Home Blog Page 40

ผลไม้ออกแล้ว ไม่มีคนซื้อ จะขายที่ไหน

รู้ทันปากท้องกับตลาดหลักทรัพย์

ตอน ผลไม้ออกแล้ว ไม่มีคนซื้อ จะขายที่ไหน

คุยกับ กูรูค้าขาย
อาซ้ง คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานบ.ทีวี ไดเร็ก

ช่วงนี้ ค้าขายทำได้ไม่ปกติ บรรดาร้านค้าก็เปิดไม่ได้

สำหรับสินค้าอย่างผลไม้ เกษตรกรต้องเร่งขายให้ได้เร็ว เพราะทิ้งไว้นาน ของมีเน่ามีเสีย

แต่จะทำยังไงเมื่อช่องทางขายปกติ ใช้งานไม่ได้

อาซ้งแนะว่า นี่เป็นเวลาและโอกาสให้ได้เรียนรู้ที่จะสร้างช่องทางขายออนไลน์ของตัวเอง

ที่มา รายการ รู้ทันปากท้องกับตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เงาหุ้น : หุ้นเข้าดัชนี MSCI!!

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด BAM ปิด 23.50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง, CPALL ปิด 71.75 บาท ลบ 1.75 บาท, KCE ปิด 16.50 บาท ลบ 0.90 บาท, GULF ปิด 38.50 บาท ลบ 1.25 บาท, PTT ปิด 36 บาท ลบ 0.25 บาท

ตลาดปรับลงนักลงทุนเทขายทำกำไรกังวลการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หลังหลายประเทศผ่อนคลายการล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจต่างๆกลับมาเปิดกิจการได้ บวกกับก่อนหน้านี้ตลาดได้สะท้อนความคาดหวังการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปในระดับหนึ่งแล้ว

ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงจากการถูกปรับลดประมาณการกำไรลงที่ล่าสุดมีการรายงานกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q63 มาแล้ว ทั้งสิ้น 190 บริษัท (คิดเป็น 56.2% ของมูลค่าตลาด) มีกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 6.37 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 53.7% QoQ และ 65.6% YoY (ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ลดลง 17%)

ฉะนั้นการที่กำไรงวด 1Q63 ลดลงแรงบวกกับมีแนวโน้มลดลงอีกในงวด 2Q63 ทำให้โอกาสในการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 63 ลงอีก ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของตลาด

ดังนั้นยามที่ Valuation ตลาดเริ่มตึงหลังตลาดหุ้นทั่วโลกสะท้อนประเด็นการเปิดเมืองมาพอสมควร รวมถึงจากข้อมูล Mobility Trend รวบรวมโดย Apple พบว่าประเทศที่เริ่มกลับมาดำเนินการทางเศรษฐกิจใกล้เคียงภาวะปกติมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงการระบาดระยะที่ 2 ตามไปด้วย เช่น เยอรมนี เกาหลีใต้ เป็นต้น

ดังนั้น เอเซีย พลัส แนะว่า ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องพิถีพิถันในการลงทุนและแนะลงทุนในหุ้นที่ Laggard มีโอกาสเป็นเป้าหมายของ Fund Flow ในการ Rotation มาถึงในระยะถัดไปคือ BCP และ BCH!!

เอเซีย พลัส ยังแนะเก็งกำไรหุ้นที่ถูกประกาศเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard อย่าง AWC, BAM และ KTC ในวันที่ประกาศและขายทำกำไรในวันที่มีผลบังคับใช้ (29 พ.ค.63) น่าจะ Outperform ได้ดียามที่ตลาดยังอยู่ในภาวะผันผวน

ส่วนหุ้น BANPU อาจจะผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากถูกกดดันจากการถูกคัดออกจากดัชนี MSCI Global Standard และยังมีโอกาสถูกคัดออกจาก SET50 ในรอบที่จะถึง เนื่องจากอันดับ Market Cap ลดลงมาอยู่อันดับที่ 77 ของหุ้นทั้งหมดใน SET Index

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ขึ้นรางวัลสลากกินแบ่งฯ ได้แล้วที่ธนาคารออมสิน เริ่ม 1 มิ.ย.

