นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า หนี้ภาคครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 1/2563 พุ่งขึ้นมาเป็น 80.1% ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่รับได้ สำหรับโอกาสที่หนี้ต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทำให้คนมีรายได้มากขึ้น เพื่อส่วนหนึ่งนำไปชำระหนี้
ส่วนจะมีการต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ออกไปหรือไม่นั้น ต้องติดตามการแถลงของนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้ คือ ตัวเลขผู้ว่างงาน โดยล่าสุดมีแรงงานในระบบ ตกงานเพิ่มขึ้น 420,000 คน และอีก 1.7 ล้านคน ยังมีสถานะเป็นผู้มีงานทำ แต่ยอมลดเงิน หรือ หยุดทำงานชั่วคราวโดยไม่รับเงินเดือน อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะตกงาน หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และธุรกิจต้องปิดกิจการลง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อีก 16 ล้านคน อาจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยเกิดการระบาดรอบ 2 รุนแรงจนต้องล็อกดาวน์เศรษฐกิจอีกรอบ จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน
ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยครึ่งปีแรก 2563 เศษฐกิจไทยติดลบ 6.9% สาเหตุหลักคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์ กระทบต่อการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า ปีนี้ทั้งปี จีดีพีจะติดลบ 7.5% ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดรอบ 2 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ มีการจำกัดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจนถึงสิ้นปี 2563 และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ไม่ทวีความรุนแรงหรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
ขณะที่การส่งออกไทยไตรมาส 2 ติดลบ 17.8% หากไม่รวมการส่งออก ทองคำจะติดลบ 21.4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก
ทั้งนี้ มองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เป็นจุดต่ำสุดและจะเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3 และ 4 ส่วนจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหนยังขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีน หากเป็นไปตามคาด จะมีวัคซีนออกมาใช้กับคนได้ในกลางปีหน้า จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังปี 2564
สภาพัฒน์ เสนอแนะให้ภาครัฐ ประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ติดตามมาตรการที่ดำเนินไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มีความยืดหยุ่น พิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาในการฟื้นตัว การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนเอกชน การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก