Home Blog Page 44

กลุ่มเซ็นทรัล ตอบจม.นายกฯ ยินดีสนับสนุน

รายงานข่าว เปิดเผยว่า กลุ่มเซ็นทรัล ได้ตอบจดหมาย จากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยทุกธุรกิจในเครือ ยินดีให้การสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างเต็มที่ พร้อมชูแนวทางฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานทั้ง 3 มิติ ได้แก่ การสร้างอาชีพเสริมรายได้ การลดค่าครองชีพ และการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะฐานรากให้ผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เปิดเผยว่า ครอบครัวจิราธิวัฒน์ และกลุ่มเซ็นทรัลได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญต่อความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการปรับแนวทางการแก้ปัญหา เข้ากับแผนของความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมบูรณาการให้เกิดความยั่งยืน เริ่มตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือพนักงานในเครือกว่า 74,000 ราย โดยคงสถานะการจ้าง และการมอบประกันภัยโควิด-19 ให้กับทุกคน รวมถึงได้มีการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ภายในปี 2563 โดยมุ่งไปที่กระบวนการ ภายใต้ความต้องการพื้นฐานทั้ง 3 ส่วน อันได้แก่

มาตรการสร้างอาชีพ เสริมรายได้  กลุ่มเซ็นทรัลจึงมุ่งที่จะสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถ ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในทุก ๆ บริบท ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

  • กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างรายได้ โดยการให้พื้นที่ขาย 90,000 ตร.ม. ใน 100 ศูนย์การค้าใน 44 จังหวัด และผ่านช่องทางออนไลน์ มูลค่ารวมกว่า 550 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจในเครือของเซ็นทรัล อาทิ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า โรบินสันพลาซ่า ท็อปส์พลาซ่า และ ไทวัสดุ ให้พื้นที่ฟรี เพื่อสนับสนุนให้ชุมชน เกษตรกร และ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กว่า 16,000 รายใน 44 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้เข้ามาขายสินค้า เป็นเวลา 3-6 เดือน คาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ เกษตรกร และผู้ค้ารายย่อย กว่า 3,500 ล้านบาท ในปี 2563 นอกจากนี้ยังจัดช่องทางการขายออนไลน์ ผ่านเว็บไซด์ ท็อปส์ออนไลน์  JD central เซ็นทรัลออนไลน์ และ โรบินสันออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มยอดขาย
  • อนุมัติวงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกร และชุมชน เป็นการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน สินค้าเกษตร โอทอป เอสเอ็มอี นำมาจำหน่ายในศูนย์การค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ สนับสนุนให้ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้ 25,000 ครัวเรือน ใน 42 จังหวัด
  • สร้างอาชีพแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน  ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น รวมถึงการช่วยเหลือคนพิการให้มีอาชีพ ใช้ งบประมาณ 150 ล้านบาท                     
  • โครงการ เซ็นทรัล ทำ เป็นโครงการด้านความรับผิดชอบสังคม ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ได้ดำเนินการแล้วและยังคงทำต่อเนื่อง เร่งขยายวงกว้างเพื่อสร้างอาชีพ อาทิ  การให้ความรู้ในด้านการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการสนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนพิการ  พัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และอื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนเกษตรกร ชุมชน  คนพิการ นักเรียน รวมกว่า 30,000 ครัวเรือน ใน 50 จังหวัด 
  • สร้างแพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ (Crowdfunding Platform) ให้คนที่ต้องการเริ่มธุรกิจใหม่แต่ยังขาดเงินทุน รวมถึงสนับสนุนนักเรียน โรงเรียน โรงพยาบาล และงานวิจัย ตั้งเป้าการระดมทุนกว่า 100 ล้านบาท

มาตรการลดค่าครองชีพ 

  • ลดและตรึงราคา สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นกว่า 3,000 รายการ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน โดย ซูเปอร์มาร์เก็ต ในกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมโครงการกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และผู้ผลิตสินค้าในการลดราคา 5-68% ในท็อปส์ทุกสาขาทั่วประเทศ ตลอดปี 2563 และการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอีกกว่า 23,000 รายการ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม โดยจะไม่มีการขึ้นราคาในช่วง 90 วัน 
  • ลดราคาอาหาร 20% ในศูนย์อาหาร 87 แห่ง ใน 43 จังหวัด โดยจัดให้มีอาหารราคาพิเศษ เริ่มต้นที่ 19 บาท ที่เซ็นทรัลฟู้ดคอร์ท 33 แห่ง โรบินสันฟู้ดคอร์ท 24 แห่ง และ ท็อปส์ฟู้ดคอร์ท 30 แห่ง

