรมาส 2 ไปแล้ว

เพราะประเมินว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานแรงได้อีกครั้ง หลังสิ้นสุดมาตรการกำหนดขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่

สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายหรือ “Uptick rule”

เพราะมาตรการนี้มีผลกระทบแรงมาก ทำให้มูลค่าการขายชอร์ตลดลงมาเหลือ 1,000 ล้านบาทต่อวันจากเดิม 5,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกรรมบล็อกเทรดก็ลดปริมาณสัญญาต่อวันจาก 3.5 แสนสัญญาเหลือ 1 แสนสัญญาต่อวัน ดังนั้นตั้งแต่กลาง มี.ค.เป็นต้นมา จึงแทบไม่เห็นดัชนีหุ้นลงแรงระดับ 50-100 จุดต่อวันเหมือนช่วงก่อนหน้า

แนะกลยุทธ์ลงทุนเดือน พ.ค.ให้ 3 ธีม คือ 1.กลุ่มโรงกลั่น มองผลประกอบการทำจุดต่ำสุดช่วงไตรมาสแรกของปีไปแล้ว และมีมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันมากขึ้นหลังปัญหา Technical issue ต่างๆในตลาดน้ำมันเริ่มลดลง แนะหุ้น TOP–SPRC–BCP!!

2.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ราคาหุ้นได้สะท้อนผลดำเนินงานไตรมาส 1 ไปเกือบหมดแล้ว แนะหุ้น BBL เพราะมีโอกาสลุ้นถูกนำกลับเข้าไปคำนวณในดัชนี MSCI ที่จะประกาศช่วง 12 พ.ค.นี้ 3.กลุ่มหุ้นที่ทรีนีตี้คำนวณว่ามีโอกาสถูกคัดเลือกเข้าสู่การคำนวณดัชนี SET 50 ในรอบถัดไป ได้แก่ TTW-BPP!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่2)

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 ในบทความที่แล้วนั้น ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐานในชีวิตและสังคมของมนุษย์ ที่จะเปลี่ยนแปลงไป 8 ประการ ซึ่งนอกเหนือจาก 8 ประการที่กล่าวถึงไปนั้น ยังมีอีกหลายมุมมองที่น่าสนใจ จากบรรดากูรูในวิชาชีพต่างๆ ว่าพวกเขามองโลก (ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของพวกเขา) หลังวิกฤติ Covid-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จึงนำมาสรุปให้เห็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจได้ดังนี้

1) ลักษณะการอยู่อาศัยของผู้คนจาก “เมืองหลัก” ไปสู่ “เมืองรอง”

บทความ “Cities after Coronavirus ; how covid-19 could radically after urban life.” ของ Jack Shenker (The Guardian, 26 มีนาคม 2563) อธิบายไว้ว่า “เมือง” เป็นพัฒนาการที่มนุษย์สร้างขึ้น เนื่องจากต้องอยู่ร่วมกัน อยู่ใกล้ชิดกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน เมืองใหญ่ทุกวันนี้โตขึ้นมาก เพราะมีคนอพยพโยกย้ายเข้าสู่เมืองมากขึ้น แต่เหตุการณ์ Covid-19 ทำให้คนต้องอยู่ห่างๆ กัน ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ผู้คนอาจตัดสินใจย้ายไปสู่ “เมืองรอง” ซึ่งเล็กกว่ามากขึ้น เพื่อลดความแออัด และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันก็ยังทำได้เนื่องจากมีเทคโนโลยีช่วยได้ มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดหมู่บ้านใหม่ๆ ขึ้นในเมืองรอง เกิดการยกระดับเส้นทางคมนาคมขนส่งขึ้นมาใหม่ในเมืองรอง ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของเส้นทางคมนาคมเดิมไปอย่างสิ้นเชิง

2) ลักษณะการออกแบบสถานที่ทำงานเพื่อรองรับ “Social Distancing”

