Home Blog Page 34

ซีพี จับมือชาวชุมชน ตั้งตู้ปันอิ่ม ปันสุข ย่านตรอกจันทน์

ผู้บริหารและพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดโครงการ “ซีพี ปันอิ่ม ปันสุข” ตั้งตู้ปันอิ่ม ปันสุข บรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม เพื่อแบ่งปันและบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 ในย่านตรอกจันทน์ ได้อิ่มท้องและอิ่มใจ พร้อมเชิญชวนผู้ที่มีกำลังช่วยเหลือผู้อื่นมาร่วมแบ่งปัน ส่งเสริมสังคมเกื้อกูล สร้างความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า โครงการ “ตู้ปันอิ่ม ปันสุข” ถือเป็นกิจกรรมเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ที่เพื่อนพนักงานชาวซีพีร่วมมือกับชุมชนชาวตรอกจันทน์ตั้งขึ้น เพื่อร่วมแบ่งปันข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19

“ตู้ปันอิ่ม ปันสุข” ตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคารซีพีเอฟ(ประเทศไทย) ตรอกจันทน์ ถ.จันทน์ ซอยจันทน์ 24 และจะเริ่มปันสุขตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้เป็นต้นไป โดยพนักงานซีพี ตลอดจนชาวตรอกจันทน์ที่มีความพร้อม สามารถนำอาหารและเครื่องดื่มมาเติมตู้ได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ จะเป็นสื่อกลางในการปันความสุขของผู้ให้ไปสู่ความอิ่มของผู้รับ ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานซีพีทุกคนยินดีที่จะช่วยเหลือ การได้สร้างรอยยิ้มเติมความอิ่มให้แก่ชาวตรอกจันทน์ที่เดือดร้อน เปรียบเหมือนกับคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่ต้องช่วยเหลือกัน ส่วนชาวตรอกจันทน์ท่านใดที่มีกำลังพอจะช่วยเหลือผู้อื่น ก็ขอเชิญชวนท่านมาร่วมปันความสุขผ่านตู้ใบนี้ เพื่อส่งเสริมสังคมเกื้อกูล สร้างชุมชนน่าอยู่ และก้าวผ่านวิกฤตโควิด19ไปด้วยกัน

นายธวัชชัย แพงไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตสาทร กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เห็นกลุ่มพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์และชุมชนชาวตรอกจันทน์ ร่วมกันทำกิจกรรมตู้ปันสุข เพื่อแบ่งปันให้ชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้ ที่บางคนมีความลำบากในการดำรงชีวิต เมื่อเกิดโควิด19ซ้ำเติมเข้าไป ยิ่งทำให้เดือดร้อนและขาดรายได้ การแบ่งปันให้คนที่อยู่พื้นที่เดียวกันเช่นที่พนักงานเครือซีพีซึ่งมีสำนักงานอยู่บนถนนจันทน์ได้แสดงน้ำใจเช่นนี้ นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและต้องขอขอบคุณทุกๆน้ำใจ ที่ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น

เอไอเอส จับมือร้าน 6.11 ขายซิมผ่านตู้เวนดิ้ง เสริมช่องทางจำหน่ายรับ New Normal

นางสาวเบญจพร กำเพ็ชร หัวหน้าส่วนงานการตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เปิดเผยว่า บริษัทขยายช่องทางจัดจำหน่ายซิมเติมเงิน AIS 1-2-Call ให้ครอบคลุมมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เสริมความแข็งแกร่งให้เข้าถึงและโดนใจไลฟ์สไตล์คนไทยยุคโควิด-19 ผนึกกำลังกับ กลุ่มบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและดำเนินการร้าน 6.11 คอนเนอร์ (ซิกอีเลเว่น คอนเนอร์) ร้านตู้จำหน่ายสินค้าและเครื่องดื่มอัตโนมัติ มอบความสะดวกสบายให้ลูกค้าสามารถซื้อซิมมือถือระบบเติมเงิน “ซิมสุดคุ้ม” ผ่านตู้เวนดิ้ง (Vending) ที่ร้าน 6.11 คอนเนอร์