รายงานข่าว เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ธนาคารออมสินจะเปิดบริการรับขึ้นเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สาขาของธนาคาร

โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1. รางวัลที่รับขึ้นเงินรางวัลที่ 2 | รางวัลที่ 3 | รางวัลที่ 4 | รางวัลที่ 5 | รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 | รางวัลเลขหน้า 3 ตัว | รางวัลเลขท้าย 3 ตัว | รางวัลเลขท้าย 2 ตัว ส่วนรางวัลที่ 1 และ สลากงวดอื่น ติดต่อที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 

2. สลากที่รับขึ้นรางวัล ต้องเป็นสลากงวดปัจจุบัน เท่านั้น

3. สลากจะต้องมีสภาพสมบรูณ์ ไม่มีรอยลบ ขูดขีด หรือชำรุดช่วงเวลาในการับขึ้นเงินรางวัลสามารถรับขึ้นเงินรางวัลตั้งแต่ เวลา 18.00 น ของวันออกรางวัลในงวดนั้น ถึง เวลา 12.00 น. ของวันออกรางวัลงวดถัดไป

เงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัล

1. การจ่ายเงินให้ยึดตามผู้ที่มาขอรับขึ้นเงินรางวัล ชื่อบัญชี และบัตรประชาชนที่นำมาแสดงต้องเป็นคนเดียวกัน 

2. ระบบจะโอนเงินรางวัลเข้าบัญชีคู่โอนที่เป็นบัญชีธนาคารออมสินประเภทบัญชี “เผื่อเรียก” ตามที่ธนาคารกำหนด      

คุณสมบัติผู้ขอรับขึ้นเงินรางวัล

1. ต้องเป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ยกเว้น ผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส(เป็นไปตามระเบียบสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ม.4)

2. ต้องมีบัญชีคู่โอนเป็นบัญชีประเภท “เผื่อเรียก” กับธนาคารออมสิน (กรณีการฝากเข้าบัญชีธนาคารออมสินข้ามเขต ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้อัตโนมัติ)

อัตราค่าธรรมเนียมอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. ค่าธรรมเนียมของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล• สลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องชำระค่าอากรแสตมป์ ทุก 200 บาทหรือเศษของ 200 บาท เสียอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท (หรือ ร้อยละ 0.5)• สลากการกุศล ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ของเงินรางวัล 

2. ค่าธรรมเนียมการให้บริการที่ธนาคารออมสินสาขา อัตราร้อยละ 1.0 ของเงินรางวัล 

ซีพีเอฟ กำไรไตรมาสแรกโต 43% คาดโควิด-19 ไม่กระทบผลประกอบการ มั่นใจดีกว่าปีที่แล้ว

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2563 เท่ากับ 6,111 ล้านบาท เติบโต 43% จากปีก่อน คาดมาจากระดับราคาหมูในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนาม เนื่องจากโรคระบาด ASF (African Swine Flu) ที่เกิดขึ้นในการเลี้ยงหมูในภูมิภาค ทำให้จำนวนหมูลดลง จนเกิดภาวะขาดตลาด

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจใน 17 ประเทศ และส่งออกมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก รายงานยอดขายไตรมาส 1 ปีนี้ จำนวน 138,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 10% โดยเป็นยอดขายของกิจการในต่างประเทศ 16 ประเทศมีสัดส่วน 68% ของยอดขายรวมเติบโต 12% จากปีก่อน และกิจการประเทศไทยที่มีสัดส่วน 32% ของยอดขายรวมเติบโต 6%

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า กำไรที่ดีขึ้นของบริษัทส่วนใหญ่ มาจากธุรกิจสุกรในหลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามจากเหตุภาวะสุกรขาดตลาดอันเกิดจากโรคระบาด ASF (African Swine Fever) ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณสุกรในเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ราคาสุกรเฉลี่ยในเวียดนามและกัมพูชาปรับตัวสูงขึ้นมาจากปีที่แล้ว นอกจากนั้น กิจการในหลายประเทศก็มีการเติบโตดีขึ้นตามเป้าหมายการขยายงาน รวมทั้งการเริ่มรับรู้กำไรจากบริษัท Hylife ผู้ดำเนินธุรกิจสุกรในแคนาดาตั้งแต่ไตรมาส 1 นี้

สำหรับสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีผลกระทบต่อธุรกิจบ้างจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและกำลังซื้อลดลง แต่ผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท มีไม่มากนักเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในการยังชีพ และบริษัทได้ยึดมั่นในภารกิจสินค้าคุณภาพและปลอดภัยที่จะกำกับดูแลให้กระบวนการผลิตและกระบวนการทำงานไม่หยุดชะงัก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร โดยยกระดับการป้องกันการกระจายโรค COVID เป็นระดับสูงสุด พร้อมทั้งมีมาตรการดูแลพนักงานในองค์กรอย่างเต็มที่ รวมทั้ง ได้มีโครงการช่วยเหลือสังคมต่างๆ