บทความ “10 ways covid-19 could change office design.” ของ Harry Kretchmer (www.weforum.org, 20 เมษายน 2563) สรุปไว้ว่า เมื่อคนต้องกลับมาทำงานหลังการระบาดรุนแรงผ่านไป ความหวาดกลัวการแพร่เชื้อระหว่างกัน การต้องรักษาระยะห่างทางสังคมในที่ทำงาน จะมีความต้องการออกแบบที่ทำงาน ที่นั่งของพนักงานลักษณะใหม่ เช่น ในรูปแบบที่เรียกว่า “Six Feet Office” คือออกแบบให้ที่นั่งห่างกันประมาณ 6 ฟุต (หรือประมาณ 1.82 เมตร) ที่ต่อไปหลายๆ องค์กรอาจออกมาเป็นข้อกำหนดในการปรับปรุงพื้นที่สำนักงาน นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ปูกระดาษบนพื้นโต๊ะทำงาน พอสิ้นวันก็ดึงออกไปทิ้งเพื่อลดการแพร่เชื้อ หรือรูปแบบการออกแบบที่ทำงานก่อนเกิด Covid-19 มีความนิยมแบบเปิดโล่งมากขึ้นก็จะหันมาปรับให้มีลักษณะปิดเพื่อป้องกันมากขึ้น (Closed – plan working) มีการเสนอให้ภายในที่ทำงานต้องเพิ่มสัญลักษณ์ (More signs) เพื่อเตือนและบอกการรักษาระยะห่างมากขึ้น รวมทั้งการมีป้ายกำหนดทิศทางเพื่อลดการเดินแบบสับสน ทำให้เกิดการชนและแพร่เชื้อได้ เป็นการออกแบบที่เรียกว่า “Contactless Pathways” ซึ่งต้องจัดให้มีเทคโนโลยีที่สนับสนุน อุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยป้องกัน อากาศถ่ายเท และวิธีการทักทายแบบใหม่ ๆ เป็นต้น

3) ลักษณะการซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำในยุค “Social Distancing”

บทความของ Katie Jackson ที่ลงใน www.today.com เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 เรื่อง “8 ways coronavirus may change how we shop at the grocery store forever.” สรุปประเด็นสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันในยุค “Social Distancing” จะเปลี่ยนไปจากเดิมดังนี้

  • ลูกค้าจะมีจำนวนครั้งมาที่ร้านน้อยลง (Shoppers will make fewer trips to the store) เพราะคนยังหวาดกลัวกับการแพร่ระบาดของเชื้อ จะลดจำนวนครั้งที่มาเท่าที่จำเป็น ซึ่งต่างจากเดิมแวะมาเมื่อใดก็ได้
  • ลูกค้าจะซื้อของทีละมากๆ เพื่อเก็บไว้ในตู้เย็นและครัวมากกว่าเดิม (People will stock up) เมื่อมาที่ร้านในจำนวนน้อยลง คนก็จะซื้อพวกอาหารและสินค้าจำเป็นคราวละมากๆ โดยอาจจะเก็บไว้ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนจะออกมาเติมอีกครั้ง
  • ลูกค้าจะซื้ออย่างมีเหตุผลและมีแผนการมากขึ้น (Goodbye browsing, hello planning) ที่ผ่านมาการเดินในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีของมากมายก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง สามารถใช้เวลาค่อยๆ คิดได้ อาจเจอสินค้าบางอย่างที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนว่าจะซื้อ แต่พบการส่งเสริมการตลาดที่เย้ายวนใจก็เกิดการซื้อเพิ่มได้ แต่ยุคที่ต้องรักษาระยะห่าง ลูกค้าจะเริ่มวางแผนมากขึ้น มี Checklist ที่ทำให้พุ่งตรงไปยังชั้นที่ขายของนั้นโดยตรง
  • ลูกค้าจะใช้บริการส่งของถึงบ้านมากขึ้น (Curbside pick up and online ordering will be big) ลูกค้าอีกเป็นจำนวนมากจะยอมปรับพฤติกรรมสั่งของชำทาง online และให้มาส่งถึงบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการออกนอกบ้าน ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ หันมาพัฒนาและปรับปรุงบริการนี้
  • ลูกค้าต้องการใช้บริการจุดชำระเงินและนำของกลับด้วยตนเองมากขึ้น และไม่สนใจจุดทดลองสินค้า (So long to samples and self-serve stations) เพื่อลดโอกาสสัมผัสเชื้อจากจุดที่มีการให้ทดลองสินค้า หรือจุดชำระเงิน
  • ลูกค้าจะนิยมสินค้าที่คงความสดไว้ได้นาน (Long lasting produce will be popular) ความต้องการสินค้า เช่น ผลไม้ประเภทเก็บรักษาไว้ได้นานจะมีมากขึ้น เพราะดีต่อสุขภาพและสอดคล้องกับเวลาที่ไม่ต้องออกมาชอปปิงบ่อยๆ
  • ลูกค้าจะซื้อสินค้าประเภทอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องมากขึ้น (Frozen foods and canned foods will be favored) ซึ่งสัมพันธ์กับระยะเวลาที่อยู่บ้านนานขึ้น ประกอบกับสินค้าเหล่านี้ค่อนข้างมีน้ำหนัก จึงต้องการซื้อในปริมาณมากๆ เพื่อเก็บไว้
  • ลูกค้าจะหันมานิยมไปร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น (Smaller stores are making comeback) ร้านค้าของชำขนาดเล็กใกล้บ้านจะกลับมาเป็นที่นิยม เพราะถูกคาดหมายว่าผู้คนจะไม่เข้าไปแออัดและรอคิวการซื้อของ การชำระเงินเหมือนร้านใหญ่