มาตรการส่งเสริมสุขภาพ 

  • สร้างมาตรฐานใหม่เพื่อเป็นแผนแม่บทในการทำธุรกิจให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันการระบาดโดยใช้มาตรการ สะอาด ปลอดภัย ในศูนย์การค้าและผู้เช่าทุกราย ทุกตารางเมตร โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้จัดทำมาตรการเชิงรุกในการสร้างมาตรฐานสุขอนามัยใน 5 ด้าน 75 มาตรการ เพื่อถือปฏิบัติสำหรับทุกธุรกิจในศูนย์การค้าเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส
  • งบประมาณรวมกว่า 40 ล้านบาท ในการสนับสนุนเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มอบให้กับ 30 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับโรคโควิด-19 ผ่านทางแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 15 ล้านบาท สำหรับการจัดทำห้องปลอดเชื้อ ให้โรงพยาบาล และ มอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อน

“มาตรการทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นมาจากการความตั้งใจและความเชี่ยวชาญของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ความมุ่งมั่น ของผู้บริหารและพนักงานทุกคนในองค์กร เพื่อเป็นพลังกาย พลังใจ และฟันเฟืองในการขับเคลื่อน เราเชื่อมั่นว่า มาตรการทั้งหมดจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยได้ และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด”

เงาหุ้น : หุ้นทั่วโลกร่วง

ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวปรับตัวลงทั้งหมดต่อเนื่อง ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเปิดศึกการค้ากับจีนอีกครั้ง หลังกล่าวหาว่าจีนเป็นตัวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกจนส่งผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก!!

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า Valuation ทางพื้นฐานของหุ้นไทยเริ่มตึงตัวแล้ว โดยประเมินบนคาดการณ์กำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของตลาดปี 63 ที่ 72.62 บาท/หุ้น (ต่ำกว่า Consensus ที่ 75 บาท/หุ้น) และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1,264 จุด

แต่หากธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสขยายขึ้นไปได้ถึงระดับ 1,321 จุด แต่ท่าทีนโยบายทางการเงินแม้จะผ่อนคลาย แต่คาดว่ายังเน้นอัดฉีดเม็ดเงินรูปแบบอื่นมากกว่า

เอเซียพลัสแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค.63 เน้นจัดพอร์ตเตรียมรับความผันผวนของตลาด โดยเน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำ ปันผลสูง โดยแนะนำ DCC เติบโตสวนกระแสบริษัทอื่นๆที่ผลประกอบการหดตัว

ส่วน STA ความต้องการของถุงมือยางปรับตัวขึ้นมากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ RATCH เป็นหุ้น Defensive และปันผลสม่ำเสมอ ด้าน IVL ช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงไฮซีซันธุรกิจ

ขณะที่ COM7 ระบายสินค้าออกในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง รองรับสินค้าใหม่ๆที่จะเริ่มจำหน่ายหลังโควิด-19 คลี่คลาย และเทคโนโลยี 5G และสุดท้ายแนะนำหุ้น KBANK เหตุราคาปรับฐานลงมามากเกินไป

และยังคงแนะให้หลีกเลี่ยงหุ้น Over Value อย่าง ERW และ DELTA

ปิดท้าย บล.ธนชาต โฟกัสหุ้น PTTEP หลังแจ้งกำไรจากการดำเนินงาน 1Q20 ที่ 9.07 พันล้านบาท ลดลง 29% y-y, และลดลง 21% q-q ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์โดยราคาขายน้ำมันเฉลี่ยสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ Dubai เล็กน้อย และต้นทุนการผลิตต่ำกว่าคาด

อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตลดลง 8% q-q เหลือ 363boed จากการผลิตน้ำมันที่ลดลงในมาเลเซีย และแหล่งบงกช ต่ำกว่าที่คาดไว้

เช่นกัน ขณะที่บริษัทคาดว่าการผลิตน้ำมัน และก๊าซรวมปีนี้ อาจต่ำกว่าเป้าหมายเดิม 7% ปีนี้ และลดงบลงทุนปีนี้ลง 15-20% จากแผนเดิม

ธนชาตมองเห็น downside risk ของกำไร และเป้าหมายพื้นฐาน PTTEP ที่ 107 บาท จากทั้งปริมาณการผลิตที่ลดลง และราคาน้ำมันปัจจุบันที่ต่ำกว่าสมมติฐาน!!