คุณชูเกียรติ รุจนพรพจี-6.11 และ คุณเบญจพร กำเพ็ชร-เอไอเอส

การร่วมมือกับร้าน 6.11 คอนเนอร์ ร้านสะดวกซื้อแนวคิดใหม่ที่เป็น Machine Store 100% มีจำนวนสาขาถึง 219 แห่ง กระจายตัวอยู่ตามชุมชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองสำคัญในต่างจังหวัด และมีแผนขยายสาขาจนครบทุกจังหวัดภายในปีหน้า เพื่อมอบความสะดวกสบายให้ลูกค้าสามารถกดซื้อซิมมือถือระบบเติมเงิน “ซิมสุดคุ้ม” จากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ พร้อมทั้งแสดงตนผ่านระบบ eKYC เพื่อเปิดใช้งานซิมที่หน้าตู้ได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองทันที โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปแสดงตัวเพื่อเปิดใช้งานซิมที่หน้าร้าน ตอบรับไลฟ์สไตล์แบบ New Normal ของคนไทยที่ต้องรักษาระยะห่างตามมาตรการ Social Distancing

นอกจากนี้ ยังมอบความคุ้มค่าพร้อมสร้างความอุ่นใจให้กับลูกค้า ด้วยการมอบความคุ้มครองถึง 2 ต่อ ทั้งความคุ้มครองประกันอุบัติสูงสุด 60,000 และความคุ้มครองประกันโควิด-19 สูงสุด 100,000 บาท ฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน และยังมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าสามารถกดรับเครื่องดื่มมูลค่า 10 บาท ที่ร้าน 6.11 คอนเนอร์ได้ฟรี เมื่อเปิดใช้งานซิมสำเร็จอีกด้วย

และสำหรับลูกค้าซิมเติมเงิน AIS1-2-Call เมื่อเติมเงินผ่านตู้เติมสบายพลัส ภายในร้าน 6.11 คอนเนอร์ ยังมีโปรโมชั่นเติมเงินฟรีค่าธรรมเนียม ทุกยอดการเติมเงินให้อีกด้วย ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2563

“ร้าน 6.11 คอนเนอร์ได้เปิดให้บริการแล้วกว่า 219 สาขา ซึ่งจุดติดตั้งใกล้กับแหล่งชุมชนกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเริ่มขยายไปในจังหวัดอยุธยาและจังหวัดชลบุรีเช่นกัน และยังมีแผนที่จะขยายสาขาให้ครบทุกจังหวัดทั่วไทยในปีหน้า เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ เอไอเอส มอบความสะดวกสบายให้ลูกค้าสามารถซื้อซิมมือถือระบบเติมเงิน “ซิมสุดคุ้ม” ได้ที่ร้าน 6.11 คอนเนอร์ นอกจากจะช่วยสนับสนุนการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายของเอไอเอสแล้ว ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้าและบริการของร้าน 6.11 คอนเนอร์ อีกด้วย ซึ่งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยและการรักษาระยะห่างทางสังคมมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้ามองหาการใช้บริการแบบ Self-Service และร้าน 6.11 คอนเนอร์ก็เป็นคำตอบในเรื่องนี้

ปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของคนไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้คนเรามีความระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดตัวบุคคลหรือสิ่งของ โดยให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เอไอเอส เข้าใจในสถานการณ์ดังกล่าว จึงมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจัดจำหน่ายให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการได้มากที่สุด สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่เป็นอยู่

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดซิมสุดคุ้มที่ www.ais.co.th/soodkoom-insurance/ หรือตรวจสอบร้าน 6.11 คอนเนอร์ สาขาใกล้บ้านได้ที่แอปพลิเคชัน 6.11 รองรับทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์

KBANK เผยยอดเปิดบัญชีออนไลน์ทะลุแสน คนกดเงินตู้ลดฮวบ ช่วงโควิด-19

   นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ยอดเปิดบัญชีออนไลน์เพิ่มขึ้น 110,000 บัญชี  หนุนจำนวนบัญชีลูกค้าที่เปิดบัญชีผ่านระบบดิจิทัลประมาณ 160,000 บัญชี (เดิมมี 5,000 บัญชี) และยังได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 60%