ไม่น่าเชื่อว่าไวรัสตัวเล็กๆ นี้จะสามารถบังคับและเปลี่ยนชีวิตในอนาคตของมนุษยชาติได้มากขนาดนี้ ซึ่งยังเป็นที่น่าสนใจมากว่า ยังมีมุมมองอะไรและอย่างไรอีกที่ไวรัส Covid-19 นี้จะมาเปลี่ยนแปลงชีวิต ธุรกิจ และสังคมของพวกเรา ซึ่งสามารถติดตามได้ในบทความห้องเรียนผู้ประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Credit : The Guardian, weforum.org , today.com

สรุปโดย : ดร.กฤษฎา  เสกตระกูล, CFPรองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย#ห้องเรียนผู้ประกอบการ

ธปท. เปิดช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” สะพานเชื่อมปรับโครงสร้างหนี้

รายงานข่าวจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 19 (COVID-19) ส่งผลให้รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจปรับลดลงอย่างมาก ในภาวะเช่นนี้การที่ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) และลูกค้าสามารถตกลงร่วมกันปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเปิดช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” ขึ้น เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนหรือธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สามารถแจ้งความต้องการไปที่ผู้ให้บริการฯ โดยเป็นช่องทางเสริมในช่วงที่มาตรการเว้นระยะเพื่อลดการแพร่เชื้อ (Social distancing) อาจทำให้ติดต่อหรือเดินทางไม่สะดวก ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับผ่านช่องทางนี้ ธปท. จะส่งต่อไปยังผู้ให้บริการฯ ที่ระบุไว้ พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามมาตรการที่ได้ประกาศแล้วทั่วไป หรือตามดุลพินิจของผู้ให้บริการ

กสิกรออกสินเชื่อ 0% ช่วยคนงานเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล. กับเบี้ยเลี้ยงพิเศษให้บุคคลากรทางแพทย์อีก 300 ล.

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้จัดตั้งโครงการ สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี เป็นเงินกู้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กเพื่อให้สามารถจ้างพนักงานต่อไปได้ อัตราดอกเบี้ย 0%

สิ่งสำคัญของโครงการนี้ คือ การเข้าไปช่วยเหลือพนักงานให้ยังมีงานทำและมีเงินเดือนเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว โดยพนักงานแต่ละคนจะได้เงินคนละ 8,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับโครงการนี้ไว้ 1,000ล้านบาท และทำให้เกิดการจ้างงานพนักงานกว่า 41,000 คน

“ธนาคารยอมสูญเสียรายได้เพื่อให้คนในสังคมส่วนหนึ่งอยู่รอด เพราะการที่ทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนที่มีต้องช่วยคนที่ไม่มี ถ้าทุกคนช่วยกันประเทศไทยก็จะสามารถฝ่าฟันและผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน”

โครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” เป็นการเชิญลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน และมีการใช้บริการกับธนาคารมานานหลายปีเข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องเป็นคนดี เป็นนักสู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อนำพาธุรกิจและพนักงานรอดไปด้วยกัน การช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้ ธนาคารจะช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานทุกคนให้บางส่วน ธุรกิจต้องดำเนินต่อไปได้ และสามารถดูแลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในส่วนอื่น ๆ ได้เอง โดยไม่หยุดหรือปิดกิจการ ธนาคารสนับสนุนเงินกู้เพื่อจ้างพนักงาน อัตราดอกเบี้ย 0% ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลากู้ 10 ปี และไม่ต้องผ่อนชำระคืนเงินกู้ 1 ปี เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กมีเงินทุนในการจ้างพนักงานให้พวกเขามีรายได้และอยู่รอด โดยวงเงินกู้ของแต่ละบริษัทนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงาน พนักงานแต่ละคนจะได้เงินคนละ 8,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ธนาคารจะมีกระบวนการตรวจสอบได้ว่าเงินได้เข้าบัญชีพนักงานทุกคนจริง

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” ที่มูลนิธิกสิกรไทยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวบรวมรายชื่อโรงพยาบาลที่เข้าข่ายตามเกณฑ์จำนวน 45 แห่ง ใน 5จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้วยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ จังหวัด สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล มีบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 5,083 คน ทั้งหมดเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานตั้งแต่มีการแพร่ระบาด และมีหน้าที่ในงานที่ได้สัมผัสเชื้อและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขจนถึงวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยมูลนิธิกสิกรไทย ได้มอบเงินสนับสนุนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักรบเสื้อกาวน์รวม 20,000 คน คนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค. 63 รวมงบประมาณทั้งสิ้น 300 ล้านบาท 

เงินเฟ้อเม.ย. ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เหตุราคาน้ำมันดิ่งเหว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.63 อยู่ที่ 99.75 ลดลง 2.03% จากเดือนมี.ค. และหากเทียบกับเดือนเม.ย. ปี 62 ปรับลดลง 2.99% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ดัชนีราคาลดลงสูงถึง 30.85% ต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน รวมทั้ง ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

อีกทั้ง การปรับลดราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ จากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ที่ร่วมมือกับผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวม เงินเฟ้อลดลงมาก

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อต้องติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป และราคาสินค้าและบริการ ต้องลดลงติดต่อกัน ถึงจะเป็นภาวะเงินฝืด แต่ขณะนี้ เงินเฟ้อไทยลดลง เกิดจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นสำคัญ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิต และการขนส่งสินค้าลดลงมาก ส่วนราคาสินค้าและบริการ ยังไม่ลดลงมาก โดยอาหารสดยังราคาเคลื่อนไหวปกติ มีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาลดลงบ้าง แต่ลดลงจากมาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ลดราคาขายเพื่อช่วยเหลือประชาชน

หากถามว่ามีโอกาสเกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่ ก็มีสิทธิ์ หากราคาน้ำมันยังลดลงมาก หรือยังขึ้นได้ไม่เท่ากับราคาของปีก่อน จึงต้องหาทางหลีกเลี่ยง และนโยบายของรัฐบาล จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนมาก เช่น การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ให้กลับมาทำธุรกิจ หรือทำมาค้าขายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อนได้ และต้องเร่งส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทย กินของไทย ใช้ของไทย

แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.63 ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากราคาน้ำมัน ที่การบริโภคยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และราคายังไม่ปรับขึ้นมาเท่ากับราคาในปีก่อน และราคาสินค้าเกษตร ที่อาจลดลง เนื่องจากความต้องการซื้อลดลง คาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะยังติดลบ 2.28% ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 น่าจะดีขึ้น และเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ลบ 1.0% ถึงลบ 0.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 0.6%

ซีพีเอฟ ได้เหรียญทองเอเชีย รางวัลรายงานความยั่งยืนปี 62

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนระดับเหรียญทอง 2 รางวัล ด้านการรายงานความโปรงใสในห่วงโซ่อุปทานและด้านผลกระทบต่อชุมชนและการช่วยเหลือสังคม และรางวัลเหรียญเงิน การรายงานเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดผลกระทบ ตอกย้ำความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่บริษัทส่งรายงานความยั่งยืนเข้าชิงรางวัล และ ถือเป็นเกียรติกับบริษัทอย่างมากที่ได้รับรางวัลนี้