อินเด็กซ์ 51

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดยอินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

รับพัสดุอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19

กรมอนามัย ได้แนะนำวิธีการรับกล่องพัสดุในช่วงการระบาดของ COVID -19 แบบปลอดภัย ลดการติดเชื้อจากกล่องพัสดุหรือผู้ส่งพัสดุได้  เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มีปริมาณมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจเวลารับสินค้าที่มาส่ง จะเป็นไปอย่างปลอดภัย และปลอดจากไวรัสโควิด-19 จึงควรดำเนินการ ดังนี้

  • จัดพื้นที่ให้ผู้ส่งพัสดุวางพัสดุไว้หน้าบ้าน หรือแขวนไว้ โดยไม่ต้องออกไปรับพัสดุโดยตรง เพื่อลดการสัมผัส
  • ก่อนนำพัสดุเข้าบ้านควรฉีดพ่น หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ
  • แกะกล่องพัสดุ และเช็ดทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ภายในกล่องพัสดุด้วยแอลกอฮอล์ 70%  หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดอื่น ๆ ซึ่งสินค้าที่รับมาผู้ส่งควรมีพลาสติกห่อหุ้มให้เรียบร้อยก่อนนำเข้ากล่อง
  • หลังแกะกล่องเรียบร้อย ให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์เจล อย่างน้อย 20 วินาที

ที่มา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

กรมอนามัยแนะ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม เปิดยังไงให้ถูกวิธีปฏิบัติ และสร้างความเชื่อมั่น ช่วงโควิด-19

รายงานข่าวจากรมอนามัย เปิดเผยถึงมาตรการผ่อนปรน เปิดร้านเสริมสวย และร้านตัดผม อย่างไรถึงจะปลอดภัยจากโควิด-19 ดังนี้

ผู้เกี่ยวข้องกับงานบริการในร้านทุกคน

  • ผู้ให้บริการทุกคน มีความรู้ในการปฏิบัติตัว มีสุขอนามัยที่ดี
  • ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
  • สวมเสื้อคลุม ใส่หน้ากากผ้า หรือ เฟซชิลด์ ใส่ถุงมือยางตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน

สิ่งแวดล้อมภายในร้าน

  • มีจุดล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการอย่างเพียงพอ
  • ทำความสะอาดเก้าอี้ หรือจุดบริเวณที่มีการสัมผัส อย่างน้อย 2 ขม.ต่อครั้ง
  • มีระบบระบายอากาศที่ดี เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  • อุปกรณ์ต่างๆ เช่น กรรไกร ต้องทำความสะอาดก่อนและหลังบริการ
  • ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ใบมีดโกน ผ้าขนหนู

ส่วนของลูกค้า

  • ต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
  • ต้องใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย
  • ต้องล้างมือให้สะอาด ก่อนเข้าและออกจากร้าน
  • ต้องนัดคิว เพื่อลดระยะเวลาการรอในร้าน และเวลาที่อยู่ในร้านร่วมกัน

ทั้งนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ได้เน้นย้ำว่า ขอให้ร้านตัดผม ร้านเสริมสวม ปฏิบัติตามมาตรการด้านความสะอาด ปลอดภัย ทั้งสถานที่และอุปกรณ์ รวมทั้งต้องมีสุขอนามัยที่ดีทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นยังไงให้ปลอดภัยและประหยัดค่าไฟ

กระทรวงพลังงาน แนะวิธีใช้เครื่องทำน้ำอุ่นให้ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน

เครื่องทำน้ำอุ่นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จัดอยู่ในกลุ่มใช้ความร้อนในการทำงาน ซึ่งเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีขายทั่วไป มักมีปริมาณการกินไฟ (กำลังไฟฟ้า) ประมาณ 3,000-6,000 วัตต์ จึงมีปริมาณการใช้ไฟมากพอสมควร

แนวทางการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นให้คุ้มค่า และประหยัดพลังงาน มีตามนี้

1.เลือกขนาดให้เหมาะสมกับครอบครัว เครื่องทำน้ำอุ่นที่เหมาะกับครอบครัวเล็ก ควรจะเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นประเภท single point ที่ทำความร้อนจากเครื่องทำน้ำอุ่น 1 ตัว ต่อ 1 จุด แต่ถ้าที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กันหลายคน และต้องใช้น้ำอุ่นในหลายๆ จุดในบ้าน ที่เหมาะสมที่สุดคือ เครื่องทำน้ำอุ่นแบบ multi point ที่ให้ความร้อนได้หลายๆ จุด พร้อมกันแล้วส่งน้ำร้อนผ่านท่อน้ำร้อน และวาล์วผสม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติมสำหรับ เครื่องทำน้ำอุ่นแบบ multi point ก็คือ ยิ่งสะดวกสบาย ยิ่งให้ความร้อนได้หลายจุด ก็ยิ่งกินไฟ