   ส่วนการซื้อของออนไลน์ผ่านโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารกสิกรฯ เติบโตขึ้น 57% แต่การการใช้ตู้ ATM ลดลง 18%  สะท้อนว่าคนเริ่มเปลี่ยนตัวเองสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น

   ทั้งนี้พฤติกรรมใหม่ของประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด  (New Normal) ที่เกิดขึ้นทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นความไม่แน่นอนของรายได้ตนเอง และจะมีการเก็บออมมากขึ้น ส่วนภาคธุรกิจ จะมีโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไป การใช้แรงงานจะลดลง ซึ่งช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสหนุนการใช้ระบบออโต้มากขึ้น ส่งผลให้ Supply Chain สั้นลง ทำให้แต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มี New Normal เกิดขึ้นตามไปด้วย  เห็นได้จากการชำระเงินแบบไร้การสัมผัสที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
   ดังนั้น ในอนาคตธนาคารต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภค และ New Normal เช่น นโยบายพิจารณาสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจอาจเปลี่ยนไปโดยธุรกิจที่ดีในอดีตอาจมีความน่าสนใจน้อยลง ขณะที่ธุรกิจที่ไม่มีความน่าสนใจในอดีตอาจจะมีความน่าสนใจขึ้น 

   นอกจากนี้ธนาคารยังต้องมุ่งหาการทำธุรกิจใหม่ๆ มากกว่าการทำธุรกิจธนาคาร ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ  ทั้งนี้ ธนาคารต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน และเมื่อพ้นระยะนี้ไปต้องเร่งเพิ่มProductivity ด้วยการใช้เทคโนโลยี รีสกิลพนักงาน และลดต้นทุนในการบริการให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของยุควิกฤติ 

   ด้าน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ  KBANK ให้ความเห็นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤต แต่ก็ทำให้เกิดวิถีชีวิต New Normal ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ จากวิกฤติดังกล่าวทำให้เห็นว่าแพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันมากขึ้น หากเราจับเทรนด์เกี่ยวกับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ก็จะเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นและเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงจะเห็นว่าทุกวิกฤติจะมีโอกาสอยู่เสมอ อยู่ที่เราจะมองเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง

เงาหุ้น : ดัชนีตึงตัว

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 29 พ.ค.63 ปิดที่ 1,342.85 จุด เพิ่มขึ้น 5.34 จุด มีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 96,186.64 ล้านบาท ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 5,504.30 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด BAM ปิด 23.60 บาท บวก 0.20 บาท, BANPU ปิด 6.25 บาท ลบ 0.80 บาท, AWC ปิด 4.74 บาท ลบ 0.04 บาท, PTT ปิด 35.50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, GULF ปิด 37.75 บาท บวก 0.75 บาท

มีแจ้งข่าวตลาดจาก NOBLE ปฏิเสธข่าวเทกโอเวอร์ LPN ว่าไม่เป็นความจริง หากบริษัทฯ ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมแล้ว จะรีบแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯโดยเร็วต่อไป

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนปี 63 และปี 64 ใหม่ อยู่ที่ 6.88 แสนล้านบาท (ลดลง 26.4%YoY) และอยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21% YoY) ตามลำดับ โดย EPS 63F เหลือเพียง 64 บาท/หุ้น (ลดลง 27.5%YoY) และ EPS64F เหลือเพียง 77.4 บาท/หุ้น (เพิ่มขึ้น 21.0%YoY)

ส่วน PE ของตลาดที่เหมาะสม ได้ Sentiment จากการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้ตลาดหุ้นไทยซื้อขายบน PE ที่สูงขึ้น 0.79 เท่า ถือการเปิด Upside ของดัชนีราว 51 จุด ตามประมาณการ EPS ใหม่

หากประเมินเป้าหมายดัชนี บนคาดการณ์ EPS ของตลาดปี 63 ใหม่ที่ 64 บาท/หุ้น และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5%, Bond Yield 1 ปี เท่ากับดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 18.2 เท่า คิดเป็นดัชนีเป้าหมายปี 63 ที่ 1,164 จุด และเป้าหมายปี 64 ที่ 1,407 จุด

