Home Blog Page 50

เปิดจดหมายนายกฯถึง 20 เศรษฐีไทย

ไม่ขอรับเงินบริจาค แต่ขอให้ลงมือทำโครงการช่วยเหลือประชาชน

จดหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งถึง 20 มหาเศรษฐีไทย ลงวันที่ 20 เม.ย. 2563 มีเนื้อความว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลก ทำร้ายและทำลายชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยและประเทศไทยต้องการความร่วมมืออย่างมากที่สุดจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนหรือองค์กรที่มีความรู้ ความสามารถมีความเข้มแข็ง จึงสื่อสารมายังท่านในฐานะเป็นผู้อาวุโสของสังคม

ผมซาบซึ้งใจที่หลายท่านได้ลงมือช่วยเหลือประชาชนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการขอให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม โดยใช้ศักยภาพของท่านมาทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผมขอให้ท่านทำเอกสาร นำเสนอสิ่งที่ท่านพร้อมจะทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย โดยผมไม่ขอรับเป็นเงินบริจาค แต่ผมขอให้ท่านลงมือทำโครงการที่จะออกไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่มทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนทางด้านใดก็ตาม หรือด้วยวิธีการใดก็ตามขอให้เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้งสิ่งใดที่ท่านเห็นว่ารัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวก ให้กับโครงการนั้นได้ขอให้ท่านโปรดส่งมาให้ผมรับทราบภายในสัปดาห์หน้า ก็จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาและขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วย

ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

กระทรวงพลังงานเคาะม.เยียวยาค่าไฟ

“พลังงาน”ร่วม กกพ.- 3 การไฟฟ้าเยียวยาค่าไฟช่วย 2 กลุ่มครัวเรือน
ขยายกลุ่มใช้ไฟฟรี 150 หน่วย พร้อมให้ส่วนลดครัวเรือนชั้นกลาง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมโ ดยที่ประชุมสรุปมารตการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟประเภทครัวเรือนรวม 20 ล้านคน แบ่งมาตรการได้ดังนี้

ซีพีเอฟ จับมือกองทัพบก ร่วมส่งอาหารคุณภาพให้ชุมชนคลองเตย

กองทัพภาคที่ 1 และ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดย พลเอกกิตติเชษฐ์ ศรดิษฐพันธ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ร่วมกับ CPF โดย นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ “กองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับ CPF ส่งอาหารคุณภาพจากใจ…สู่ชุมชน” บรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหารแก่ประชาชน 8,499 ครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 โดยมี พลตรีรังษี กิติญาณทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และนายสุชัย อมรดารารัตน์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย ร่วมงานด้วย

มูลนิธิผู้บริโภคชี้ช่องทางร้องเรียนค่าไฟแพง

จากกรณีความเดือดร้อนของผู้ใช้ไฟฟ้าหลายบ้าน ต่างร้องเรียนปัญหาค่าไฟฟ้าเดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าเท่าตัว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โพสในเพจเฟสบุ๊คของมูลนิธิฯ ว่ ผู้บริโภคที่มีข้อสงสัยค่าไฟที่ขึ้นหลายเท่าตัว สามารถแจ้งให้สำนักการไฟฟ้าในพื้นที่ตรวจสอบได้ว่าเกิดจากการใช้ไฟที่มากขึ้น หรือมีความผิดพลาดตรงจุดอื่น ซึ่งอาจจะเกิดจากไฟฟ้ารั่ว หรือความผิดปกติของมิเตอร์ไฟฟ้า

ถ้าตรวจพบว่ามีข้อผิดพลาดจากตรงนี้ การไฟฟ้าจะชดเชยเงินส่วนเกินให้ อย่างไรก็ต้องพิจารณาจากประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังประกอบด้วย


คู่มือการใช้งานระบบร้องเรียน กฟภ. >
http://www.oic.go.th/…/DRAWER…/GENERAL/DATA0000/00000103.PDF

ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ กฟน.
( กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ)
ลิงค์เว็บไซต์ กฟน. >
https://www.mea.or.th/complaint

