Home Blog Page 28

โค้งสุดท้าย SSFX

บทความโดย ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่สามารถซื้อกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra: SSFX) ได้ ดังนั้น หากคุณมีความพร้อมในเรื่องเงิน เห็นความสำคัญของการออมในระยะยาว ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเห็นจังหวะราคาหุ้นปรับลดลง ควรใช้โอกาสนี้ในการลงทุน

ทำไมต้องซื้อกองทุน SSFX คำตอบคือ เป็นโอกาสพิเศษสำหรับการลงทุน ซึ่งประเด็นนี้ สาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ เฉลยถึงความพิเศษของการลงทุนในกองทุน SSFX ว่า

  1. ไม่ว่าคุณจะมีฐานรายได้มากหรือน้อย เป็นรายได้ประจำหรือไม่ประจำ เมื่อซื้อกองทุน SSFX จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  2. เงินลงทุนในกองทุน SSFX ที่นำไปลดหย่อนภาษี จะไม่นับรวมกับกองทุนกลุ่มเกษียณอื่นๆ หมายความว่า หากลงทุนในกองทุนกลุ่มเกษียณที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ ในปีนี้จนเต็มวงเงิน 500,000 บาทแล้ว และถ้าลงทุนในกองทุน SSFX อีก 200,000 บาท ก็จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี นำไปลดหย่อนสูงสุดได้ถึง 700,000 บาท
  3. ลงทุนกองทุน SSFX เหมือนได้ส่วนลด (Discount) จากราคาปัจจุบัน เนื่องจากได้ลดหย่อนภาษี เช่น หากมีฐานภาษี 10% แสดงว่าได้ซื้อกองทุน SSFX ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน 10% หรือฐานภาษี 15% แสดงว่าได้ซื้อ SSFX ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน 15% เป็นต้น
  4. เนื่องจากกองทุน SSFX เมื่อซื้อแล้วต้องถือครอง 10 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ซื้อ ซึ่งมีระยะเวลาลงทุนนานพอที่จะทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน และเมื่อครบกำหนดสามารถขายหน่วยลงทุน ทำให้มีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปทำอย่างอื่นต่อได้

10 ปีกับการลงทุนกองทุน SSFX ถือว่าไม่นาน ยิ่งหากเคยลงทุนกองทุน LTF และ RMF มาแล้ว ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ที่สำคัญกองทุน LTF และ RMF ได้พิสูจน์มาแล้วว่า การลงทุนในระยะยาวสามารถลดความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างน่าประทับใจ จึงเชื่อว่าเงินลงทุนกองทุน SSFX วันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าจะงอกเงยขึ้นตามลำดับ” สาห์รัช อธิบายถึงความพิเศษของการลงทุนในกองทุน SSFX

อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องถามตนเองให้แน่ใจว่า เงินที่แบ่งมาลงทุนในกองทุน SSFX นั้น เป็นเงินก้อนที่จะไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไปตลอด 10 ปีนับจากนี้หรือไม่ อย่าลืมศึกษานโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนว่า สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตนเองมากน้อยเพียงใด

อีกทั้ง ต้องดูข้อจำกัดด้วย โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 30 มิถุนายนนี้ไปแล้ว จะไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้อีก

หรือเงื่อนไขในการสับเปลี่ยนกองทุน โดยกองทุน SSFX จะสับเปลี่ยนได้กับกองทุน SSFX ด้วยกันเท่านั้น แต่จะไม่สามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวมประเภทอื่นๆ ได้ เพราะมีเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น “ก่อนจะดำเนินการต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า กองทุนปลายทางที่ต้องการสับเปลี่ยนไปนั้น เป็นกองทุน SSFX หรือไม่” สาห์รัช แนะนำ

ที่สำคัญ ควรศึกษาถึงบทลงโทษเมื่อทำผิดเงื่อนไข กรณีขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 10 ปี