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยไม่สามารถชดเชยกำไรที่ลดลงได้ กดเป้าหมายดัชนีปีนี้ลดลง เพราะเป้าหมายที่เหมาะสมของดัชนีในปีนี้เหลือเพียง 1,164 จุด เท่ากับว่าที่ระดับดัชนีปัจจุบันไม่เหลือ Upside ทางพื้นฐานแล้ว หรือในอีกทางหนึ่งกล่าวได้ว่าที่ระดับดัชนีปัจจุบันซื้อขายบนความคาดหวังของกำไรปี 64 (มองข้ามปี 63 ที่เป็นหลุมลึกของผลประกอบการไป)

แนะกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนในยามที่ Valuation ตลาดเริ่มตึง ท่ามกลางความไม่แน่นอน ให้น้ำหนักไปที่หุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งผันผวนต่ำ และปันผลสูงเป็นหลัก เช่นเดียวกับพอร์ตจำลองของฝ่ายวิจัยฯ ส่วน Toppick เลือก BBL–BDMS!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เงาหุ้น : มุมมองหยวนต้า

วันที่ 28 พ.ค.63 ปิดที่ 1,337.51 จุด ลบ 7.60 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 85,822.70 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 763.13 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าการซื้อขายสูงสุด BAM ปิด 23.40 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, BBL ปิด 109.50 บาท บวก 7 บาท, KBANK ปิด 96 บาท บวก 5.50 บาท, PTT ปิด 35.50 บาท ลบ 1 บาท, AOT ปิด 61.25 บาท ลบ 0.25 บาท

ตลาดหุ้นไทยพลิกกลับปรับตัวลงในช่วงท้ายตลาด หลังช่วงเช้าวิ่งทะลุแนวต้าน 1,355 จุด ขึ้นไปได้ จึงโดนแรงขายทำกำไรออกมา ท่ามกลางความกดดันจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า ดัชนีตลาดบริเวณบวก/ลบ 1,350 จุด เริ่มมี Upside ที่จำกัด ขณะที่ Swing Factor คือปัจจัยการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยให้ติดตามท่าทีของสหรัฐฯ ว่าจะออกมาตรการโต้ตอบจีนหรือไม่ หลังจีนผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกงแล้ว

ดังนั้น ภาพโดยรวมหยวนต้า ยังคงมุมมองการลงทุน โดยให้กระชับพอร์ต เข้าสู่โหมดลงทุนหุ้น Defensive มากขึ้น ได้แก่ ADVANC, INTUCH, DTAC, CPALL, DIF, TISCO, RATCH, CPF

ขณะที่คาดทิศทางตลาดวันสุดท้ายของสัปดาห์ จะมีความผันผวนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงท้ายตลาด เนื่องจากจะมีการปรับน้ำหนักดัชนี MSCI ส่งผลให้เกิดความผันผวนจากเม็ดเงินต่างชาติ ทั้งหุ้นที่ถูกเพิ่มเข้าและถอดออกจากดัชนี รวมทั้งหุ้นที่ถูกปรับเพิ่มหรือลดน้ำหนัก ดังนั้น การเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัว หากมีความผันผวนกว่าปกติ สาเหตุน่าจะเกิดจากการปรับน้ำหนักดัชนี MSCI

หยวนต้า ยังมองตลาดในภาพรวมว่า ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นมาถึง 38% นับจากจุดต่ำสุดที่ 969.08 จุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค.63 ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนกว่า ถือว่าฟื้นตัวค่อนข้างมากและรวดเร็ว เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลักๆในหลายประเทศ ดังนั้นการขยับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยจากนี้ไป จะไม่รวดเร็วและร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะตลาดหุ้นไทยสะท้อนความคาดหวังต่อการฟื้นตัวในอนาคตพอสมควรแล้ว

หุ้นกลุ่มที่เป็นผู้นำตลาดน่าจะเป็นกลุ่มการเงิน–ลีสซิ่ง และโรงไฟฟ้า เพราะได้รับผลกระทบจำกัดจากโควิด–19 และได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำ ส่วนกลุ่มที่จะเป็นตัวแปรกำหนดทิศทางตลาด

ภาพรวมคือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งมีน้ำหนักตลาด!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี จ่อแตะ 80% สูงสุดตั้งแต่ปี 59

ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาสสี่ปี 2562 มีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน ด้านภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.23 ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.90 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ 

ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผ่านหลายช่องทาง ในส่วนของปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องของประชาชนได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและบรรเทาภาระค่าครองชีพต่างๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่มีศักยภาพและไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการระยะสั้นและมุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเตรียมแผนการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือฟื้นฟูและยกระดับรายได้ของครัวเรือนอย่างชัดเจนเพื่อให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ให้สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ครัวเรือนได้เพื่อชดเชยรูปแบบหนี้ที่เน้นการอุปโภคบริโภค

สถานการณ์ครัวเรือนไทยกำลังเผชิญผลกระทบทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจและสังคมในระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ จากผลการศึกษาโครงการสำรวจและศึกษาสาเหตุที่คนไทยก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ทำให้เห็นรูปแบบการสะสมความเสี่ยงที่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของครัวเรือนเป็นจำนวนมาก ได้แก่

  • พฤติกรรมการก่อหนี้ที่เน้นการบริโภค นำไปสู่การสร้างภาระทางการเงินของครัวเรือน และไม่สามารถช่วยยกระดับรายได้ของครัวเรือนให้สูงขึ้นได้ในระยะยาว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายมักเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น ขณะเดียวกันปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เริ่มทำงานใหม่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายจ่ายเพื่อสันทนาการฯ อาทิ ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/บุหรี่ ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว และค่าการดูแลความสวยงาม รวมถึงทัศนคติที่พร้อมจะใช้จ่ายมากขึ้นเมื่อมีรายได้สูงขึ้น และความคลั่งไคล้ในการชอปปิง
  • ทัศนคติและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนมีแนวโน้มทำให้เกิดการบริโภคสูง การก่อหนี้ที่นำไปใช้จ่ายผิดประเภท และการเข้าสู่วงจรหนี้ซ้ำ โดยเฉพาะการนำเงินที่ได้จากการกู้เพื่อประกอบอาชีพและเพื่อการศึกษาไปใช้บริโภคแทนการลงทุนและต่อยอดเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตในระยะยาว และเมื่อไม่สามารถชำระคืนได้จะอาศัยการกู้เงินจากแหล่งอื่นเพื่อนำไปชำระหนี้คืนแทน (การก่อหนี้ซ้ำ) และ
  • การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้เห็นความเปราะบางของครัวเรือนชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในช่วงสถานการณ์ปกติครัวเรือนไทยก็มีปัญหาทางการเงินในระดับสูง ทั้งการมีเงินออมน้อย มีภาระหนี้สูงและนาน และภูมิคุ้มกันทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ เมื่อต้องเผชิญกับภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวทำให้ผลกระทบต่อครัวเรือนจะมีความรุนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง 

ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหาของภาครัฐพยายามเร่งดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนในช่วงระยะสั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือ การแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางการเงินในระดับเชิงโครงสร้างของครัวเรือนในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดย

  • การสร้างกลไกเพื่อบรรเทาภาระหนี้และปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้โดยมีภาครัฐเป็นสื่อกลาง
  • การยกระดับรายได้ของประชาชนให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
  • การส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนผ่านช่องทางเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

การบินไทย คืนเงินค่าตั๋วลูกค้าไม่ได้ เพราะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูแล้ว