ซีพีเอฟ มีแนวทางกลยุทธ์ในการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ ไม่ว่าจะมีความหลากหลายของประเภทสัตว์ ความหลากหลายของสินค้าจากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร รวมทั้งความหลากหลายของประเทศที่ดำเนินธุรกิจ อีกทั้งการใส่ใจในกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยได้มาซึ่งสินค้าคุณภาพสำหรับผู้บริโภค พร้อมทั้งมีการปรับรูปแบบธุรกิจช่องทางการขายและสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคมาโดยตลอด บริษัทจึงมีการทบทวนแผนธุรกิจต่อสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 นี้ เพื่อผลิตสินค้าและช่องทางจำหน่ายให้สอดคล้องกับ New Normal และคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะดีขึ้นจากปีที่แล้ว ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รับตำแหน่งซีอีโอ ปตท.คนใหม่ อย่างเป็นทางการ

รายงานข่าว เปิดเผยว่า วันที่ 13 พ.ค. 2563 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ได้เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)​ คนที่ 10 อย่างเป็นทางการวันแรกแล้ว

นายอรรถพล เป็นลูกหม้อทำงานของปตท.ทำงานมากว่า 30 ปี เริ่มตั้งแต่ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจน้ำมัน ปรับตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2552 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ปี 2554-56 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดพาณิชย์และต่างประเทศ เมื่อปี2556-57 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก ปี 2557-2558 ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการ ปตท. และเมื่อปี 2558-60 กลับมาดูแลธุรกิจน้ำมันอีกครั้งในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท.

และเดือนต.ค.ปี 2560 รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และยังคงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กำกับดูแลในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่น ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการค้าปลีก รวมทั้งถึงบริษัทย่อยในเครือ ปตท.ทั้ง บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)​ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)​ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)​และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด กระทั่งล่าสุด ได้รับการแต่งตั้งจากบอร์ดปตท.ให้เป็นซีอีโอ คนใหม่ คนที่ 10 ต่อจาก นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งหมดวาระในวันที่ 12 พ.ค.2563

เงาหุ้น : เก็งกำไรหุ้นรายตัว

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 12 พ.ค.63 ปิดที่ 1,299.69 จุด เพิ่มขึ้น 12.39 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 59,394.53 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,205.07 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด PTT ปิด 36.25 บาท บวก 0.75 บาท, ADVANC ปิด 190.50 บาท ลบ 3 บาท, BAM ปิด 23.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท, GPSC ปิด 74.25 บาท บวก 2 บาท, CPALL ปิด 73.50 บาท ลบ 0.50 บาท

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดภูมิภาค โดยนักลงทุนเข้าเก็งกำไรผลประกอบการหุ้นรายตัวที่คาดว่าจะออกมาดีและลุ้นรับข่าวดีการผ่อนปรนกิจการกลุ่มที่ 2 ให้ออกมาเปิดกิจการได้

หลายบริษัทแจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ออกมาโดย INTUCH กำไรออกมาดีกว่าที่คาด กำไร 2,740ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 5.6%

เทียบกับไตรมาส 1 ปี 62 แต่เพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 62 บล.ทิสโก้แนะ “ซื้อ” ให้มูลค่าเหมาะสม 68 บาท

ส่วนหุ้น PTT ที่ไตรมาส 1 ขาดทุน 1,554 ล้านบาท ลดลงหนักจากช่วงเดียวกันปี 62 ที่มีกำไร 2.93 หมื่นล้านบาท ทิสโก้ชี้เป็นไปตามคาดที่ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและค่าเงินที่หายไป ซึ่งถือเป็นรายการพิเศษ หากไม่รวมรายการนี้จะเป็นผลกำไร 1.56 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้แนะนำแค่ “ถือ” โดยให้มูลค่าที่เหมาะสมที่ 34 บาท

ปิดท้าย “ศรพล ตุลยะเสถียร” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลาดหลักทรัพย์ สรุปภาวะตลาดเดือน เม.ย.ว่า ดัชนีหุ้นไทยสิ้นเดือน เม.ย.ปรับตัวขึ้น 15.6% ปิดที่ 1,301.66 จุด จากสิ้นเดือนก่อนหน้าซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย หลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย

โดยตลาดมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 68,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 62 ขณะที่ต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 46,782 ล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดเอเชีย โดยหุ้นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม, ทรัพยากร, บริการ, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดภาพรวม

ด้าน Forward อยู่ที่ระดับ 17.7 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ 15.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.3 เท่า และ 14.0 เท่า ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทน อยู่ที่ระดับ 4.0% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.3%!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

โควิด-19 ทำส่งออกอัญมณี/เครื่องประดับไทย ลดฮวบ ไตรมาสเดียว 20.18%

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ไม่รวมทองคำ ในไตรมาสแรกของปี 63 ลดลง 20.18% หรือมีมูลค่า 1,563 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ถ้ารวมทองคำ มูลค่าส่งออกเติบโตได้ 71.85% หรือมีมูลค่า 5,442.28 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย จำแนกประเภท ดังนี้

เครื่องประดับทอง ลดลง 26.69%

เครืองประดับเงิน ลดลง 9.39%

เพชรเจียระไน ลดลง 26.22%

พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลดลง 44.13%

พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลง 28.42%

ทองคำ เพิ่มขึ้น 220.91%

ทั้งนี้ อัญมณีและเครื่องประดับ นับเป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 (รองจากรถยนต์) และคิดเป็นสัดส่วน 8.68% ของการส่งออกโดยรวมของไทย โดยตลาดส่งออกหลักอย่างสหภาพยุโรปและฮ่องกง รวมถึงตลาดสำคัญอย่างกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและจีน หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวรับมือกับ เทรนด์ New Normal ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การค้า E-Commerce พุ่งสูง เพราะลูกค้าหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น และจะซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูง แต่ราคาไม่แพง รวมถึงการรับข่าวสารผ่าน Social Media และ Chat App มากกว่าช่องทางอื่น

AIS Business จับมือ IBM ให้บริการ Cloud Managed Services

ช่วยองค์กรไทยเดินหน้าต่อเนื่องไม่มีสะดุด แม้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส เปิดเผยว่า AIS Business ในฐานะผู้นำบริการ Cloud แบบครบวงจร และ IBM พร้อมที่จะให้บริการลูกค้าในทุกภาคธุรกิจด้วยระบบที่ให้มุมมองการควบคุม กำกับดูแล และปฏิบัติงานอัตโนมัติอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าแอปพลิเคชันของลูกค้าจะอยู่บน Cloud, On Premise หรือบริเวณขอบของเครือข่าย (Edge) ก็ตาม

ทั้งนี้ AIS Business ผู้นำบริการ Cloud ครบวงจร และมีอัตราการเติบโตของบริการ Cloud มากที่สุดเป็นอันดับ 1 จับมือ IBM นำบริการ Cloud Managed Services สำหรับ Multicloud ระดับโลก เข้าช่วยองค์กรในภาคธุรกิจต่างๆ ของไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้การดำเนินงานด้านไอทีขององค์กรต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และไม่มีสะดุด แม้ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่พนักงานจำนวนมากยังคงต้องทำงานจากบ้านก็ตาม โดย AIS Business จะร่วมกับ IBM ในการให้บริการเทคโนโลยีแบบโอเพ่นที่ยืดหยุ่น รวมถึงบริการบริหารจัดการระบบระดับโลกที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจต่างๆ ในการบริหารจัดการ Cloud

ภายใต้ความร่วมมือนี้ บริการ Cloud Managed Services สำหรับแพลตฟอร์ม Cloud ทั้งแบบ Public, Hybrid และ On-Premise จะช่วยให้องค์กรไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่แม้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระบบไอทีสามารถให้บริการลูกค้าและรองรับการรันแอปพลิเคชันทั้งหมดต่อไปได้ แม้พนักงานจะไม่สามารถเข้ามาทำงานที่บริษัทได้เต็มที่ตามปกติ บริการ Cloud Managed Services จะช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่าแผนงานด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจ จะเดินหน้าต่อไปได้แบบไม่สะดุด โดยมีทีมงานที่มีประสบการณ์คอยช่วยควบคุมการทำงานของแอปพลิเคชันให้ต่อเนื่อง พร้อมมอนิเตอร์ระบบแบบ remote ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตครอบคลุมการอินทิเกรทและให้บริการแอปพลิเคชันแบบต่อเนื่อง รวมถึงการมอนิเตอร์ microservices และ container ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับการให้บริการระบบอัตโนมัติบนพื้นฐานแนวคิดแบบ Zero-Touch Operations