ที่่ผ่านมา ซีพีเอฟมุ่งมั่นผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย และมีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ขณะเดียวยังทำงานร่วมกับคู่ค้าธุรกิจและชุมชนในการขับเคลื่อนสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

“ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเนื่องควบคู่กับคู่ค้าธุรกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตนและดินน้ำป่า คงอยู่ ตลอดจนต้องการนำเสนอผลการปฏิบัติงานของพนักงานทุกคนในรายงานความยั่งยืนอย่างเหมาะสม โปรงใส ด้วยความรับผิดชอบ” ทั้งนี้ ความสำเร็จด้านความยั่งยืนของบริษัท สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) 11 เป้าหมาย จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย

รายงานความยั่งยืนปี 2562 ของ ซีพีเอฟ ได้รับรางวัล 3 รางวัล ได้แก่

  • Gold class (ที่ 1) ประเภท Asia’s Best Supply Chain Reporting ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับการรายงานและสื่อสารด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใสและรายงานการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงภายในห่วงโซอุปทานอย่างดีเยี่ยม
  • Gold class (ที่ 1) ประเภท Asia’s Best Community Reporting ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับการรายงานและสื่อสารด้านการดำเนินงานกับชุมชน สามารถรายงานผลกระทบต่อชุมชนและผลจากการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างดีเยี่ยม
  • รางวัล Silver class (ที่ 2) ประเภท Asia’s Best Environmental Reporting เป็นรางวัลสำหรับการรายงานและสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายและผลการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมถึงสามารถรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทในประเด็นที่สำคัญได้อย่างดี

ซีพีเอฟ เป็น 1 ใน 461 ฉบับ รายงานความยั่งยืนจาก 16 ประเทศในเอเซีย ที่มีการส่งเข้าประกวดผลงาน และ ASRA ได้คัดเลือกผู้เข้ารอบเหลือ 80 บริษัท จาก 13 ประเทศ เพื่อเข้ารับรางวัลใน 19 สาขา ในปีนี้มีเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีการเลื่อนการประกาศผลออกมาในรูปแบบของการถ่ายทอดสดแบบ Live Broadcasting จากประเทศสิงคโปร์ ในงาน มีนักธุรกิจชั้นนำกว่า 200 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจาก 15 ประเทศ ร่วมในรับชมการถ่ายทอดครั้งนี้

กลุ่มเซ็นทรัล ตอบจม.นายกฯ ยินดีสนับสนุน

รายงานข่าว เปิดเผยว่า กลุ่มเซ็นทรัล ได้ตอบจดหมาย จากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยทุกธุรกิจในเครือ ยินดีให้การสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างเต็มที่ พร้อมชูแนวทางฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานทั้ง 3 มิติ ได้แก่ การสร้างอาชีพเสริมรายได้ การลดค่าครองชีพ และการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะฐานรากให้ผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เปิดเผยว่า ครอบครัวจิราธิวัฒน์ และกลุ่มเซ็นทรัลได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญต่อความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการปรับแนวทางการแก้ปัญหา เข้ากับแผนของความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมบูรณาการให้เกิดความยั่งยืน เริ่มตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือพนักงานในเครือกว่า 74,000 ราย โดยคงสถานะการจ้าง และการมอบประกันภัยโควิด-19 ให้กับทุกคน รวมถึงได้มีการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ภายในปี 2563 โดยมุ่งไปที่กระบวนการ ภายใต้ความต้องการพื้นฐานทั้ง 3 ส่วน อันได้แก่

มาตรการสร้างอาชีพ เสริมรายได้  กลุ่มเซ็นทรัลจึงมุ่งที่จะสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถ ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในทุก ๆ บริบท ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

  • กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างรายได้ โดยการให้พื้นที่ขาย 90,000 ตร.ม. ใน 100 ศูนย์การค้าใน 44 จังหวัด และผ่านช่องทางออนไลน์ มูลค่ารวมกว่า 550 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจในเครือของเซ็นทรัล อาทิ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า โรบินสันพลาซ่า ท็อปส์พลาซ่า และ ไทวัสดุ ให้พื้นที่ฟรี เพื่อสนับสนุนให้ชุมชน เกษตรกร และ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กว่า 16,000 รายใน 44 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้เข้ามาขายสินค้า เป็นเวลา 3-6 เดือน คาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ เกษตรกร และผู้ค้ารายย่อย กว่า 3,500 ล้านบาท ในปี 2563 นอกจากนี้ยังจัดช่องทางการขายออนไลน์ ผ่านเว็บไซด์ ท็อปส์ออนไลน์  JD central เซ็นทรัลออนไลน์ และ โรบินสันออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มยอดขาย
  • อนุมัติวงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกร และชุมชน เป็นการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน สินค้าเกษตร โอทอป เอสเอ็มอี นำมาจำหน่ายในศูนย์การค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ สนับสนุนให้ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้ 25,000 ครัวเรือน ใน 42 จังหวัด
  • สร้างอาชีพแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน  ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น รวมถึงการช่วยเหลือคนพิการให้มีอาชีพ ใช้ งบประมาณ 150 ล้านบาท                     
  • โครงการ เซ็นทรัล ทำ เป็นโครงการด้านความรับผิดชอบสังคม ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ได้ดำเนินการแล้วและยังคงทำต่อเนื่อง เร่งขยายวงกว้างเพื่อสร้างอาชีพ อาทิ  การให้ความรู้ในด้านการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการสนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนพิการ  พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และอื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนเกษตรกร ชุมชน  คนพิการ นักเรียน รวมกว่า 30,000 ครัวเรือน ใน 50 จังหวัด 
  • สร้างแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ (Crowdfunding Platform) ให้คนที่ต้องการเริ่มธุรกิจใหม่แต่ยังขาดเงินทุน รวมถึงสนับสนุนนักเรียน โรงเรียน โรงพยาบาล และงานวิจัย ตั้งเป้าการระดมทุนกว่า 100 ล้านบาท

มาตรการลดค่าครองชีพ 

  • ลดและตรึงราคา สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นกว่า 3,000 รายการ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน โดย ซูเปอร์มาร์เก็ต ในกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมโครงการกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และผู้ผลิตสินค้าในการลดราคา 5-68% ในท็อปส์ทุกสาขาทั่วประเทศ ตลอดปี 2563 และการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอีกกว่า 23,000 รายการ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม โดยจะไม่มีการขึ้นราคาในช่วง 90 วัน 
  • ลดราคาอาหาร 20% ในศูนย์อาหาร 87 แห่ง ใน 43 จังหวัด โดยจัดให้มีอาหารราคาพิเศษ เริ่มต้นที่ 19 บาท ที่เซ็นทรัลฟู้ดคอร์ท 33 แห่ง โรบินสันฟู้ดคอร์ท 24 แห่ง และ ท็อปส์ฟู้ดคอร์ท 30 แห่ง

มาตรการส่งเสริมสุขภาพ 

  • สร้างมาตรฐานใหม่เพื่อเป็นแผนแม่บทในการทำธุรกิจให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันการระบาดโดยใช้มาตรการ สะอาด ปลอดภัย ในศูนย์การค้าและผู้เช่าทุกราย ทุกตารางเมตร โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้จัดทำมาตรการเชิงรุกในการสร้างมาตรฐานสุขอนามัยใน 5 ด้าน 75 มาตรการ เพื่อถือปฏิบัติสำหรับทุกธุรกิจในศูนย์การค้าเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส
  • งบประมาณรวมกว่า 40 ล้านบาท ในการสนับสนุนเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มอบให้กับ 30 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับโรคโควิด-19 ผ่านทางแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 15 ล้านบาท สำหรับการจัดทำห้องปลอดเชื้อ ให้โรงพยาบาล และ มอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อน

“มาตรการทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นมาจากการความตั้งใจและความเชี่ยวชาญของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ความมุ่งมั่น ของผู้บริหารและพนักงานทุกคนในองค์กร เพื่อเป็นพลังกาย พลังใจ และฟันเฟืองในการขับเคลื่อน เราเชื่อมั่นว่า มาตรการทั้งหมดจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยได้ และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด”

เงาหุ้น : หุ้นทั่วโลกร่วง

ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวปรับตัวลงทั้งหมดต่อเนื่อง ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเปิดศึกการค้ากับจีนอีกครั้ง หลังกล่าวหาว่าจีนเป็นตัวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกจนส่งผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก!!