2.เลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เพราะฉลากประหยัดไฟนั้น บ่งบอกถึงระดับการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลเบื้องต้นต่าง ๆ ของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อปี เป็นต้น โดยเฉพาะยิ่งมีตัวเลขที่สูงและเป็นฉลากในปีใหม่ ๆ จะแสดงถึงประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานที่มากกว่า

3.ปรับอุณหภูมิให้พอดี การใช้เครื่องทำน้ำอุ่น ไม่ควรปรับปุ่มความร้อนเกินความจำเป็น เพราะการทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงมาก ๆ นั้น จะใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

4.ปิดเครื่องทุกครั้งหลังใช้งาน ปิดเครื่องทำน้ำอุ่นทุกครั้ง หลังสิ้นสุดการใช้งาน เพื่อประหยัดไฟฟ้าและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

5.ควรเปิดใช้เครื่องทำน้ำอุ่นในอากาศที่เหมาะสม ถ้าอากาศไม่หนาว เราควรอาบน้ำในอุณหภูมิปกติ

ทั้งนี้ ควรศึกษาคู่มือการใช้งานอย่างละเอียด ก่อนใช้ และเลือกอุปกรณ์เป็นชนิดกันน้ำ กระแสไฟฟ้าที่อาจรั่วได้ พร้อมทั้งติดตั้งสายดิน/ระบบตัดไฟรั่ว ระบบตัดไฟอัตโนมัติที่ติดตั้งมาภายในตัวเครื่อง และระบบตัดไฟที่ติดตั้งเองภายหลัง เพื่อความปลอดภัยจากการใช้งาน เพียงเท่านี้ เราก็ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นได้อย่างอุ่นกาย สบายใจ และยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศให้มากขึ้นด้วยครับ

ที่มา กระทรวงพลังงาน

เผยแนวปฏิบัติของ 9 กลุ่มกิจกรรมที่กลับมาเปิดได้วันที่ 3 พ.ค.

รายงานข่าว เปิดเผย ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 6  ว่า่ด้วยการผ่อนคลายให้เปิดกิจการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ เช่น กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือดูแลสุขภาพ ซึ่งได้มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด ทางเพจไทยคู่ฟ้า ได้เปิดเผยรายละเอียดการผ่อนคลายให้ทำกิจกรรม จากข้อกำหนด ฉบับที่ 6 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่แต่ละจังหวัดจะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.63 ดังนี้

การผ่อนคลายให้ทำกิจกรรม ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

  • โรงแรม สนามบิน สถานีรถไฟ ขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย
    • เปิดขายอาหารเครื่องดื่มได้แบบให้นำกลับบ้าน
    • เปิดบริการได้ แต่ต้องจัดระเบียบ
    • ขายสุราได้เฉพาะนำกลับบ้าน
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์
    • เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านโทรศัพทฺ ธนาคาร ที่ทำการของรัฐ
    • ร้านอาหารเฉพาะนำกลับบ้าน
  • ร้านค้าปลีก-ส่ง ตลาด ตลาดน้ำ ตลาดนัด
    • ควบคุมการเข้าออก
    • วัดอุณหภูมิ
    • เว้นระยะห่าง
  • ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม
    • สระ ตัด ซอย แต่งผม
    • ต้องไม่มีคนนั่งรอในร้าน

ด้านการออกกำลังกาย หรือดูแลสุขภาพ

  • โรงพยาบาล สถานทันตกรรม สถานพยาบาลทุกประเภทที่ถูกกม. : เปิดได้
  • สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
    • เปิดได้
    • ต้องไม่มีผู้ชม
    • ต้อมไม่มีการแข่งขัน
  • สนามกีฬากลางแจ้ง เช่น เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู
    • ผู้เล่นต้องมีระยะห่าง
    • ต้องไม่มีผู้ชม หรือการแข่งขัน
  • สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่สาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา
    • เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้ง
    • ต้องไม่มีผู้ชม หรือการแข่งขัน เล่น แสดง
  • สถานที่ให้บริการ ดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยง รับฝากสัตว์ : เปิดได้

คิง เพาเวอร์ ตอบจม.นายกฯ พร้อมช่วยเหลือ

นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้จัดทำเอกสารนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และรมว.กลาโหม ตามที่นายกฯ ได้ทำจดหมายมาขอให้ช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่มทุกภาคส่วนด้วยวิธีการใดก็ได้ เพื่อ บรรเทาความทุกข์จากมาตร การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ได้ จัดทำโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการเพื่อเยาวชนเช่น แจกลูกฟุตบอล 1 ล้านลูกสร้างฝันแก่เด็กไทย, สร้างสนามฟุตบอลเยาวชนไทยสนามที่ 61 -100 , ให้ทุนการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยมองฟอร์ตจากมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา 