ลูกค้าของ AIS Business มั่นใจได้ว่าจะได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ที่ขับเคลื่อนโดยการวิเคราะห์ข้อมูลอันชาญฉลาด รวมถึงบริการสนับสนุนเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ นอกจากนี้ บริการ Managed Cloud Service แบบครบวงจรที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออโตเมชันเป็นหัวใจสำคัญ ยังช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่น รองรับการขยับขยายไปยังเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Internet of Things (IoT) และ 5G ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

ด้านนายอภิชาต อรุณคุณารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโกลบอลเทคโนโลยีเซอร์วิส บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ระบบปฏิบัติการด้านธุรกิจและไอทีเป็นหัวใจสำคัญที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพา และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้การขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อเนื่องกลายเป็นเรื่องที่มีความท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก IBM และ AIS Business จะร่วมกันนำศักยภาพของ Cloud Managed Services มาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงินการธนาคาร ประกันภัย การผลิต ยานยนต์ เกษตรกรรม หรือแม้แต่ค้าปลีกยุคใหม่

สนใจบริการ Cloud Managed Services และบริการอื่นๆ จาก AIS Business สามารถติดต่อได้ที่ Corporate Call Center โทร. 1149 หรือเว็บไซต์ http://business.ais.co.th/

เงาหุ้น : หุ้นการบินไทย

อินเด็กซ์ 51

ดัชนีหุ้นไทย วันที่ 11 พ.ค.63 ปิดที่ 1,287.30 จุด บวก 21.28 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 56,801.03 ล้านบาท

ต่างชาติยังคงขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง 1,360.77 ล้านบาท ขณะที่กองทุนในประเทศเข้าซื้อสุทธิหนักสุด 4,055.01 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด PTT ปิด 35.50 บาท บวก 0.25 บาท, PTTGC ปิด 40.50 บาท บวก 2 บาท, CPALL ปิด 74 บาท บวก 2 บาท, GPSC ปิด 72.25 บาท บวก 4.25 บาท, BAM ปิด 22.80 บาท บวก 0.60 บาท

ตลาดปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นต่างประเทศ จากข่าวเชิงบวกทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และการทยอยเปิดเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ

หุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ร่วงแรง ท่ามกลางกระแสการลุ้นแผนฟื้นฟูกิจการที่จะออกมา หลังฐานะบริษัทบักโกรกขาดทุนขาดสภาพคล่อง

โดย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า อยู่ระหว่างทบทวนคำแนะนำและราคาเป้าหมาย THAI โดยมีมุมมอง Negative ต่อผลประกอบการ 1Q20F ของ THAI คาดรายงานผลขาดทุนสุทธิ 7,769 ล้านบาท แย่ลง y-y จากกำไรสุทธิ 445 ล้านบาท และผลขาดทุนเพิ่มขึ้น q-q จากที่ขาดทุนสุทธิ 923 ล้านบาท

เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ฉุดปริมาณผู้โดยสารลดลง

คาดรายได้ขายตั๋วโดยสารลดลง (-29% y-y, -24% q-q) และ 2) มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทอ่อนค่า

แนวโน้ม 2Q20F ผลขาดทุนสุทธิเพิ่มเป็น 22,929 ล้านบาท จากการได้รับผลกระทบจากการหยุดบิน (ชั่วคราว) อย่างเต็มไตรมาส โดยยังคงอยู่ระหว่างทบทวนคำแนะนำและราคาเป้าหมายหุ้น THAI

เนื่องจากคาดว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นของ THAI จะพลิกติดลบภายใน 1H20F โดย THAI อยู่ระหว่างเตรียมแผนฟื้นฟูกิจการ!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดยอินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

คุณนายพารวย : เงินทองต้องวางแผน

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า2019 (โควิด-19) ทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบให้คนตกงานฉุกเฉิน.. ไม่ทันตั้งตัวจำนวนมาก!!

​ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ คนหาเช้ากินค่ำ มีรายได้วันต่อวัน แม้กระทั่งคนมีเงินเดือน แต่ไม่มีเงินเก็บเงินออมต้องเดือดร้อนถึงขั้น ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน  บางคนถึงขั้นไม่มีเงินซื้ออาหารประทังชีวิตในแต่ละวัน

ตอกย้ำให้เห็นถึงสุขภาพทางการเงินของคนไทย ที่อยู่ในขั้นวิกฤติ คือ ไม่มีเงินเก็บ-เงินออมเพื่อสำรองไว้ใช้หรือแก้ปัญหาในยามฉุกเฉิน!!

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ที่ได้สำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานรากทั่วประเทศ คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000  บาท  พบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ออมเงินไม่ได้ ส่วนใหญ่  82.7% ให้เหตุผลว่า ไม่มีเงินเหลือให้ออม ถัดมาคือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน และมีภาระหนี้สิน 

เมื่อถามว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องหยุดงานหรือไม่มีรายได้ มีเงินสำรองไว้ใช้แค่ไหนพบว่ามากกว่า  33.7% ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน!!   อีก 33.3% บอกว่ามีเงินใช้จ่ายไม่เกิน 1เดือนและอีก 28.5% ระบุว่า มีเงินใช้จ่ายไม่เกิน 3 เดือนหมดจากนี้ก็หมดกันเลยชีวิต!!

ดังนั้นยามเมื่อวิกฤติโควิดมาเยือนอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว คนส่วนใหญ่ของประเทศจึงเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่เพียงแต่ประชาชนฐานรากเท่านั้น คนชั้นกลางที่มีรายได้สูงกว่าก็เดือดร้อนหนักเช่นกัน

บทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้  ทำให้พวกเราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปฎิวัติ ปรับมุมคิด วางแผนชีวิตการเงินกันใหม่ทั้งหมด  โดยเมื่อโควิด-19 คลี่คลายกลับมาทำงานมีรายได้ มีเงินเข้ามือ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ  “ออมก่อนใช้” ขอให้ท่องเป็น “คาถากันจน” กันไว้เลย!!

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง “เงินทองต้องวางแผน” ที่รวบรวมเทคนิค แนวคิด ความรู้ข้อแนะนำและวิธีการ ในเรื่องการวางแผนการเงินการออม จากกูรูนักวางแผนการเงินไว้มากมาย ให้ข้อแนะนำว่า อาจเริ่มจากการออม 10-20% ของรายได้ก่อน โดยทันทีที่ได้เงินมา ให้กันเงินออมแยกบัญชีออกไปต่างหากเป็นอันดับแรก  และหากมีหนี้สินก็ต้องกันเงินไว้ใช้หนี้ด้วย

วางเป็นสมการได้อย่างนี้  รายได้-เงินออม-หักภาระหนี้(ถ้ามี) = เงินใช้จ่าย

และต้องวางแผนใช้จ่ายเงินให้ได้ทั้งเดือน เช่น มีรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายแน่ๆ ค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-ค่าเช่าบ้านต้องกันไว้ก่อน  เงินที่เหลือหาร 30 วัน เพื่อให้รู้ว่า ภายในเดือนนี้จะมีเงินใช้จ่ายค่าอาหาร3 มื้อ ค่าเดินทางและค่าอื่นๆ เฉลี่ยวันละกี่บาท

หากวันไหนใช้จ่ายเกิน วันรุ่งขึ้นก็ต้องใช้น้อยลง หรือหากวันไหนใช้จ่ายน้อยกว่าที่คำนวนไว้ ก็ให้กันเงินที่เหลือใส่กระปุก  เก็บไว้เป็นเงินออมเพิ่ม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแอปทำบัญชีรายรับรายจ่าย ชื่อว่า SET Happy Money จดอย่างมีวินัย แล้วกลับมาวางแผนปรับลดค่าใช้จ่ายและจัดการหนี้สิน ก็มีเงินออมไปต่อยอดสร้างสุขทางการเงินในปัจจุบันและอนาคตได้ไม่ยาก

คาถาอีกบท จำไว้ให้ขึ้นใจ “ออมก่อน…รวยกว่า..ออมเร็ว..รวยเร็ว..ออมมาก..รวยมาก” ถ้าเริ่มทำได้เร็ว  ความมั่งคั่งก็จะมาหาเราเร็วขึ้น ที่สำคัญต้องลืมและเลิกไปเลยกับพฤติกรรมเดิมๆ ที่ “ใช้ก่อน..เหลือเท่าไหร่..ค่อยออม”

ในบทความครั้งหน้า จะเล่าให้ฟังว่าจะแบ่งและจัดสรรเงินออมไว้เพื่อเป้าหมายอะไรกันบ้าง

​​​​คุณนายพารวย