รายงานข่าว เปิดเผยว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาชี้แจงกรณีผู้โดยสารขอคืนบัตรโดยสาร ว่า ด้วยสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องหยุดทำการบินชั่วคราว และผู้โดยสารจำนวนมากไม่สามารถเดินทางได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนแปลงการเดินทาง โดยขยายอายุบัตรโดยสาร เปลี่ยนบัตรโดยสารให้เป็น Travel Voucher ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับราคาบัตรโดยสารเดิม การขอคืนเงินค่าบัตรโดยสาร (Refund) ภายใน 180 วัน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทฯ ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทฯ จึงถูกบังคับด้วยข้อกฎหมายทำให้ยังไม่สามารถชำระคืนเงินค่าบัตรโดยสารได้ในขณะนี้ บริษัทฯ ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่ไม่อาจชำระเงินคืนให้ลูกค้ารายต่างๆ ได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตามขอเรียนว่าบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะดูแลลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) อย่างดีที่สุดภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างแน่นอน โดยจะแจ้งถึงสิทธิของท่าน และความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีฟื้นฟูกิจการทางช่องทางต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ของบริษัทฯ ร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย และขอให้ผู้โดยสารมั่นใจว่า บริษัทฯ ยังคงดูแลผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารของการบินไทย รวมถึงสมาชิกรายการสะสมไมล์ รอยัล ออร์คิด พลัส ทุกท่าน โดยเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะสามารถก้าวผ่านวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ และกลับมาเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านการบินที่แข็งแกร่ง เพื่อความภาคภูมิใจของประชาชนชาวไทย และเพื่อผู้โดยสารทุกท่านในฐานะลูกค้าคนสำคัญของบริษัทฯ เสมอมา

อนึ่ง บริษัทฯ ขอขอบพระคุณที่ลูกค้ามีความเข้าใจและให้การสนับสนุนกิจการของบริษัทฯ มาโดยตลอด บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคครั้งใหญ่ของบริษัทฯ ในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ สามารถกลับมาประกอบการอย่างแข็งแกร่งได้ต่อไป

เอไอเอส จับมือ เซ็นทรัล ขยายจุดทิ้ง E-Waste ทุกห้าง

เอไอเอส เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทย จัดตั้งแคมเปญ “คนไทยไร้ E-Waste” ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ประเดิมความร่วมมือครั้งแรกกับกลุ่มเซ็นทรัล ขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste ในศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล 34 แห่ง ทั่วประเทศและอาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ รองรับชีวิตวิถีใหม่ หลังคลายล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเชิญชวนคนไทย คัด แยก ทิ้ง ขยะ E-Waste ให้ถูกที่ ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

            นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส เป็นแกนนำในการรับทิ้งและกำจัดขยะ E-Waste อย่างถูกวิธี ภายใต้โครงการ “ทิ้ง E-Waste กับ AIS”  ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2562 ปัจจุบันสามารถรวบรวมขยะ E-Waste ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต, แบตเตอร์รี่มือถือ, พาวเบอร์แบงก์, สายชาร์จ หูฟัง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องเล่น MP3  นำไปกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero landfilled ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 49,952 ชิ้น สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 499,520 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์

           เพื่อสานต่อความตั้งใจ และปฏิบัติ “Mission Green 2020” ที่ตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ในปี 2020 ให้สำเร็จ จึงได้จัดตั้งแคมเปญ “คนไทยไร้ E-Waste” ภายใต้แนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย” จับมือร่วมกับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่มีปณิธานในด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีคืนสู่สังคมไทยสร้างอีโค่ซิสเต็มด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างยั่งยืน

            การจับมือกับ กลุ่มเซ็นทรัล ในการร่วมเป็นช่องทางวางถังรับทิ้ง E-Waste  จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะ กลุ่มเซ็นทรัลมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ภายใต้การบริหารรวม 34 โครงการ กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ หากประชาชนไปช้อปปิ้ง ก็สามารถพกขยะ E-Waste ติดตัวไปทิ้งได้อย่างสะดวก โดย เอไอเอส จะนำถังรับทิ้ง E-Waste ไปตั้งบริเวณ โซน E-Center ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทุกสาขา (รวม 34 สาขา ทั่วประเทศ) และที่อาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ คาดว่าจะติดตั้งถังรับขยะ E-Waste เสร็จครบทุกสาขาในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้

            นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัล ติดตั้งถังขยะ E-Waste ที่ศูนย์การค้าของบริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) นำร่องแล้ว ทั้งหมด 8 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว, เซ็นทรัลพลาซา บางนา, เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2, เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3, เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ,เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9, เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลเวิลด์ และที่อาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมทั้งมีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งเพิ่ม เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 34 สาขาทั่วประเทศ อีกทั้งกระจายไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น อาทิ บ้านแอนด์บียอนด์, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, แฟมิลี่มาร์ท และพื้นที่อื่นๆ ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล

เงาหุ้น : คลายล็อกทั่วโลก

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด AOT ปิด 61.50 บาท บวก 2.25 บาท, CPF ปิด 31.25 บาท บวก 2.25 บาท, STA ปิด 26.25 บาท บวก 2.85 บาท, MINT ปิด 19.70 บาท บวก 0.50 บาท และ KBANK ปิด 90.50 บาท บวก 2.25 บาท

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ต่อ หลังพบทั่วโลกทยอยคลายล็อก ให้เปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น พร้อมความคาดหวังไวรัสและยาต้านโควิด-19 ที่มีโอกาสได้ใช้ภายในปีนี้

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่าง จีน-สหรัฐฯกับเดิมพันสงครามการค้าโลก

บล.เอเซีย พลัส ชี้ตลาดหุ้นโลกภาพรวมยังคึกคัก หลังจากผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อสหรัฐฯเผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีโอกาสได้ใช้ปีนี้ รวมถึงกระแสเริ่มกลับมาเปิดเมืองในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ สเปนและเยอรมนีให้ประเทศในแถบ EU สามารถเดินทางไปมาได้ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เป็น Sentiment บวก ต่อหุ้นสายการบิน และหุ้นท่องเที่ยว

ขณะที่ฝั่งไทย แม้หุ้นสายการบิน และกลุ่มท่องเที่ยวน่าจะได้ Sentiment เชิงบวกเช่นกัน

แต่หุ้นส่วนใหญ่เริ่มเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ขณะที่ยังมีหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าและน่าสนใจลงทุน คือ กลุ่มโรงพยาบาล

หากพิจารณาความจำเป็นผู้เดินทางมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ ผู้ป่วย, นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว พบว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นเร่งด่วนสุดในการเดินทางเพื่อมารักษา บวกกับประเทศที่นิยมมารักษา อย่างสิงคโปร์ อินเดีย ยังมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อสูง ส่งผลดีต่อโรงพยาบาลไทย น่าจะเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆในการเดินทางมารักษา

สำหรับภาพรวมตลาด แม้ Fund Flow ยังไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัย แต่การลงทุนในตลาดหุ้นจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้น จากสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่มีโอกาสกลับมาได้อีกครั้ง หุ้นเด่น Toppick เลือกหุ้น BDMS (FV @ 23.80) ปัจจัยบวกรอบด้าน

ทั้งความจำเป็นในการเดินทางของผู้ป่วยที่มากกว่านักท่องเที่ยว รวมถึงฐานผู้ป่วยในไทยเดือน เม.ย.63 ฟื้นตัวได้เร็ว และ Valuation ที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มจากความสามารถในการเติบโตระยะยาว

ขณะที่หุ้น SAT (FV @ 14.00) ที่ได้ Sentiment จากการ Reopen อีกทั้งกรมสรรพสามิตอยู่ในช่วงพิจารณาลดภาษีรถยนต์ 50% รวมถึงราคาหุ้นยัง Laggard ตลาดอยู่มาก!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

รู้ทันปากท้อง กับตลาดหลักทรัพย์ : ขายของไม่ได้ เครียด ทำยังไงดี

คุยกับกูรูค้าขาย “อาซ้ง” คุณทรงพล ชาญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)

มาให้ข้อคิด ช่วงนี้ ขายของไม่ได้ เครียด แล้วต้องทำไง

อย่างแรกที่ต้องทำ คือ

“ทำใจ”

แล้วคิด วิเคราะห์ แยกแยะปัญหาไปทีละเปลาะ ตั้งแต่ ตัวสินค้า ราคา ช่องทางขาย การประชาสัมพันธ์

หาสาเหตุให้ได้ว่า ทำไมเราถึงขายไม่ได้

แล้วเราจะได้คำตอบ บนพื้นฐานจิตใจที่แช่มชื่น พร้อมแก้ไขปัญหา