ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 12 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,382.56 จุด ลบ 14.21 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 85,786.80 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,000.19 ล้านบาท
หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SUPER ปิด 1.05 บาท บวก 0.05 บาท, BAM ปิด 25 บาท ลบ 0.50 บาท, PTT ปิด 37.25 บาท ลบ 1.25 บาท, MINT ปิด 22.80 บาท บวก 0.80 บาท, CPF ปิด 30.50 บาท ลบ 0.25 บาท
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส แนะให้โฟกัสและบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดมีปรับฐานสูง โดยฝ่ายวิจัยได้ส่งสัญญาณเตือนในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้ง 5 มิติ คือ 1.ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าเป้าหมาย ที่ฝ่ายวิจัยประเมินทุกวิธีการ ที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาเร็วกว่า 50% (จากกลาง มี.ค.ถึง 9 มิ.ย.63)
และทำจุดสูงสุดที่ 1,448.13 จุด สูงกว่าเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประเมินทั้งปี 63 และปี 64 ที่ 1,164 จุด และ 1,407 จุด ตามลำดับ รวมถึงยังสูงกว่าดัชนีเป้าหมายที่กำหนดให้หุ้นทุกตัวเต็มมูลค่าพื้นฐานปี 63 และคิดกลับด้วยวิธี Implied Market Cap. ได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,441 จุด
2.ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะเก็งกำไรเต็มตัวจากมูลค่าซื้อขายที่กระโดดขึ้นไปสูงเกิน 1 แสนล้านบาท/วัน 4 วันติดต่อกัน ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น 3.สัดส่วนหุ้นไทยกว่า 30% จากทั้งหมด มี RSI อยู่ในโซน Overbought เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าตลาดมีโอกาสปรับฐาน
4.ตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวขึ้นแรง พร้อมกับดัชนีความกลัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ปกติจะสวนทางกัน) คือ 2-9 มิ.ย. ดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 4.2% ขณะเดียวกัน VIX Index ทยอยปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.7% แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯเอง แม้จะปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็แฝงไปด้วยความระแวงในการปรับฐานในระยะถัดไป
5.ตลาดหุ้นไทยถูกซื้อขายกันบน P/E ที่สูงถึง 22 เท่า (แพงสุดในภูมิภาค) ด้วยความคาดหวังว่าจะมีสภาพคล่องส่วนเกินมาหนุนเรื่อยๆ แต่สภาพคล่องส่วนเกินในช่วงนี้อาจไม่ได้ผลักดันดัชนีให้ปรับขึ้นร้อนแรงเหมือนในอดีต
ดังนั้น ถ้านักลงทุนติดตามมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะป้องกันผลตอบแทนในพอร์ตให้ได้กำไรอย่างสม่ำเสมอ จากกลยุทธ์ตั้งจุดล็อก
กำไร เพื่อลดความเสี่ยงยามตลาดผันผวน ตามพอร์ตจำลองที่มีการล็อกกำไรไป 5 บริษัท ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คือ LH, AMATA, STEC, CPALL, BCPG และ BDMS
พร้อมกับเน้นลงทุนหุ้นดีดี (Dividend & Defensive) อย่าง BTSGIF–EGCO–DCC–TTW เป็นต้น
ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