Home Blog Page 51

เอาชนะวิกฤตการเงินส่วนบุคคลช่วงโควิด-19

สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากทำให้ผู้คนเจ็บป่วย และเสียชีวิตแล้ว ผลกระทบตามมาจากมาตรการต่างๆ มีผลต่อการดำเนินชีวิตของแทบทุกคน ทั้งเรื่องชีวิต การงาน ปากท้อง หลายคนต้องว่างงาน ตกงาน รายได้หดหาย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะกินเวลานานเท่าไร

หลายคน ต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินส่วนบุคคล เพราะจู่ๆ รายได้หายไป ลดลง ขณะที่-ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้ลดหายตาม จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพการณ์นี้ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย มีข้อแนะนำว่า เราควรปรับตัวอย่างไรให้พ้นวิกฤติการเงินส่วนบุคคลในช่วงโควิด-19

  1. เตรียมงบประมาณสำหรับค่าอาหาร และรายจ่ายที่จำเป็น
  2. ตัดรายการรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
  3. หาข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือของภาครัฐ และสมัครเข้าร่วมโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนด
  4. หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ
  5. อย่ารอจนสถานการณ์จวนตัวจนแก้ไขยาก
  6. เริ่มลงมือทำ เพื่อปรับปรุงสถานะการเงิน
  7. หมั่นทบทวนสถานะการเงิน
  8. ระวังการหลอกลวงเพื่อนำข้อมูลส่วนตัวเราไปหาประโยชน์โดยมิชอบ
  9. ผู้สูงอายุในครอบครัว ต้องระวังถูกหลอกลวง และแสวงหาประโยชน์ทางการเงิน
  10. อยู่กับความเป็นจริง เดินทางสายกลาง ไม่หดหู่จนเกินไป
  11. มองโลกในแง่ดี
  12. ดูแลสุขภาพ สุขภาพใจตัวเอง

PPP เห็นชอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน ปี 2563 – 2570 มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2563 ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ PPP

1.เห็นชอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 (แผนการจัดทำโครงการ PPP) ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) โดยมีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 92 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.09 ล้านล้านบาท โดยเป็นโครงการร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) จำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 472,049 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนการจัดทำโครงการ PPP ข้างต้นจะช่วยสร้างความสนใจ และดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภายใต้แผนดังกล่าวเพื่อลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้จากภาครัฐตลอดจนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนจากความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนในการให้บริการสาธารณะ

2. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเสนอโครงการและการคัดเลือกเอกชน จำนวนรวม 6 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. …. 2) เรื่อง รายละเอียดที่ต้องมีในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการและหลักเกณฑ์ และวิธีการในการนำความเห็นของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน มาประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. …. 3) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาในการเสนอโครงการ พ.ศ. …. 4) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. …. 5) เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. ….และ 6) เรื่อง เงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. …. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางเพื่อรองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ

3. คณะกรรมการ PPP ได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือ ได้แก่ 1) กรณีโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี และ 2) กรณีแนวทางการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

ซีพีเอฟ ดัน 2 ธุรกิจ ช่วยสร้างเถ้าแก่หน้าใหม่

นายชัยยุทธ ทิพย์สุวรรณพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากผลกระทบของวิกฤตโควิด19 ทำให้พี่น้องประชาชนและภาคแรงงานต้องกลับภูมิลำเนา และกำลังมองหาอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและดูแลครอบครัว สอดคล้องกับแนวคิดของบริษัทฯที่มุ่งส่งเสริมอาชีพในชุมชน และสร้างผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ด้วยธุรกิจ 2 รูปแบบ ได้แก่ ซีพี ตู้เย็นชุมชน และร้านซีพี เฟรช ช็อป (CP Fresh Shop) เป็นทางเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้สนใจ

ซีพี ตู้เย็นชุมชน เป็นธุรกิจตู้เย็นจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ซีพี ทั้งอาหารสดและแช่เย็นแช่แข็ง เช่น หมู ไก่ เป็ด ไข่ กุ้ง ปลา ไส้กรอก อาหารพร้อมทาน-พร้อมปรุง โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 5,000 บาท เน้นสินค้าคุณภาพดี ขายง่าย กำไรดี คืนทุนสั้น โดยมีทีมขายของบริษัท เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ ในการคัดเลือกพื้นที่ขาย การบริหารจัดการร้าน การผลิตสื่อการตลาด ตลอดจนการฝึกอบรมการขายและการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งเสริมความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเถ้าแก่เล็ก