ก่อนหน้านี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ได้โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า วันนี้ (20 เม.ย.) จะเชิญ กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหาแนวทางมาตรการเรื่องค่าไฟฟ้า เพิ่มเติมจากที่ได้มีหลายมาตรการออกไปแล้ว โดยเรื่องนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ

ทั้งนี้ ปรากฏว่า ในโลกออนไลน์ ประชาชนส่วนใหญ่ต่างร้องเรียนว่าค่าไฟเดือนนี้แพงมาก โดยบางรายปรับเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

เซ็นทรัลส่งสัญญาณเปิดห้าง 1 พ.ค. ส่งจม.ถึงคู่ค้าให้เตรียมพร้อม

บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือ บริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ทำจดหมายถึงคู่ค้าและพันธมิตรทางการค้า เพื่อแจ้งการคาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริกาารได้ในว้นที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปด้วย เวลาเปิดปิดบริการตามปกติของแต่ละสาขา

เพื่อเป็นการเตรียมการเปิดให้บริการ ขอให้เตรียมพร้อมเรื่องพนักงานขายที่ต้องกลับมาทำหน้าที่ขายสินค้าในสาขาให้ได้ทันตามกำหนด โดยขอให้ตรวจเช็คสุขภาพและความพร้อมของพนักงานก่อนส่งพนักงานเข้ามาทำงานที่สาขาตามข้อกำหนดในหนังสือแนวทางปฏิบัติสำหรับการมาปฏิบัติของพนักงานที่แนบมา และขอให้พนักงานเข้ารายงานตัวที่สาขาในวันที่ 28 เมษายน 2563

ซีพีเอฟ ดูแลชุมชม สร้างสังคมปลอดภัย สู้โควิด19

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)​ หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด 19 ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโควิด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระสังคมต่อสู้กับวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

  • ฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ดูแลประชาชนในชุมชนรอบโรงงาน ฟาร์มและพื้นที่ใกล้เคียง โดยสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ แก่ชุมชนโดยรอบ
  • โรงงานอาหารสัตว์ราชบุรี ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี สนับสนุนเครื่องวัดอุณหภูมิแบบเลเซอร์ แอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า และข้าวสาร สนับสนุนการทำหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำบลดอนกระเบื้อง เพื่อให้อาสาสมัครฯ มีเครื่องมือทันสมัย และลดการสัมผัสในการตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนในตำบลฯ ซึ่งมี 9 หมู่บ้าน จำนวน 1,353 ครัวเรือน ประชากรกว่า 4,000 คน
  • โรงงานเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก จ.ตราด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองใหญ่ และรพ.สต.ตำบลคลองใหญ่ สอนชาวบ้านในชุมชนทำหน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ และให้ความรู้กับอสม. ผู้สูงอายุ และชาวบ้าน เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อให้ห่างไกลจากโควิด 19 และยังสนับสนุนเครื่องกดเจลแอลกอฮอล์ ให้สาธารณสุขอำเภอแหลมงอบ เช่นเดียวกับ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกหาดใหญ่ จ.สงขลา จับมือกับ สำนักงานเทศบาลตำบลน้ำน้อย จัดอบรมให้ความรู้ด้านการป้องกันโรค และสอนวิธีการผลิตหน้ากากผ้าให้แก่พนักงาน คู่ค้า และผู้รับเหมา
  • โรงงานหลายแห่งได้สนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม ไข่ไก่สด และสิ่งของจำเป็น เพื่อเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดตรวจตามมาตรการกักกันการระบาดโควิดในพื้นที่ต่างๆ และช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกหาดใหญ่ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่และฟาร์มใน จ. นครราชสีมา โรงงานอาหารสัตว์หนองแค จ.สระบุรี โรงงานผลิตอาหารสัตว์ราชบุรี และ โรงงานอาหารสัตว์บกขอนแก่น โรงงานผลิตอาหารสัตว์ลำพูน
  • และจับมือกับบริษัท ชนมพรฟาร์ม จ.นครปฐม คู่ค้าของบริษัท นำไข่ไก่สดถวายให้วัดยานนาวา 5,000 ฟอง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารสำหรับโรงทานเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน และสนับสนุนไข่ไก่สดให้เจ้าหน้าที่ทหารศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์​มหาราช และเจ้าหน้าที่กองบัญชาการำรวจตระเวนชายแดน​​​ที่ปฏิบัติภรกิจสู้ภัยโควิด19

โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด 19” ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐ โดยส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยเป็นกำลังใจให้ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลของรัฐ รวม 105 แห่งทั่วประเทศ และจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารให้กับประชาชน ที่แสดงความรับผิดชอบกักตัวเองอยู่บ้านหลังกลับจากประเทศในกลุ่มเสี่ยงกว่า 20,000 คน

และ ยังขยายการสนับสนุนอาหารให้ครอบคลุมไปยังครอบครัวของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้แพทย์และพยาบาลได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ จนถึงวันนี้มีแพทย์และพยาบาลลงทะเบียนร่วมโครงการฯ แล้ว 17,000 คน และแพทย์และพยาบาลสามารถติดตามเงื่อนไขได้ที่ไลน์ ซีพี เฟรชมาร์ท http://bit.ly/2PFFcyB หรือ สายด่วนฮอตไลน์ โทร.1788 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินงานโครงการทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ พร้อมเป็นตัวกลางให้กับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยใช้เครือข่ายการกระจายสินค้า (Logistic Network) ของซีพีเอฟ โดยแจ้งความจำนงได้ที่ โทร. 083-989-0010

ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่กับยึดแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน และปลูกฝังพนักงานในองค์กรทำประโยชน์เพื่อชุมชน สังคม และประเทศ และพร้อมเดินเคียงข้างกับชุมชน เพื่อร่วมสร้างชุมชนเข็มแข้งหยุดยั้งการระบาดของโควิด19 ช่วยให้ประเทศไทยเอาชนะวิกฤติครั้งนี้ด้วยกัน

กระทรวงพลังงาน สั่งกฟผ. และปตท. จัดหาแอลกอฮอล์70% มอบให้รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ

กระทรวงพลังงาน ร่วมมือหน่วยงานในสังกัด กฟผ. และปตท. จัดหาแอลกอฮอล์ 70% สำหรับทำความสะอาดมือและพื้นผิวทั่วไปเพื่อมอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9,863 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 30 วัน ดีเดย์เริ่มจัดส่ง 20 เมษายนนี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนในการจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อใช้ทำความสะอาดให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ใช้และให้บริการประชาชนในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และบริษัทในเครือ ทำโครงการจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อประชาชน โดยจะนำแอลกอฮอล์70% ทยอยจัดส่งให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9,863 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 30 วัน เพื่อใช้ในการทำความสะอาดมือและพื้นผิวทั่วไปป้องกันเชื้อโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและประชาชน

“ในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19ที่เกิดขึ้นนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดทั้งกฟผ.และ ปตท.ได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยได้จัดทำ “โครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัยโควิด-19” ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้วในหลายเรื่อง ทั้งมาตรการด้านพลังงานโดยตรง และมาตรการด้านสังคมต่างๆทั้งการสนับสนุนงบประมาณ การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งวันนี้ความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ด้านสุขอนามัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงพลังงานจึงได้จัดหาแอลกอฮอล์เพื่อส่งมอบสนับสนุนภารกิจให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย กระทรวงพลังงานเองยังมีความมุ่งมั่นที่จะหามาตรการพลังงานด้านต่างๆเข้ามาช่วยเยียวยาผลกระทบกับประชาชน พร้อมไปกับมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ก็อยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน สามัคคีกัน เราฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ”นายสนธิรัตน์กล่าว

กระทรวงพาณิชย์ จับมือผู้ผลิต ลดราคาสินค้าจำเป็น 72 รายการ

เริ่มแล้ว ลดราคาสินค้าจำเป็น 72 รายการ ถึง 30 มิ.ย. 63

กระทรวงพาณิชย์จับมือผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ 14 ราย และห้างค้าปลีกทั่วประเทศ ลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ 5 – 58% จำนวน 72 รายการ แบ่งเป็น 6 กลุ่มสินค้า ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย

1. หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวสารบรรจุถุง น้ำมันปาล์ม ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กคัพ นมถั่วเหลือง นมพร้อมดื่มยูเอสที เป็นต้น ลดตั้งแต่ 5-50%
2. หมวดอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง เช่น ข้าวไข่เจียว ข้าวไก่กระเทียม ข้าวผัดหมู ข้าวผัดกระเพรา เป็นต้น ลดตั้งแต่ 31.03-37.50%
3. หมวดซอสปรุงรส ลดตั้งแต่ 7-37%
4. หมวดของใช้ประจำวัน ลดตั้งแต่ 8-50% เช่น กระดาษชำระ แป้ง ยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ผ้าอนามัย เป็นต้น
5. หมวดผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย ลดตั้งแต่ 6-58% เช่น สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพู เป็นต้น
6. หมวดผลิตภัณฑ์ซัก – ล้าง ลดตั้งแต่ 10-51% เช่น ผงซักฟอง น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน เป็นต้น


เอไอเอส ตั้งทีมพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ บนเครือข่าย 5 G

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์​ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  เอไอเอส จึงได้พัฒนาเครือข่าย 5G ตลอดจนระดมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์การพัฒนาหุ่นยนต์ของเอไอเอส จัดตั้งทีมเฉพาะกิจ AIS ROBOTIC LAB by AIS NEXT  โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ทำงานบนเครือข่าย 5G เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทางการแพทย์ใช้งานจริง

 AIS ROBOTIC LAB  พัฒนาหุ่นยนต์  เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ลดความเสี่ยงติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้การทำงานของทีมแพทย์สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยขึ้น รวมถึงประหยัดงบประมาณในการใช้อุปกรณ์ป้องกันปลอดเชื้อ โดยได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลากหลาย เข้ามาผสมผสานกับเครือข่าย 5G ภายใต้ระบบประมวลผล AIS Robot Platform ซึ่งเอไอเอสพัฒนาขึ้นเอง ออกแบบเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยคุณหมอ 5G “ROBOT FOR CARE” ซึ่งมีฟีเจอร์อัจฉริยะ อาทิ  เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ โดยส่งผลข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G ไปให้แพทย์ที่ให้การรักษาได้อย่างทันที  เทคโนโลยี 3D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการผ่านเครือข่าย5G  Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้องใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงได้ และเทคโนโลยี Cloud computing ในการประมวลผลจัดเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย 

ในอนาคต ทีม AIS ROBOTIC LAB เตรียมพัฒนาขยายขีดความสามารถของหุ่นยนต์ให้สามารถรองรับบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายมากขึ้น เชน สั่งหุ่นยนต์ให้ทำงานผ่านทางเสียง, การทำความสะอาดด้วยตัวเอง ผ่าน Ozone และ UV, ด้วยความสามารถจดจำเส้นทาง และจดจำใบหน้าได้ หุ่นยนต์จะสามารถทำภารกิจอื่นๆ ได้ เช่น การตรวจเยี่ยม, นำทางผู้ป่วยไปรักษาในแผนกต่างๆ อีกทั้ง โลกของ IoT และ 5G ที่จะมีการติดต่อกันเองของอุปกรณ์ต่างๆ ข้อมูลจากหุ่นยนต์ และเครื่องมือตรวจวัดที่โรงพยาบาลหรือWearable จะนำมาประมวลผลร่วมกัน เช่น เมื่อเกิดความผิดปกติใดๆ ที่ตรวจจับได้จากเครื่องมือวัด หุ่นยนต์ก็สามารถจะมาเยี่ยมถึงเตียงได้โดยทันที 

นายแพทย์สุกรม ชีเจริญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี  กล่าวว่า หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE สามารถช่วยลดการติดต่อระหว่างคนไข้ติดเชื้อ กับบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยลดภาระในการใช้อุปกรณ์เครื่องป้องกันที่โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหน้ากากอนามัย และชุด PPE  ขณะที่หุ่นยนต์ สามารถช่วยส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงเตียงได้อย่างแม่นยำเพียงแค่ตั้งค่าพิกัด หรือบังคับทางไกล และคนไข้ยังสามารถติดต่อสอบถามเมื่อมีข้อสงสัยในการทานยาผ่านกล้องหุ่นยนต์ได้ทันที