  1. จะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อนไป พร้อม “เงินเพิ่ม” ในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อน โดยควรยื่นชำระคืนภาษีทันทีที่ผิดเงื่อนไข เพราะเงินเพิ่มจะเริ่มนับตั้งแต่เดือนที่ผิดเงื่อนไข ไปจนถึงเดือนที่มีการยื่นเรื่องคืนภาษีให้กรมสรรพากร
  2. กำไรที่ได้จากการขายคืนกองทุน SSFX ถือเป็นรายได้ในปีที่ขายคืน ดังนั้น ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  3. หากขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือครองต่ำกว่า 1 ปี จะเสียค่าปรับ 1.50% ของมูลค่าซื้อขาย

ถึงแม้กองทุน SSFX จะมีความพิเศษและข้อดี แต่ก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างไปจากกองทุน LTF และ RMF ที่ผู้ลงทุนคุ้นเคย และยิ่งใกล้ถึงวันสุดท้ายที่เปิดให้ลงทุน เพื่อป้องกันความผิดพลาด ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

ดูรายชื่อและรายละเอียดกองทุน SSFX คลิก >> https://setga.page.link/fShfM54TGd2XrL4k6

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

CPF Food Truck เสิร์ฟอาหารเติมอิ่ม ครั้งที่ 23 ให้ชาวชุมชนใต้สะพานพระราม 8

รายงานข่าว เปิดเผยว่่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ร่วมกันจัดโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ…สู่ชุมชน” ครั้งที่ 23 ส่งรถ CPF Food Truck นำอาหารอุ่นร้อนมอบชาวชุมชนใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีธุรกิจพันธมิตร ได้แก่ ข้าวตราฉัตร ทรูคอร์ปอเรชั่น แม็คกรุ๊ป และโอสถสภา เข้าร่วมด้วย

รมว.กระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งที่ 23 หลายคนได้เห็นรถ CPF Food Truck เข้าแจกจ่ายอาหารแก่พี่น้องไปแล้วกว่า 100 ชุมชน ในพื้นที่ 6 เขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าเป็นโครงการระยะยาวที่มีประสิทธิผลในการช่วยเหลือสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ กล่าวว่า ซีพีเอฟ เป็น Good Corporate Citizen หรือ พลเมืองที่ดีของประเทศ การได้ใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรในด้านอาหาร มาร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง กระทั่งปัจจุบันเชื่อว่ารถ CPF Food Truck กลายเป็นสัญลักษณ์ของอาหารอุ่นร้อนเพื่อประชาชนที่ทุกคนจดจำได้ ว่าช่วยให้ทุกคนได้อิ่มท้องในช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ

สำหรับอาหารกล่องอุ่นร้อนพร้อมรับประทานที่นำมาแจกจ่ายนั้นมีถึง 6 เมนูอร่อย ได้แก่ ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวไก่สไปซี่ ข้าวอกไก่ย่างซอสกระเทียม ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว แจกพร้อมไข่ต้ม และน้ำดื่ม ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากที่มาเข้าคิวรับอาหารในลักษณะเว้นระยะห่าง หรือ Social Distacing นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจหลายรายที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อาทิ ข้าวตราฉัตร ทรูคอร์ปอเรชั่น แม็คกรุ๊ป และโอสถสภา กลายเป็นพลังในการส่งเสริมความเกื้อกูลกันให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ผู้ว่าแบงก์ชาติ แจงเหตุผลขอแบงก์พาณิชย์งดจ่ายปันผล และงดซื้อหุ้นคืน

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ คำชี้แจงเพิ่มเติมของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และจะจบอย่างไร การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทยแต่ละคน

          ภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันหนึ่งของธนาคารพาณิชย์คือระดับเงินกองทุน ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่

การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 18.7) ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้หลากหลายมาตรการ ในระยะข้างหน้าที่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง เราไม่ควร “การ์ดตก” ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือ “กันชน” ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” เป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ “การ์ดตก” ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น

          การประเมินระดับเงินกองทุนที่เหมาะสมของธนาคารพาณิชย์ก็เหมือนการตรวจสุขภาพที่ต้องทำเป็นประจำ ในรอบที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งสถานการณ์วันนี้ได้เปลี่ยนไปมาก นอกจากนี้ ทั้งการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์และของลูกค้าก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม และมาตรการล๊อกดาวน์ด้วย ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการเยียวยา ปรับตัว หรือวางแผนธุรกิจใหม่ ธนาคารพาณิชย์จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งลูกค้าและแผนธุรกิจของตนเองได้อย่างชัดเจน ธปท. จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์เร่งทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าโดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

          นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการหลากหลายด้านเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ และผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลหลายเรื่องเพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย ธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเยียวยาและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งต้องคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลประกอบการและระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์อย่างละเอียดในสถานการณ์ต่างๆ (scenarios) ในอนาคตด้วย

          ในภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) จะจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม “เงินปันผลระหว่างกาล” หรือ interim dividend เป็นการจ่ายเงินปันผลนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ต้องรอคำนวณผลการดำเนินงานเมื่อครบปี หรือครบรอบระยะเวลาบัญชี โดยอาจจะคำนวณจากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรกและผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนำมาจ่ายเป็น “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม

          ส่วนการ “ซื้อหุ้นคืน” นั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่คิดว่ามีเงินกองทุนในระดับสูงเกินความจำเป็น หรือเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดลงไปอยู่ในระดับต่ำเกินควร ได้มีแผน “ซื้อหุ้นคืน” จากผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งหมายถึงการซื้อหุ้นของตัวเองจำนวนหนึ่งออกจากตลาดหลักทรัพย์มาเก็บไว้ หรือเพื่อนำไปลดทุนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง (การงดการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์นั้น “ไม่กระทบ” ต่อการซื้อขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ของประชาชนตามปกติแต่อย่างใด)

          การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ไม่ปกติ ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์จึงควรใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ วางแผนการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง และทำงานกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผนบริหารจัดการเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่จัดทำใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์ข้างหน้า และสอดคล้องกับบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลงด้วย

          การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” นี้ แม้ว่าจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย เพราะจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง มีกันชนที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ระยะใหม่ๆ

          การประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายกลางของ ธปท. นอกจากจะช่วยให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ร่วมตลาดแล้ว ยังช่วยลดความกังวลให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการบริหารจัดการแบบระมัดระวังเป็นพิเศษ ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้แจ้งความกังวลให้ ธปท. ทราบว่าผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงินอาจจะเข้าใจผิดได้ ถ้าธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่เคยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลประกาศงดจ่ายในปีนี้ หรือยกเลิกแผนการซื้อหุ้นคืนด้วยตนเอง อาจจะถูกเข้าใจผิดไปว่าธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษหรืออยาก “ตั้งการ์ดสูง” เป็นธนาคารพาณิชย์ที่กำลังมีปัญหาเรื่องฐานะการเงินหรือได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 รุนแรงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ถ้า ธปท. ไม่ออกแนวนโยบายกลางให้ชัดเจน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่เคยจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ก็คงจะต้องจ่ายไปตามปกติ ทั้งที่อยากจะสร้างกันชน และใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบระมัดระวัง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง

          ใครที่ติดตามเรื่องของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินรอบโลกก็คงไม่แปลกใจกับนโยบายเรื่องนี้ของ ธปท. ในขณะที่ ธปท. เพิ่งขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” ในระหว่างทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลหลายประเทศทั่วโลกได้ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้หลายเดือน บางประเทศ (เช่น อังกฤษ) ขอให้งดซื้อหุ้นคืน และไปไกลถึงขนาดขอให้งดการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้วด้วย บางประเทศ (เช่น สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์) ขอให้งดซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลไประยะเวลาหนึ่งเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์โควิด 19 ก่อน บางประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย) ขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำ stress test ใหม่ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาจ่ายเงินปันผล หลายประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีแนวนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลเช่นกัน รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ​ (IMF) ได้ออกมาสนับสนุนให้ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกมีนโยบายระงับการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ด้วย

เงาหุ้น : ปรับฐาน!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 19 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,370.82 จุด ลดลง 2.16 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 63,320.03 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 4,036.65 ล้านบาท

หุ้นไทยสัปดาห์นี้ปรับฐานลงต่ออีก 12 จุด นักลงทุนกังวลการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 ขณะที่สัปดาห์นี้ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องอีก 13,951 ล้านบาท สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 3,933 ล้านบาท รายย่อยซื้อสุทธิ 9,985 ล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 32 ล้านบาท

มีข่าวจาก ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC กับพวกรวม 5 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีที่ IFEC ซื้อหุ้นของบริษัท ซีอาร์ โซลาร์ จำกัด หรือ CRS ช่วงปี 57-58 เป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย
โดยผู้ถูกกล่าวโทษประกอบด้วยนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ขณะเกิดเหตุ เป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร, นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ขณะเกิดเหตุ เป็นรองประธานกรรมการ รองประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ, บริษัท ที แอนด์ เอส อินเตอร์ โปรดักส์ ไลฟ์ จำกัด หรือ T&S, นายปัณณวิชญ์ จตุรพรสวัสดิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท T&S และนายธนวัตน์ แก่นทอง

จากการตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า ปลายปี 57 IFEC โดยกรรมการ คือนายวิชัยและนายสิทธิชัย ได้ตกลงจะซื้อหุ้น CRS โดยตรงจากผู้ถือหุ้นเดิมของ CRS ที่ราคา 142 ล้านบาท จากการชักนำของ นายธนวัตน์ และได้จ่ายเงิน 20 ล้านบาทเพื่อวางมัดจำไว้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมแล้ว แต่ในวันทำสัญญาซื้อขายหุ้น CRS เมื่อ 12 ก.พ.58 กลับมี T&S เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแทน ที่ราคา 155 ล้านบาท โดยไม่มีเหตุสมควร

ทำให้ IFEC ต้องชำระเงินเพิ่มอีก 13 ล้านบาท ให้แก่ T&S โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ CRS ได้รับเงินค่าขายหุ้น CRS 142 ล้านบาทตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น รวมถึงได้ลงข้อความเท็จในเอกสารของ IFEC และเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้างว่า IFEC ได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้น CRS ที่ราคา 155 ล้านบาท เพื่อลวงบุคคลใดๆ อันทำให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 5 ต่อ บก.ปอศ. และยังแจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วย!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ซีพีเอฟ จับมือคู่ค้า พันธมิตร เดินหน้า Food Truck มอบอาหารครั้งที่ 22

นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำโดย นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร และ นายวิโรจน์ ยุทธยงค์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมมอบอาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จาก CPF Food Truck ในโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” ครั้งที่ 22 ที่วัดพรหมรังษี เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

CPF มุ่งมั่นช่วยเหลือประเทศชาติ ประชาชน ให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิด Good Corporate Citizen ตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงอาหารคุณภาพ อร่อย ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19

สำหรับโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” CPF Food Truck ได้นำอาหารคุณภาพปลอดภัย 6 เมนู ได้แก่ ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวไก่สไปซี่ ข้าวอกไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว พร้อมด้วย น้ำแร่ และไข่ต้ม CP มามอบให้แก่ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 6 เขต ได้แก่ บางกอกน้อย บางพลัด ห้วยขวาง บางบอน หนองแขม และบางขุนเทียน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังร่วมกับบริษัทในเครือ CP อย่าง ข้าวตราฉัตร และ ซิมทรู พร้อมด้วย คู่ค้าและพันธมิตร ได้แก่ โอสถสภา ร่วมมอบเครื่องดื่มเอ็มเกลือแร่-คาลพิสแลคโตะ, Mcยีนส์ ร่วมมอบหน้ากากผ้า พร้อมด้วย น้ำตาลมิตรผล และ SCG ร่วมด้วย