ส่วนธุรกิจร้านซีพี เฟรช ช็อป ใช้เงินลงทุนสูงกว่า ซีพี ตู้เย็นชุมชน เนื่องจากเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ มีรายการสินค้ามากกว่า และเน้นจำหน่ายสินค้าสดเป็นหลัก ภายใต้แนวคิดเดียวกัน โดยทั้งสองรูปแบบบริษัทจะให้เช่าใช้อุปกรณ์ อาทิ ตู้แช่ พร้อมสนับสนุนสื่อการตลาด

“ธุรกิจทั้ง 2 รูปแบบ เป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจจากสินค้าที่มีทั้งคุณภาพและมาตรฐานการผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศอย่างยั่งยืน ที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิตตามมาตรฐานสากล” นายชัยยุทธ กล่าว

สำหรับผู้ที่ต้องการมีอาชีพและรายได้เสริมจากงานประจำ หรือมีธุรกิจของตนเอง สามารถติดต่อได้ที่ Call Center 1788 หรือสอบถามรายละเอียดกับพนักงานในพื้นที่โดยตรง

ซีพีเอฟ ส่งมอบความห่วงใยอย่างปลอดภัย ในโครงการ“กองทุนซีพีเอฟ คืนสุข ผู้สูงวัย”

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานกองทุนซีพีเอฟ คืนสุข ผู้สูงวัย กล่าวว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด19 ซีพีเอฟในฐานะบริษัทผลิตอาหารชั้นนำ เพิ่มความเข้มงวดแนวปฏิบัติมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อส่งมอบอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยปรับแนวปฎิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

กองทุนซีพีเอฟ คืนสุข ผู้สูงวัย ได้ให้ความช่วยเหลือผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่รอบฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟทั่วประเทศและไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ทุกๆเดือนจะมีเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมเยียนผู้สูงวัย เพื่อนำเงินช่วยเหลือในการดำรงชีพและสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร น้ำดื่ม ไข่ไก่ ไปมอบให้แก่ผู้สูงวัย ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด เจ้าหน้าที่ที่จะส่งมอบเงินช่วยเหลือและสิ่งของให้แก่ผู้สูงวัย ต้องปฎิบัติตามแนวทางของบริษัท คือ หน้ากากอนามัย ถุงมือ และพกเจลล้างมือไปด้วยทุกครั้ง เว้นระยะห่างจากผู้สูงวัยอย่างน้อย 2 เมตรในการสื่อสาร การส่งมอบเงินช่วยเหลือเพื่อดำรงชีพและสิ่งของ ให้วางในจุดที่เหมาะสมของที่พักผู้สูงวัย

ในการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนผู้สูงวัย ซีพีเอฟร่วมกับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ปัจจุบัน “โครงการกองทุน ซีพีเอฟ คืนสุข ผู้สูงวัย” ให้ความช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ถูกทอดทิ้งตามลำพัง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพรวม 833 ราย โดยมอบเงินช่วยเหลือเพื่อดำรงชีพทุกๆเดือน เดือนละ 2,000 บาท และเป็นการให้ความช่วยเหลือจนกว่าผู้สูงวัยจะถึงแก่กรรม โดยมีการรับผู้สูงวัยเข้าโครงการทุกปี โดยในปี 2563 มีผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการนี้ 388 ราย

เลื่อนวันออกรางวัลสลากงวด 1 เม.ย. เป็นวันที่ 16 พ.ค. 2563

นายพชร อนันตศิลป์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงการออกรางวัลของสลากงวด 1 เมษายน 2563 ว่า ตามที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันออกรางวัลของสลาดงวดดังกล่าว เป็นวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 นั้น โดยที่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่กำหนดความเข้มข้น ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงมาตรการของแต่ละจังหวัดที่การคัดกรองความเคลื่อนไหวของประชากร อย่างเข้มงวด และจากการสำรวจตรวจสอบ ปริมาณสลากยังเหลืออยู่ในระบบค่อนข้างมาก ดังนั้น หากมีการออกรางวัลในวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 จะทำให้เกิดกระบวนการเร่งในการซื้อขายสลาก เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของการติดเชื้อ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้พิจารณาภายใต้ความห่วงใยในเรื่องของการแพร่กระจายของเชื้อโรค และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ซื้อสลากและผู้ขาย จึงมีมติให้เปลี่ยนแปลงการออกรางวัลของสลากงวดวันที่ 1 เมษายน 2563 จากวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 14.30 – 16.00 น. ณ ห้องออกรางวัลสลาก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และจะไม่มีการจำหน่ายสลากงวดวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 อีกหนึ่งงวด