ด้านการสาธารณสุข ได้มอบตู้อบเด็กให้โรงพยาบาล,สนับสนุนมูลนิธิก้าวเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านสาธารณสุข,ให้กระเป๋ายังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์ และในด้านอาชีพ หนุนโครงการฟ็อกซ์​ฮันท์ และ คิง เพาเวอร์คัพ,การประกวดวงดนตรีดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมเป็นเงิน 749 ล้านบาท

ส่วนโครงการเพื่อสังคมที่นำเสนอนายกฯ ในงบประมาณปี 63 – 65 ระยะเวลา 3 ปี เป็นเงิน 719.5 ล้านบาทนั้น คิง เพาเวอร์ ได้เสนอโครงการพัฒนาสังคมด้านชุมชน และเศรษฐกิจชุมชนเพื่อยกระดับศักยภาพของสินค้าไทย Thai Power World Market เพื่อยกระดับศักยภาพสินค้าไทยโดยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ และประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน วิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถสร้างยอดขายได้ในระดับนานาชาติ และในฐานะเจ้าของสโมสรทีม ฟุตบอลเลสเตอร์ ได้ขอให้นักเตะเลสเตอร์ช่วยโปรโมทประเทศไทยบนหน้าอกชุดแข่งขันในฤดูกาลนี้ พร้อมติดป้ายโฆษณาดิจิทัลในสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยมตลอดฤดูกาล ทั้งยังให้การสนับ สนุนทางการแพทย์ ด้วยการมอบรถพยาบาล และบริจาคชุด PPE ให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์ด้วย

และ เสนอให้พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่ากว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาอาจใช้เวลา 1- 2 ปี จึงจำเป็นต้องตั้งกองทุนเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวขึ้น,ทำประกันภัยโควิด -19 ให้่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย,พัฒนาระบบ e-visa on arrival การตรวจคนเข้าเมือง และบริหารจัดการ slot การบิน, พัฒนาองค์ความรู้แนวใหม่ให้สอดรับกับ New Normal,พัฒนา Super Application เพื่อการท่องเที่ยวในไทยทั้งแก่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ,แก้ไขความไม่เพียงพอของมัคคุเทศก์ให้นักท่องเที่ยวบางสัญชาติ และจัดคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

เงาหุ้น : มุมมองเอเซียพลัส!!

มีมุมมองน่าสนใจจาก “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทยเดือนพฤษภาคมว่า คาดว่าจีดีพี Q1/63 ของไทยที่จะประกาศในวันที่ 18 พ.ค.นี้ จะหดตัว

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 63 ยังคงมีมุมมองเดิมจะเข้าสู่ภาวะถดถอย Recession (จีดีพีหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 2 ไตรมาส) จากปัญหาโควิด–19 โดยคาดจีดีพีทั้งปี 63 จะติดลบ 1.4% อย่างไรก็ตาม รอการประกาศจีดีพี Q1/63 จากสภาพัฒน์ วันที่ 18 พ.ค.63

เบื้องต้นเอเซีย พลัส ได้ประมาณการจีดีพีไทยงวด Q1/63 ผ่านข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันอิงจาก Leading Economics Indicator ของไทย ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 จะออกมาติดลบ 7% ถือเป็น Downside ต่อประมาณการจีดีพีปี 63 ที่ปัจจุบันคาดว่าจะติดลบ 1.4% เนื่องจากเอเซีย พลัส ยังมีมุมมองว่างวด Q2/63

คาดว่าจะเป็นงวดที่ GDP จะติดลบมากที่สุด และน่าจะเป็น Bottom ของปี และคาดจะค่อยๆดีขึ้นในงวดไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ SET Index ฟื้นขึ้นเร็วราวครึ่งทาง จากจุดต่ำสุดของปีที่ลบ 39% เหลือ ลบ 19% ytd ในยามที่ไร้ Fund Flow หนุน และต่อจากนี้คงต้องกลับมาให้น้ำหนักในเรื่องผลประกอบการหลักเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศ Earning Season งวด Q1/63

เริ่มจากกลุ่ม ธ.พ. มีกำไรสุทธิในงวด Q1/63 อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาทลดลง 17% yoy เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยต่อจากนี้เป็นการประกาศใน Real Sector หลายกลุ่มโอกาสปรับตัวลงแรงเกิน 40%yoy

ขณะที่กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี ต้องเผชิญกับผลขาดทุน จากการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบ ณ สิ้นงวด Q1/63 ที่ปรับตัวลดลงจาก Q1/62 ราว 25-30 เหรียญฯ รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่า 2.5 บาท/เหรียญฯ