เงาหุ้น : หุ้นผันผวนต่ำปันผลสูง

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 18 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,372.98 จุด ลบ 3.20 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 70,282.43 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 4,462.59 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SUPER ปิด 1 บาท ลบ 0.01 บาท, AOT ปิด 61.75 บาท ลบ 1.50 บาท, KBANK ปิด 97.75 บาท ลบ 2 บาท, SAWAD ปิด 57.50 บาท ลบ 1.50 บาท และ CPF ปิด 32 บาท บวก 0.75 บาท

ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัว sideway ในทิศทางขาลง หลังขาดปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระตุ้น ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังและกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกสอง ของ COVID-19

บล.เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า เดือน มิ.ย. 63 หุ้นไทยอยู่ในภาวะการเก็งกำไรอย่างเห็นได้ชัด จาก 2 ประเด็น

1.ผลตอบแทนหุ้นขนาดเล็ก Outperform เป็นพิเศษ สะท้อนได้จากดัชนีหุ้นขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ใน MAI อย่าง SSET Index ให้ผลตอบแทนสูงถึง 5.07% (mtd) สูงกว่า SET Index ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2.48% (mtd) และสูงกว่า SET50 Index (ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่) ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2.07% (mtd) เท่านั้น

แสดงให้เห็นถึงภาวะการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุน รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนียังขาดเสถียรภาพ

2.ต่างชาติกลับมาขายสุทธิ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดฟิวเจอร์สไทย ภาพรวม Fund Flow ในตลาดหุ้นภูมิภาคเดือน มิ.ย. ต่างชาติสลับมาขายสุทธิเกือบทุกประเทศ รวมถึงตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิมากสุดในภูมิภาคราว 56 ล้านเหรียญ

โดยเฉพาะ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 8.2 พันล้านบาท พร้อมกับเปิดสัญญาชอร์ตสุทธิ SET50 Futures กว่า 3.1 หมื่นสัญญา ในช่วงเวลาเดียวกัน

สรุป ตลาดหุ้นยังเผชิญปัจจัยกดดันรอบด้าน ทั้งความกังวลการระบาด COVID-19 ระลอกที่ 2 และในประเทศมีปัจจัยกดดันกลุ่มการเงิน จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการลดดอกเบี้ยทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน Fund Flow เริ่มชะลอการไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น กลยุทธ์ยังคงเน้นลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำปันผลสูง อย่าง TTW, INTUCH, BTSGIF, AP, TVO รวมถึงหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อย่าง CPALL, CPF และเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็กที่น่าจะ Outperform ตลาดได้ดีในช่วงนี้ อย่าง AMATA, DCC!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

แบงก์ชาติ ร่วมมือภาคเอกชน พัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศโครงการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการเชื่อมต่อ CBDC กับนวัตกรรมที่พัฒนาโดยภาคเอกชน

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า  ธปท. เห็นความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและความพร้อมของภาคธุรกิจที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งโครงการนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำ CBDC ไปเชื่อมสู่ภาคธุรกิจที่มีขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่กว้างขึ้น ในการทดสอบ CBDC จะถูกเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้า (Suppliers) ในห่วงโซ่อุปทาน โดยมี บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบ โดย ธปท. คาดหวังว่าระบบต้นแบบการชำระเงินนี้จะรองรับนวัตกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน เช่น มีความยืดหยุ่นในการโอนเงินมากขึ้น เพิ่มความเร็วและความคล่องตัวในการชำระเงินระหว่างกัน การทดสอบดังกล่าวจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่ง ธปท. จะเผยแพร่ผลการทดสอบและแนวทางการดำเนินงานต่อไป