พชร อนันตศิลป์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

ประธานกรรมการสลากฯ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานฯ ไปศึกษาเพิ่มเติมให้รอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกฎหมาย และผลกระทบต่อประชาชน ผู้ซื้อ ผู้ค้าเดิม ในทุกมิติ ก่อนจะนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป

CPF ชวนโหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ สมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์

นางสาวอนรรฆวี ชูรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทขอเชิญชวนคนไทยใจบุญร่วมโหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ ชุด “CPxหมาจ๋าสู้โควิด-19” เพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆให้แก่โรงพยาบาล ทั้งนี้เป็นอีกกิจกรรมของซีพีเอฟที่ดำเนินการ ต่อจากการช่วยเหลือสังคมผ่านการมอบอาหารในโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัยโควิด19”

“ซีพีเอฟยังคงให้การสนับสนุนการร่วมต้านภัยโควิด19 อย่างต่อเนื่องและครั้งนี้อยากเชิญชวนทุกท่านที่ใช้แอปพลิเคชันไลน์กันเป็นประจำอยู่แล้ว ช่วยกันร่วมส่งกำลังใจถึงแพทย์-พยาบาล ด้วยการโหลดสติ๊กเกอร์ไลน์ชุด “CPxหมาจ๋าสู้โควิด-19” ในราคาเพียง 30.- บาทเท่านั้น” นางสาวอนรรฆวีกล่าว

โดยทุกๆ 30.- บาท จากการโหลดสติ๊กเกอร์ “CPxหมาจ๋าสู้โควิด-19” ซีพีเอฟและ ณัฐวีร์ ลิมปนิลชาติ เจ้าของภาพวาดสติ๊กเกอร์“หมาจ๋า” จะนำไปบริจาคให้โรงพยาบาลเพื่อสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ สำหรับผู้สนใจสามารถทำการโหลดได้ทันทีจาก Link นี้

https://line.me/S/sticker/11320373

กรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจความสุขของครอบครัวไทยช่วงโควิด-19 ส่วนใหญ่สอบผ่าน ยังเป็นสุขและมีความหวัง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยครอบครัวไทยที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจเกิดความเครียดจากการปรับตัวและส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวด้วยกันเอง จึงทำการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนสร้างภูมิคุ้มกันในครอบครัว หรือ “วัคซีนครอบครัว”

จากการสำรวจออนไลน์ กลุ่มตัวอย่าง 1,500 คน ประมาณ 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ผลพบว่า ร้อยละ 90 มีความสุขมากถึงมากที่สุดที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว หนึ่งในสามรู้สึกใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น ประมาณครึ่งหนึ่งรู้สึกเป็นห่วงกังวลเมื่อต้องเว้นระยะห่างระหว่างสมาชิกในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 20 มองว่าครอบครัวมีความเครียดสูงถึงสูงมาก ครอบครัวส่วนใหญ่สร้าง “วัคซีนครอบครัว” เพื่อลดความเครียดในบ้านมากกว่า 1 วิธี วิธีที่ใช้มากที่สุด คือสอบถามความสุขความทุกข์กันบ่อยๆ รองลงมาคือ  รักษากิจวัตรประจำวันในครอบครัวให้คงที่ เช่น กินนอนเป็นเวลา นอนพักผ่อนเพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้น มากกว่าร้อยละ 97 เห็นว่าครอบครัวของตนร่วมแก้ปัญหาเป็นทีมเดียวกัน และเชื่อมั่นว่าครอบครัวจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ซึ่งสะท้อนว่า ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังรู้สึกเป็นสุขและมีความหวังแม้จะเผชิญวิกฤติในขณะนี้ 

แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้สอดคล้องกับผลสำรวจความเข้มแข็งของครอบครัวโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวที่พบว่า มากกว่าร้อยละ 88 ของครอบครัวไทย มีระดับความเข้มแข็งผ่านเกณฑ์ โดยครอบครัวไทยพึ่งพาตัวเองในด้านสุขภาพมากที่สุด (กว่าร้อยละ 98) การสร้าง “วัคซีนครอบครัว” ซึ่งเป็นวัคซีนสังคม ใช้หลักการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว 3 ด้าน ได้แก่ “พลังบวก” – ครอบครัวที่มองบวก มองเห็นทางออกในทุกปัญหา แม้ในภาวะวิกฤติ เมื่อเห็นทางออกแล้วครอบครัวต้องอาศัย “พลังยืดหยุ่น” เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนบทบาท ทำหน้าที่ทดแทนกัน ช่วยกันแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น และนำไปสู่ “พลังร่วมมือ” ทำให้ครอบครัวปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฟันผ่าอุปสรรค วัคซีนครอบครัว เป็นวัคซีนสังคมที่ต้องให้กับผู้เป็นแม่หรือหัวหน้าครอบครัว เพื่อนำไปแบ่งปันสู่คนในครอบครัว เมื่อ วัคซีนครอบครัวพร้อม จะเปรียบเสมือนร่างกายที่มีภูมิคุ้มกัน ถึงแม้จะเจอวิกฤติซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรค อาการก็จะไม่รุนแรง และกลับมาทำหน้าที่เดิมได้อย่างราบรื่น โดยกรมสุขภาพจิตจะทำการติดตามประเมินผลวัคซีนครอบครัวต่อไป