ส่วนกลุ่มขนส่งทางอากาศ คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกระทบหลักมาจากปริมาณความต้องการเดินทางที่ลดลง โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 อย่างหนัก สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการเส้นทางในประเทศ และเส้นทางต่างประเทศของ AOT ที่ลดลง 35.5%yoy และ 22.7% ตามลำดับ

ขณะที่สายการบินคาดว่าจะพลิกจากกําไรใน Q1/62 มาเป็นขาดทุนทุกราย
รวมถึงหุ้นกลุ่มอื่นๆที่กำไรมีโอกาสลดลงทั้ง qoq และ yoy เช่นกัน คือกลุ่มท่องเที่ยว, พลังงาน, อสังหาฯ ฯลฯ

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดยอินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เปิดจดหมายเจ้าสัวธนินท์ ตอบนายกฯ ประยุทธ์

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ทำจดหมายตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำหนังสือลงวันที่ 20 เม.ย.2563 ส่งถึงมหาเศรษฐีไทย เพื่อให้ช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมระบุส่งจดหมายหาเจ้าสัวในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ผมซาบซึ้งใจที่หลายท่านได้ลงมือช่วยเหลือประชาชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติมโดยใช้ศักยภาพของท่านมาทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

ประธานอาวุโส ซีพี ระบุในหนังสือตอบรับว่า “ผมถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติ ก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทย ทำให้วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 30 เมษายน 2563)

นอกจากนี้ทุกครั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยจากทุกภาคส่วน ออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเสมอมา เช่นเดียวกับวิกฤตในครั้งนี้ ที่จะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่ผมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป

ส่วนที่ 1 : ระยะแรก

การให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์

  • ดำเนินการสร้าง “โรงงานงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์” ใช้งบประมาณ 175ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยผลิตและส่งมอบหน้ากากอนามัยฟรี 3,000,000 ชิ้นต่อเดือน โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้จัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลทั่วประเทศ
  • บริจาคชุดป้องกัน Tyvek 400 Tychem 2000 หน้ากาก N95 แว่นตานิรภัย ถุงคลุมเท้า ชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว (Coverall) และ หน้ากากป้องกันเชื้อ (Face shield) ให้บุคลากรทางการแพทย์
  • สนับสนุน Antibody test kit จำนวน 110,000 ชิ้น มูลค่ารวม 20 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • บริจาคห้อง Conference System จำนวน 2 ชุด มูลค่า 5 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • มอบเงินสนับสนุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
  • มอบเงิน 77 ล้าน ให้กับ 77 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศภายใต้โครงการ“คนไทยไม่ทิ้งกัน” (ถึงปัจจุบันขยายเพิ่มอีก 5 โรงพยาบาล) มอบชุด PPE จำนวน 94,830 ชุด หน้ากากอนามัย KN95 จำนวน 75,480 ชิ้น แอลกอฮอล์ 3,670 ลิตร และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค (เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง Monitor หัวใจ เครื่อง Monitor สำหรับผู้ป่วย เตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ)ดำเนินการโดยซีพีออลล์
  • สนับสนุนอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ (เริ่ม 1 มีนาคม2563) และยังคงส่งมอบให้กับทุกโรงพยาบาลในโครงการอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนอาหารให้ครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 30,000 ครอบครัว (เริ่ม 9 เมษายน 2563 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง) โดยส่งอาหารถึงบ้านให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐที่มีส่วนช่วยดูแลสถานการณ์ โควิด-19ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนแท็บเล็ต และโทรศัพท์วิทยุสื่อสารจำนวนกว่า 500 เครื่อง พร้อมซิมทรูมูฟ เอช ที่ไม่จำกัดปริมาณ
  • การใช้งานแก่โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19รวม 50 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบซิมแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตไม่จำกัด พร้อมโทรฟรีทุกเครือข่าย นาน 90 วัน จำนวน 2,000 ซิม ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบข้าวสารสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โดยข้าวตราฉัตร

การให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ

  • ดูแลผู้เฝ้าระวังตนที่กลับจากต่างประเทศ ผ่านโครงการ “มอบอาหารจากใจ ต้านภัย COVID ส่งอาหารถึงบ้าน” ให้กับผู้เฝ้าระวังตนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 โดยมอบให้กว่า 20,000 ราย (จบโครงการแล้ว) ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • มอบไข่ไก่เพื่อทำอาหารปรุงสุกพร้อมทานแจกจ่ายผู้ยากไร้และว่างงานดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการลดจริง…ไม่ทิ้งกัน” โดยช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยจำหน่ายอาหารพร้อมทานในราคา 20 บาท จำนวน 1,000,000 ถาด ที่ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ร่วมด้วยช่วยค่าครองชีพ” สนับสนุนข้าวกล่องจำนวน 13 ล้านกล่อง จำหน่ายในราคา 20 บาทดำเนินการโดยซีพีออลล์

การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จากปัญหาการตกงาน หรือ ขาดรายได้

  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศนโยบายไม่ปลดพนักงานจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อรักษางาน นอกจากนี้
    ยังสร้างงานเพิ่มโดย ซีพี ออลล์ มีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 20,000 อัตรา และซีพีเอฟมีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 5,000 อัตรา เริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2563

การให้ความช่วยเหลือพนักงานกว่า 300,000 คนในประเทศไทย

  • ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความมั่นใจแก่เพื่อนพนักงานทุกคนว่า
    เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ ไม่มีนโยบายเลิกจ้างอันเนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์นี้ สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน และการดำรงชีพและปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป
  • หากพนักงานได้รับเชื้อโควิด-19เครือเจริญโภคภัณฑ์มีนโยบายดูแลพนักงานโดยรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
  • สำหรับบุคคลในครอบครัวของพนักงานได้แก่ คู่สมรสและบุตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เช่น
    ถูกเลิกจ้าง หรือ ไม่ได้รับค่าจ้างอันเนื่องจากการปิดงาน หรือปิดกิจการร้านค้าของตนเอง จนไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ไหว เครือเจริญโภคภัณฑ์จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการมอบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
  • ให้ความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนของบุตรธิดาของพนักงานที่เดือดร้อนเช่น การขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินระยะสั้นการติดต่อกับสถาบันการเงิน เป็นต้นโดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป

การให้ความต่อเนื่องกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อย และภาคการศึกษา

  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร SME นำร่องกว่า 50 ร้านค้าพันธมิตรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
    ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และสนับสนุนพื้นที่สื่อโฆษณาทุกช่องทางให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ โดยในอนาคต มีแผนจะขยายพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร
    ให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ดำเนินการโดยซีพีอินเตอร์เทรด
  • มอบ “ซิมสามัญประจำบ้าน แจกฟรีที่ 7-Eleven ทั่วประเทศ” โดยสามารถใช้แพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อเรียนทางไกลและทำงานที่บ้าน โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต โทรฟรีสายด่วนสำคัญช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาในการเข้าถึงองค์ความรู้โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อสนับสนุนการเรียนทางไกล ดำเนินการโดยกลุ่มทรู

การให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์

  • ถวายปัจจัยสมทบทุนช่วยเหลือพระสงฆ์ทั่วประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จำนวน 500 วัด ผ่านทางสำนักเลขาฯสมเด็จพระสังฆราช เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่พระสงฆ์ สามเณร ที่ไม่สามารถออกมารับอาหารบิณฑบาตและกิจนิมนต์ต่างๆ ของประชาชนได้ดำเนินการโดยซีพีออลล์

การให้ความช่วยเหลือชุมชน

  • “โครงการกองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับ CPFส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” ดำเนินการส่งมอบอาหารให้กับชาวชุมชนคลองเตยกว่า 8,499 หลังคาเรือน
  • “โครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกทม. ร่วมกับ CPFส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” (จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2563) ส่งมอบอาหารมื้อกลางวันเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับชาวชุมชนแออัดต่างๆ
    ใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 2 เดือน

“ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องรักษาความเชื่อมั่น และประคองระบบสังคม วิถีชีวิต ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจากไป และยังรักษาการจ้างงาน พี่น้องประชาชน จะยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพอาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน จะยังคงมีรายได้เพียงพอในการยังชีพมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในยามที่ฟ้ามืด ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อยามฟ้าสว่าง นั่นคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส และ ประเทศไทยกล้าตั้งเป้าหมายให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก” ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ ซีพีขอนำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการปลูกน้ำ โดยเน้นว่าประเทศไทยไม่เป็นเพียงอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทย แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำการผลิตอาหารให้แก่ชาวโลกอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รวดเร็วและรุนแรงได้บั่นทอนทรัพยากรน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างผลผลิตการเกษตร

นอกจากนี้ในแต่ละปีประเทศไทยต้องประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะไม่สามารถจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอและเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาให้จบสิ้นและเบ็ดเสร็จถาวรได้ ซ้ำร้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของหลายประเทศ ก็ถูกประเทศต้นน้ำสร้างเขื่อนขึ้นมาก กว่า 11 แห่ง และยังคงสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศปลายน้ำเช่นประเทศไทย ซึ่งมีระบบชลประทานครอบคลุมเพียง 30% ของเนื้อที่ ถูกลดทอนความมั่นคงของประเทศและความสามารถด้านการผลิตอาหารลงไปเรื่อยๆ โดยปริยาย ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว ยากจนอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ถูกบีบคั้นอย่างไม่มีทางออก จะจัดแบ่งที่ทำกินให้ลูกหลานทำต่อก็ทำให้แปลงเล็กลงและต้นทุนก้าวกระโดดขึ้นจนขาดทุนทำการเกษตรไม่ได้ ทำให้ลูกหลานเกษตรกรต้องอพยพเข้าเมืองหนีจากภาคเกษตรซึ่งขาดแรงจูงใจดูดรั้งให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นปัจจุบันที่มีอายุเฉลี่ยกว่า 58 ปีได้ ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ปัญหาทรัพยากรน้ำจึงจำเป็นต้องถูกแก้ไขเป็นการเร่งด่วนที่สุด

นอกจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยน้ำที่ได้กล่าวไปแล้ว ผลิตผลข้าวก็มีปัญหาในตัวเอง คือ ในตลาดโลกการผลิตข้าวมีปริมาณมากกว่าความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นหลายทศวรรษหลังการยุติของสงครามเย็น ทำให้ราคาข้าวตกต่ำมาโดยตลอด เฉพาะประเทศที่สามารถพัฒนาการปลูกข้าวไปสู่อุตสาหกรรมข้าวครบวงจร คือสามารถบริหารจัดการผ่านสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการตั้งแต่ต้นทางคือปลูกข้าวบนพื้นที่ๆเป็นแปลงติดกันขนาดใหญ่มาก ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีชั้นสูงแทนแรงงานคน ก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลงได้อย่างมากจนสามารถแข่งขันทำกำไรในราคาที่ตกต่ำได้

แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย ที่ยังใช้วิธีดั้งเดิมผ่านชาวนาเกษตรกรรายย่อย ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักและต่อเนื่องโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ภาครัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เช่น การประกันราคาข้าว การจำนำข้าว และการพักชำระหนี้ ซึ่งมิใช่การแก้ปัญหาจริงแต่เป็นเพียงการซื้อเวลาการแก้ปัญหาออกไป แม้การจะแก้ปัญหาโดยการกำหนดให้ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชมูลค่าสูงอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ไม้ผลและไม้ยืนต้น แต่ก็ต้องใช้เวลารอผลผลิตหลังปลูกไม่ต่ำกว่า 3 ถึง 5 ปี ระหว่างนั้นชาวนาจะมีรายได้เลี้ยงชีพอย่างไร? ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้กล่าวมานี้จะถูกแก้ไข ผ่านแผนยุทธการถ่าย“ปลูกน้ำ” ซึ่งซีพีได้ทำการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรไทยให้มากที่สุด

ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการที่ดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผล จึงถือได้ว่า โครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริม ในการบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในเอกสารฉบับนี้ เป็นมุมมองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือเจริญโภคภัณฑ์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป

กยศ.ขยายเกณฑ์คุณสมบัติผู้กู้ยืม ปรับเพิ่มค่าครองชีพ

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2563 กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปรับเกณฑ์คุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากเดิมรายได้ไม่เกิน 200,000 บาท/ปี เป็นไม่เกิน 360,000 บาท/ปี เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น

รวมถึงปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษา โดยระดับ ม.ปลาย จากเดิม 1,200 บาท ปรับเพิ่มเป็น 1,800 บาท/เดือน ส่วนระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี จากเดิม 2,400 บาท ปรับเพิ่มเป็น 3,000 บาท/เดือน
.

นอกจากนี้ กยศ. ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา ที่กำลังมองหาโอกาสทางการศึกษา เพื่อต่อยอดสู่สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก โดยเฉพาะสาขาวิชาที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ 3 โครงสร้างพื้นฐาน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้กู้ยืมที่เรียนระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2566 เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี

สำหรับผู้กู้ยืมระดับปริญญาตรี จะได้ส่วนลดเงินต้น 30% ส่วนผู้กู้ยืมระดับอาชีวศึกษา จะได้ส่วนลดเงินต้น 50% เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และช่วยเพิ่มกำลังคนในสายวิชาชีพ ที่ยังขาดแคลนสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศ

นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สามารถยื่นแบบคำขอกู้ยืมล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ e-Studentloan และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th หรือสอบถามได้ที่ LINE@กยศ. หรือ โทร. 0 2016 4888