นอกจากนี้ โครงการอินทนนท์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และสถาบันการเงิน 8 แห่ง ที่ร่วมกันศึกษาและทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว รวมทั้งได้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) เสร็จสิ้นในเดือนมกราคม 2563 ปัจจุบัน ธปท. และ HKMA ร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้ CBDC ซึ่งจะมีการประกาศในรายละเอียดต่อไป

ธปท. เชื่อมั่นว่ากระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินร่วมกับภาคธุรกิจเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเตรียมเข้าสู่โลกดิจิทัลทางการเงินในอนาคต โดย ธปท. ยังคงเปิดกว้างสำหรับภาคธุรกิจที่สนใจร่วมพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

เงาหุ้น : หุ้นแบงก์–นอนแบงก์!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 17 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,376.18 จุด เพิ่มขึ้น 9.05 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 71,555.79 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 1,860.54 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด MINT ปิด 23.10 บาท บวก 1.20 บาท, PTT ปิด 38 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, STA ปิด 29 บาท บวก 1.75 บาท, KTC ปิด 31 บาท บวก 1 บาท และ PTTEP ปิด 93.75 บาท ลบ 0.25 บาท ตลาดหุ้นไทยดีดกลับขึ้นตามตลาดต่างประเทศ จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ 

บล.บัวหลวง ออกบทวิเคราะห์ถึงกรณีที่แบงก์ชาติร้องขอให้กลุ่มลิสซิ่งและนอนแบงก์ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย 1-2% และขยายโครงการลดชำระค่างวด/เงินต้น และหรือพักชำระหนี้ออกไปอีก (ยังรอข้อสรุป) ประเมินว่า KTC อาจได้รับผลเสียจากผลการลดอัตราดอกเบี้ย 1-2% ของเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 18% มีผลต่อประมาณการกำไรปี 63 ราว 6% และ 10% ปี 64 (สินเชื่อบุคคลไม่กระทบมากเพราะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 26.5%)

ขณะที่ MTC ไม่น่าได้รับผลกระทบ ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยลูกค้า 24% ซึ่งมีอัตราต่ำกว่าเพดานเงินกู้ที่ 28% ถึง 4% รวมถึงมีผู้ร้องขอ เรื่องการพักชำระหนี้เงินต้นและลดค่างวดน้อยมาก ด้าน SAWAD ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบ แม้ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยลูกค้า 28% ผ่านบริษัทเงินทุนศรีสวัสดิ์ (BFIT) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติเหมือนธนาคารพาณิชย์อื่นอยู่แล้ว รวมถึงมีผู้ร้องขอเรื่องการพักชำระหนี้เงินต้นและลดค่างวดน้อยมาก

ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการแบงก์ชาติน่าจะมีผลบังคับใช้ และเชื่อว่า KTC มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบสูงสุด ต่อประมาณการกำไร และอาจลดสำรองค่าเผื่อหนี้สูญลงปี 63–64 และลดต้นทุนการเงิน (ผ่านการกู้ Soft loan) เพื่อรักษาระดับกำไรให้ไม่ผันผวนมากนัก

ระยะสั้นแนะให้เลี่ยงลงทุนไปก่อน หากความชัดเจนไม่ปรากฏ ขณะที่แนะนำซื้อลงทุน MTC และ SAWAD หากราคาปรับตัวลงจากข่าวนี้

ปิดท้าย บล.ทิสโก้ออกบทวิเคราะห์หุ้นแบงก์ แนะ “ซื้อ” หุ้น BBL ให้มูลค่าเหมาะสม 154 บาท เนื่องด้วยโครงการของภาครัฐขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์เป็นหลัก, การปรับโครงสร้างที่ต่ำของสินเชื่อธุรกิจแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่จำกัดกว่ากลุ่มอื่น และมีการตั้งสำรองล่วงหน้าที่สูงกว่ากลุ่ม

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ซีพีเอฟ หนุนผลิตไบโอก๊าซในฟาร์มและโรงงาน ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน

นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจและสอดคล้องกับต้นทุน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในองค์กรและการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง เช่น โครงการก๊าซชีวภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรชั้นนำ มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานในฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหารและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนจากก๊าชชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มสุกรของบริษัทในประเทศไทย92% มีการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์มและสถานประกอบการโดยโรงงานอาหารแปรรูปจากเนื้อไก่นำก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาและก๊าซหุงต้มในหม้อไอน้ำ (Steam Boiler)

ในปี 2562 ธุรกิจสุกร ธุรกิจแปรรูปอาหาร และคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ มีการผลิตก๊าซชีวภาพได้รวม48.61 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 33,268 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีก 236 ล้านบาท ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนตลอดกระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลดลง 8%เทียบกับปี 2561 และมีการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพรวม 1,017,426 กิกะจูล

“ความสำเร็จของการผลิตก๊าซชีวภาพในประเทศไทย ยังได้ขยายผลไปใช้ในกิจการในต่างประเทศของบริษัท เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่าการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายปี 2563 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 (ปล่อยโดยตรงจากการใช้เชื้อเพลิง) และขอบเขตที่ 2 (การซื้อพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก) 15% เทียบกับปีฐาน 2558

นอกจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มสุกรจะถูกนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มแล้ว น้ำจากบ่อก๊าซฯจะถูกบำบัดจนได้ค่ามาตรฐานแล้วปล่อยเป็น “น้ำปุ๋ย” ให้กับชุมชนรอบๆฟาร์ม เพื่อใช้ในการเกษตรสำหรับการปลูกข้าวโพดหญ้าเนเปีย อ้อย เป็นต้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในช่วงฤดูร้อน    

ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นแนวทางสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นในเป้าหมายสู่การเพิ่มสัดส่วนรายได้สีเขียว (Green Revenue)สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทด้วย

เครดิตบูโร เตือนสถาบันการเงิน ระวังโทษอาญา ไม่ให้เหตุผลปฏิเสธการให้สินเชื่อผู้ขอ

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า เครดิตบูโรได้รับแจ้งจากผู้ยื่นคำขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรหลายรายผ่านช่องทางต่างๆ ว่าเมื่อสถาบันการเงินได้รับรู้ข้อมูลของผู้ยื่นคำขอสินเชื่อแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อได้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลจากเครดิตบูโรแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีเหตุให้ต้องปฏิเสธการให้สินเชื่อ พบว่าสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกบางราย ไม่ได้ออกหนังสือปฏิเสธสินเชื่อให้แก่ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกที่จะต้องแสดงเหตุผลในการปฏิเสธการให้สินเชื่อให้ผู้ยื่นคำขอสินเชื่อทราบเป็นหนังสือหรือวิธีการอื่นใดตามที่ได้ตกลงกันไว้และเป็นสิทธิของผู้ยื่นคำขอสินเชื่อ(ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด) ที่จะได้รับหนังสือดังกล่าวเพื่อนำมายื่นใช้สิทธิตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับเครดิตบูโรโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

ทั้งนี้  การไม่ดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อาจส่งผลทำให้สมาชิกซึ่งเป็นองค์กรสถาบันการเงิน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสมาชิกได้รับโทษทางอาญาในอัตราสูงตามที่กฎหมายกำหนดตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ด้วยเหตุดังกล่าว เครดิตบูโรจึงได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกให้ความเข้มงวดและกำชับการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการปฏิเสธการให้สินเชื่อให้ถือปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดด้วยความระมัดระวัง หากเกิดกรณีที่มีการไม่ปฏิบัติตามก็ขอได้โปรดพิจารณาลงโทษสถานหนัก ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อป้องกันและบริหารความเสี่ยงด้านกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากปัญหาดังกล่าวยังคงมีจำนวนกรณีเพิ่มมากขึ้นหรือถูกละเลยจนเกินสมควรแล้ว เครดิตบูโรก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตเพื่อพิจารณาต่อไป