สมาคมธนาคารไทย มองโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ 1.3 ล้านล้านบาท เชื่อมือรัฐจัดการปัญหาได้

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้เอกชน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติพระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจ ธปท.ออกซอฟท์โลน เพื่อดูแลภาคธุรกิจ พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ตลอดจน พรก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นเรื่องที่มี ความสำคัญ และ ความจำเป็น อย่างมาก

ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย

ผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นเป็นเม็ดเงินสุทธิราว 1.3 ล้านล้านบาท เท่ากับ 7.7% ของจีดีพี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว รายได้หายไปถึง 1.1 ล้านล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลึกใกล้เคียงกับปี 2540 และอาจจะมากกว่านั้น ถ้าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในไตรมาสที่สอง ของปีนี้ ซึ่งผลกระทบด้านตัวเลข อาจจะแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของสถานการณ์ครั้งนี้ คือ การออกมาตรการให้ความช่วยเหลือที่รวดเร็ว และ ระดับใหญ่ เพื่อยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ทรุดลงแรงกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การจัดการด้านสาธารณะสุขเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคและดูแลผู้ป่วยในวงที่กว้างขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องอาชีพและปากท้องของประชาชน โดยมาตรการด้านการคลังจะเข้ามาเป็นกลไกหลัก ทำให้ต้องเร่งอนุมัติ พรก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อดึงงบประมาณจากหน่วยงานรัฐต่าง ๆ มาเป็นทรัพยากรเพิ่มเติม หลังจากที่งบกลางเดิมจัดสรรไปหมดแล้ว

ขณะที่การดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจตลาดการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ ปัจจุบันตลาดการเงินไทยเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก ทำให้ความตื่นตระหนกทั้งจากทั้งในและต่างประเทศ สามารถฉุดให้อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินปรับตัวแรง กระทบกับความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และสถานะทางการเงินลูกค้าธุรกิจและครัวเรือนได้ จึงควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นของตลาดก่อนเป็นอันดับแรก

ดังนั้น มาตรการ 9 แสนล้านบาทในรอบนี้ จึงจำเป็นต้องพุ่งเป้าหมายไปที่การจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนที่มีขนาดใหญ่ราว 22% ของจีดีพี ซึ่งจะช่วยทั้งตัวกิจการที่ต้องการระดมทุนไปชำระคืนหนี้เดิมและเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ รวมถึงช่วยผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าในระยะหลัง ผู้ฝากเงินรายย่อยหันมาออมเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมในตราสารหนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ยังประกอบด้วยมาตรการช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ครอบคลุมกว่า 99% ของจำนวนกิจการทั้งหมด และการจ้างงานกว่า 85% ของการจ้างงานทั้งประเทศ หรือกว่า 13 ล้านคน ผ่านการให้ซอฟท์โลนเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติ

เชื่อมั่นว่า การดำเนินการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังของภาครัฐ จะทำให้การหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในกรอบจำกัด และไม่กลายเป็นวิกฤตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็น ทางการไทยยังมีทรัพยากรอีกมากเพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตครั้งนี้ไปได้แน่นอน

ซีพีเอฟ คุมเข้มผลิตอาหารมาตรฐานปลอดภัยสูงสุด สร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภครับมือโควิด19

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับระบบการจัดการความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety Management System) ตามมาตรฐานสากล Codex ซึ่งครอบคลุมข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพื้นฐานวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) และมาตรฐานควบคุมดูแลความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อป้องกันอันตรายและสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ( HACCP)

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด19) บริษัทยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานทุกระดับอย่างเคร่งครัดครอบคลุมโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบบการขนส่งและการกระจายสินค้า ภายใต้นโบบายมาตรฐานเดียว (Single Standard) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในสายการผลิต มีการเพิ่มมาตรการสุขอนามัยเข้มงวดโดยการเพิ่มจำนวนรถรับ-ส่ง การตรวจวัดอุณหภูมิด้วยเครื่อง Thermographic Bullet Body Camera ที่มีความอย่างแม่นยำระดับสูงสุดก่อนเข้าโรงงานและในระหว่างปฏิบัติงาน การล้างมือ สวมถุงมือและใส่หน้ากากตลอดเวลา ตลอดจนให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนช่วงอยู่ที่บ้านกับครอบครัว ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ บริษัทได้ผลิตวีดีโอ คลิป เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตอาหารตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อลดการสัมผัสมือและมาตรการป้องกันโรคตามหลักสุขอนามัยที่เข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้รับอาหารที่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถชมคลิปได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=_dnKffv-irA&feature=youtu.be

นอกจากให้ความสำคัญกับผู้บริโภคแล้ว ซีพีเอฟยังมุ่งมั่นสนับสนุนอาหารปลอดภัยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง และยังขยายการส่งมอบอาหารไปยังครอบครัวแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐที่มีผู้ป่วยโควิด19 เพื่อให้คลายกังวลและช่วยแบ่งเบาความรับผิดชอบ

คีรี ทุ่ม 60 ล. นำกลุ่มบีทีเอส ทำประกันชีวิตให้บุคลากรแพทย์ทั่วประเทศ สู้ภัยโควิด-19

กลุ่มบริษัทบีทีเอส สนับสนุนโครงการ “นักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19” มอบเงิน 60 ล้านบาท ทำประกันชีวิตให้แพทย๋ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทบีทีเอส เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดมาโดยตลอด เห็นว่า คณะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศที่ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโรคร้ายชนิดนี้ ดังนั้น จึงต้องได้รับการดูแลทั้งด้านความปลอดภัย สร้างขวัญกำลังใจ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความมั่นใจทั้งตัวเขาเองและครอบครัว

ตนทราบข้อมูลจากทางแพทยสมาคมฯ และแพทยสภา ว่า ขณะนี้กำลังจัดทำโครงการ “นักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19” เพื่อหาเงินช่วยเหลือและดูแล โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือในเรื่องการจัดทำกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับแพทย์ และพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้กับแพทยสมาคมและสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย จำนวน 280,000 คน ใช้เงินจำนวน 50 ล้านบาท คุ้มครองแพทย์และพยาบาลทั้งหมดในระยะเวลา 1 ปี แม้ว่าที่ผ่านมาได้มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มีการจัดทำประกันชีวิตให้บุคลากรทางการแพทย์แล้วไม่น้อยก็ตาม แต่เท่าที่ทราบข้อมูลจากทางแพทยสมาคมฯ และแพทยสภา ว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน ดังนั้นการร่วมมือกับ แพทยสมาคม ฯ ในครั้งนี้จึงได้พยายามจัดทำประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมครบถ้วน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรเหล่านี้

ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ความจริงยังมีบุคลากรทางการแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ร่วมในการต่อสู้กับโรคร้ายในครั้งนี้ และมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับแพทย์พยาบาลเช่นกัน ในส่วนนี้เมื่อทางแพทยสมาคมฯ จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลแล้ว น่าจะต้องเข้าไปดูแลและสร้างความมั่นใจในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ( หลักสูตร 1 ปี) นักรังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ ประมาณ 100,000 คน ขอให้แพทยสมาคมฯ ประสานงานกับโรงพยาบาลหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อขอข้อมูลกลุ่มคนเหล่านี้มาด้วย และจัดทำประกันชีวิตให้พวกเขาเหล่านี้ด้วยอีกฉบับหนึ่ง โดยกลุ่มนี้ความเสี่ยงและจำนวนผู้เอาประกันน่าจะน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่อยากให้ทำด้วย โดยผมจะสนับสนุนเงินในส่วนนี้ให้อีก 10 ล้านบาท”

“ผมในนามคนไทยคนหนึ่ง ขอส่งกำลังใจให้กับคุณหมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศกว่า 3 แสนคน
ที่ได้เสียสละตนเอง ทำงานกันอย่างหนักมากในช่วงเวลานี้ โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 สิ่งที่ผมทำในวันนี้ เพียงเพื่อต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านทราบว่า พี่น้องประชาชนคนไทยอีกมากมายที่พร้อมสนับสนุนการทำงานของพวกท่าน และขอบคุณจากหัวใจ สำหรับการทำงานของทุกๆ ท่าน ที่ยากลำบากขึ้นกว่าเดิม กับภารกิจอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เราจะก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยกันครับ” นายคีรีกล่าว