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE ถือว่าสามารถช่วยการทำงานได้อย่างตรงจุด โดยโรงพยาบาลได้นำมาใช้งานในการเฝ้าดูอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิและระดับออกซิเจนในเลือดซึ่งมีความแม่นยำและช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ

 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า  จุดคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  การใช้หุ่นยนต์ 5G Telemedicine จะช่วยคัดกรองและเพิ่มระยะห่าง เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ 

มาร์เก็ตเพลส จุฬาฯ- ธรรมศาสตร์ มิติใหม่ของการฝากร้าน ช่วยศิษย์สู้โควิด-19

ในรอบไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้หลายตลาดจะซบเซา คนเดินน้อย พ่อค้าแม่ค้าบ่นอุบ แต่ไม่ใช่สำหรับสองตลาดนี้ เมื่อในช่องทางเฟสบุ๊ค มีการเปิดกลุ่ม Marketplace ของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ เพื่อให้ศิษย์เก่าและปัจจุบัน สามารถนำเอาสินค้าและบริการของตัวเองที่ทำอยู่ มาฝากร้าน ฝากขาย ผ่านช่องทางนี้

กลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส ตั้งขึ้นเมื่อ 11 เม.ย. จนถึงวันนี้ มีสมาชิกแล้ว 1.5 แสนคน ส่วนกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ตั้งกลุ่มเมื่อ 7 เม.ย. ตอนนี้มียอดสมาชิก 1.1 แสนคน ซึ่งนับวัน ยอดสมาชิกของทั้งสองกลุ่ม ก็เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดดเลยทีเดียว

จากปากต่อปาก และคำเชิญของเพื่อนในกลุ่ม แน่นอนว่า ท้้งศิษย์เก่า และปัจจุบัน แห่แหนเข้าไปร่วมกลุ่มกันมากมาย เราได้เห็นทั้งการขายตั้งแต่ของใช้กระจุกกระจิก อาหาร บริการ ไปยันคอนโด ที่ดินหลักพันล้าน ก็มีให้เห็นมาแล้ว

นอกจากนี้ เรายังเจอคนดัง เซเลป ที่เป็นศิษย์ของทั้งสองสถาบัน มาฝากร้านตัวเองบ้าง ช่องยูทูปบ้าง อีกด้วย

และล่าสุด ถึงขั้นฝากพรรคการเมือง เมื่อมีศิษย์เก่าที่เป็นนักการเมือง ก็เข้ามาร่วมกลุ่มด้วย แต่ก็ทำให้เกิดดราม่าในกลุ่มตามมา อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับกฏกติกาของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มอาจเปิดกว้างเรื่องนี้ บางกลุ่มอาจห้ามไว้ ทั้งนี้ คนที่จะเข้าไปฝากร้าน ฝากขาย จำเป็นต้องศึกษา และทำความเข้าใจกติกากันให้ดีก่อน

จริงๆแล้ว เสน่ห์ของการฝากร้านขายของในกลุ่มเฟสบุ็คทั้งของจุฬาฯ และธรรมศาตร์ แรกเริ่มเดิมที มีบรรยากาศของเพื่อน พี่น้อง ซื้อขายแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือกันในช่วงโควิด-19 ที่พ่นพิษเล่นงานกันทั่วถึง ่ ดังนั้นแล้ว สมาชิกกลุ่มหลายคนจึงไม่อยากเห็นความคิดเห็นที่แตกต่าง เข้ามาทำลายบรรยากาศดีๆ และเป็นกันเองของตลาดทั้งสองกลุ่มนี้ เพราะหากบานปลายมากไป อาจทำให้ “ตลาดวาย” ไปก่อนเวลา

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างคนที่เรียนจบมาจากสถาบันเดียวกัน ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้เห็นว่า แต่ละคนทำมาหากิน มีธุรกิจกิจการอะไรกันบ้าง เกิดดีลธุรกิจ และนำไปสู่คอนเนคชั่นทางธุรกิจได้ในอนาคต