นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยครอบครัวไทยที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจเกิดความเครียดจากการปรับตัวและส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวด้วยกันเอง จึงทำการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว หรือ “วัคซีนครอบครัว”
จากการสำรวจออนไลน์ กลุ่มตัวอย่าง 1,500 คน ประมาณ 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ผลพบว่า ร้อยละ 90 มีความสุขมากถึงมากที่สุดที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว หนึ่งในสามรู้สึกใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น ประมาณครึ่งหนึ่งรู้สึกเป็นห่วงกังวลเมื่อต้องเว้นระยะห่างระหว่างสมาชิกในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 20 มองว่าครอบครัวมีความเครียดสูงถึงสูงมาก ครอบครัวส่วนใหญ่สร้าง “วัคซีนครอบครัว” เพื่อลดความเครียดในบ้านมากกว่า 1 วิธี วิธีที่ใช้มากที่สุด คือสอบถามความสุขความทุกข์กันบ่อยๆ รองลงมาคือ รักษากิจวัตรประจำวันในครอบครัวให้คงที่ เช่น กินนอนเป็นเวลา นอนพักผ่อนเพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้น มากกว่าร้อยละ 97 เห็นว่าครอบครัวของตนร่วมแก้ปัญหาเป็นทีมเดียวกัน และเชื่อมั่นว่าครอบครัวจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ซึ่งสะท้อนว่า ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังรู้สึกเป็นสุขและมีความหวังแม้จะเผชิญวิกฤติในขณะนี้
แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้สอดคล้องกับผลสำรวจความเข้มแข็งของครอบครัวโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่พบว่า มากกว่าร้อยละ 88 ของครอบครัวไทย มีระดับความเข้มแข็งผ่านเกณฑ์ โดยครอบครัวไทยพึ่งพาตัวเองในด้านสุขภาพมากที่สุด (กว่าร้อยละ 98) การสร้าง “วัคซีนครอบครัว” ซึ่งเป็นวัคซีนสังคม ใช้หลักการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว 3 ด้าน ได้แก่ “พลังบวก” – ครอบครัวที่มองบวก มองเห็นทางออกในทุกปัญหา แม้ในภาวะวิกฤติ เมื่อเห็นทางออกแล้วครอบครัวต้องอาศัย “พลังยืดหยุ่น” เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนบทบาท ทำหน้าที่ทดแทนกัน ช่วยกันแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น และนำไปสู่ “พลังร่วมมือ” ทำให้ครอบครัวปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฟันผ่าอุปสรรค วัคซีนครอบครัว เป็นวัคซีนสังคมที่ต้องให้กับผู้เป็นแม่หรือหัวหน้าครอบครัว เพื่อนำไปแบ่งปันสู่คนในครอบครัว เมื่อ วัคซีนครอบครัวพร้อม จะเปรียบเสมือนร่างกายที่มีภูมิคุ้มกัน ถึงแม้จะเจอวิกฤติซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรค อาการก็จะไม่รุนแรง และกลับมาทำหน้าที่เดิมได้อย่างราบรื่น โดยกรมสุขภาพจิตจะทำการติดตามประเมินผลวัคซีนครอบครัวต่อไป