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า Valuation ทางพื้นฐานของหุ้นไทยเริ่มตึงตัวแล้ว โดยประเมินบนคาดการณ์กำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของตลาดปี 63 ที่ 72.62 บาท/หุ้น (ต่ำกว่า Consensus ที่ 75 บาท/หุ้น) และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1,264 จุด

แต่หากธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสขยายขึ้นไปได้ถึงระดับ 1,321 จุด แต่ท่าทีนโยบายทางการเงินแม้จะผ่อนคลาย แต่คาดว่ายังเน้นอัดฉีดเม็ดเงินรูปแบบอื่นมากกว่า

เอเซียพลัสแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค.63 เน้นจัดพอร์ตเตรียมรับความผันผวนของตลาด โดยเน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำ ปันผลสูง โดยแนะนำ DCC เติบโตสวนกระแสบริษัทอื่นๆที่ผลประกอบการหดตัว

ส่วน STA ความต้องการของถุงมือยางปรับตัวขึ้นมากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ RATCH เป็นหุ้น Defensive และปันผลสม่ำเสมอ ด้าน IVL ช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงไฮซีซันธุรกิจ

ขณะที่ COM7 ระบายสินค้าออกในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง รองรับสินค้าใหม่ๆที่จะเริ่มจำหน่ายหลังโควิด-19 คลี่คลาย และเทคโนโลยี 5G และสุดท้ายแนะนำหุ้น KBANK เหตุราคาปรับฐานลงมามากเกินไป

และยังคงแนะให้หลีกเลี่ยงหุ้น Over Value อย่าง ERW และ DELTA

ปิดท้าย บล.ธนชาต โฟกัสหุ้น PTTEP หลังแจ้งกำไรจากการดำเนินงาน 1Q20 ที่ 9.07 พันล้านบาท ลดลง 29% y-y, และลดลง 21% q-q ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์โดยราคาขายน้ำมันเฉลี่ยสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ Dubai เล็กน้อย และต้นทุนการผลิตต่ำกว่าคาด

อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตลดลง 8% q-q เหลือ 363boed จากการผลิตน้ำมันที่ลดลงในมาเลเซีย และแหล่งบงกช ต่ำกว่าที่คาดไว้

เช่นกัน ขณะที่บริษัทคาดว่าการผลิตน้ำมัน และก๊าซรวมปีนี้ อาจต่ำกว่าเป้าหมายเดิม 7% ปีนี้ และลดงบลงทุนปีนี้ลง 15-20% จากแผนเดิม

ธนชาตมองเห็น downside risk ของกำไร และเป้าหมายพื้นฐาน PTTEP ที่ 107 บาท จากทั้งปริมาณการผลิตที่ลดลง และราคาน้ำมันปัจจุบันที่ต่ำกว่าสมมติฐาน!!

อินเด็กซ์ 51

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดยอินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

รับพัสดุอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19

กรมอนามัย ได้แนะนำวิธีการรับกล่องพัสดุในช่วงการระบาดของ COVID -19 แบบปลอดภัย ลดการติดเชื้อจากกล่องพัสดุหรือผู้ส่งพัสดุได้  เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มีปริมาณมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจเวลารับสินค้าที่มาส่ง จะเป็นไปอย่างปลอดภัย และปลอดจากไวรัสโควิด-19 จึงควรดำเนินการ ดังนี้

  • จัดพื้นที่ให้ผู้ส่งพัสดุวางพัสดุไว้หน้าบ้าน หรือแขวนไว้ โดยไม่ต้องออกไปรับพัสดุโดยตรง เพื่อลดการสัมผัส
  • ก่อนนำพัสดุเข้าบ้านควรฉีดพ่น หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ
  • แกะกล่องพัสดุ และเช็ดทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ภายในกล่องพัสดุด้วยแอลกอฮอล์ 70%  หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดอื่น ๆ ซึ่งสินค้าที่รับมาผู้ส่งควรมีพลาสติกห่อหุ้มให้เรียบร้อยก่อนนำเข้ากล่อง
  • หลังแกะกล่องเรียบร้อย ให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์เจล อย่างน้อย 20 วินาที

ที่มา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข