Home Blog Page 30

เงาหุ้น : หุ้น Dividend&Defensive

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 12 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,382.56 จุด ลบ 14.21 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 85,786.80 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,000.19 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SUPER ปิด 1.05 บาท บวก 0.05 บาท, BAM ปิด 25 บาท ลบ 0.50 บาท, PTT ปิด 37.25 บาท ลบ 1.25 บาท, MINT ปิด 22.80 บาท บวก 0.80 บาท, CPF ปิด 30.50 บาท ลบ 0.25 บาท

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส แนะให้โฟกัสและบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดมีปรับฐานสูง โดยฝ่ายวิจัยได้ส่งสัญญาณเตือนในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้ง 5 มิติ คือ 1.ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าเป้าหมาย ที่ฝ่ายวิจัยประเมินทุกวิธีการ ที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาเร็วกว่า 50% (จากกลาง มี.ค.ถึง 9 มิ.ย.63)

และทำจุดสูงสุดที่ 1,448.13 จุด สูงกว่าเป้าหมายที่ฝ่ายวิจัยประเมินทั้งปี 63 และปี 64 ที่ 1,164 จุด และ 1,407 จุด ตามลำดับ รวมถึงยังสูงกว่าดัชนีเป้าหมายที่กำหนดให้หุ้นทุกตัวเต็มมูลค่าพื้นฐานปี 63 และคิดกลับด้วยวิธี Implied Market Cap. ได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,441 จุด

2.ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะเก็งกำไรเต็มตัวจากมูลค่าซื้อขายที่กระโดดขึ้นไปสูงเกิน 1 แสนล้านบาท/วัน 4 วันติดต่อกัน ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น 3.สัดส่วนหุ้นไทยกว่า 30% จากทั้งหมด มี RSI อยู่ในโซน Overbought เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าตลาดมีโอกาสปรับฐาน

4.ตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวขึ้นแรง พร้อมกับดัชนีความกลัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ปกติจะสวนทางกัน) คือ 2-9 มิ.ย. ดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 4.2% ขณะเดียวกัน VIX Index ทยอยปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.7% แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯเอง แม้จะปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็แฝงไปด้วยความระแวงในการปรับฐานในระยะถัดไป

5.ตลาดหุ้นไทยถูกซื้อขายกันบน P/E ที่สูงถึง 22 เท่า (แพงสุดในภูมิภาค) ด้วยความคาดหวังว่าจะมีสภาพคล่องส่วนเกินมาหนุนเรื่อยๆ แต่สภาพคล่องส่วนเกินในช่วงนี้อาจไม่ได้ผลักดันดัชนีให้ปรับขึ้นร้อนแรงเหมือนในอดีต

ดังนั้น ถ้านักลงทุนติดตามมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะป้องกันผลตอบแทนในพอร์ตให้ได้กำไรอย่างสม่ำเสมอ จากกลยุทธ์ตั้งจุดล็อก

กำไร เพื่อลดความเสี่ยงยามตลาดผันผวน ตามพอร์ตจำลองที่มีการล็อกกำไรไป 5 บริษัท ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คือ LH, AMATA, STEC, CPALL, BCPG และ BDMS

พร้อมกับเน้นลงทุนหุ้นดีดี (Dividend & Defensive) อย่าง BTSGIF–EGCO–DCC–TTW เป็นต้น

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์51 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

แบงก์ชาติ แจงหนี้สิน 6 ล้านล้านบาท ไม่เป็นหนี้สาธารณะ และไม่เป็นภาระประเทศ

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินของ ธปท. มูลค่า 6 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่จะเป็นภาระต่อผู้เสียภาษีในระยะต่อไปนั้น ขอเรียนว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงิน ของ ธปท. ที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง เช่น เมื่อระบบการเงินมีสภาพคล่องส่วนเกิน ธปท. จะออกตราสารหนี้ เพื่อดูดซับสภาพคล่องเข้ามาเก็บไว้ที่ ธปท. ในทางตรงกันข้ามหากระบบการเงินต้องการสภาพคล่อง ธปท. ก็จะลดยอดการออกตราสารหนี้เพื่อปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดการเงิน โดยสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าวเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินตามบทบาทหน้าที่ของ ธปท. โดยเฉพาะการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศในช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้น หนี้สินที่ปรากฏจะมีรายการคู่ขนานที่เป็นด้านสินทรัพย์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศอยู่ด้วย

ทั้งนี้ หนี้สินในงบการเงินของ ธปท. เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ไม่ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศ แต่เกิดจากการดำเนินงานตามภารกิจของธนาคารกลาง ที่สะท้อนกิจกรรมในการบริหารสภาพคล่องในระบบการเงิน

3 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนฯ สู้โควิด-19

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออก 3 มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน  ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย

1. คิดดอกเบี้ยแก่ผู้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 0 ต่อปีของเงินต้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 31 ต.ค. 63 ยกเว้นลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีและศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำพิพากษาตามยอมแล้ว

2. งดการขายทอดตลาดแก่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขายทอดตลาด เป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่กรมบังคับคดีได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงวันที่ 31 ต.ค. 63

3. ชะลอการบังคับคดีแก่ผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันเป็นระยะเวลานับตั้งแต่วันที่กรมบังคับคดีได้รับแจ้งจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงวันที่ 31 ต.ค. 63 เว้นแต่กรณีที่ใกล้สิ้นระยะเวลาบังคับ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด/ สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ/ สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน โทร. 0 2280 3915 ในวันและเวลาราชการ

ซีพีเอฟ ส่งรถ Food Truck มอบอาหารปลอดภัย ให้ชาวชุมชนวัดสามัคคีสุทธาวาส

ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำพนักงานซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมกับ ผู้แทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งมอบอาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จาก CPF Food Truck ในโครงการ “อาหารปลอดภัย จากใจ..สู่ชุมชน” ครั้งที่ 19 เพื่อส่งมอบอาหารปลอดภัย ช่วยลดค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวชุมชนวัดสามัคคีสุทธาวาส ซอยจรัญสนิทวงศ์ 85 ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 ณ โรงเรียนวัดสามัคคีสุทธาวาส เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

ซีพีเอฟ ส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้มาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านโครงการฯ ดังกล่าว โดย ซีพีเอฟ จะจัดทีมจิตอาสา ส่งรถ CPF Food Truck ลงพื้นที่ทุกวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ส่งมอบอาหารอุ่นร้อนให้กับชุมชนในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยสูงสุด และตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต สอดคล้องกับทิศทางความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนของบริษัทภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่ สนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร และการผลิตอาหารคุณภาพดีอย่างยั่งยืน

สำหรับอาหารสำเร็จรูปที่นำมาแจกมีให้เลือกถึง 6 เมนู ได้แก่ ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวไก่สไปซี่ ข้าวอกไก่ย่างซอสเกาหลี ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว พร้อมด้วยไข่ต้ม นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ โอสถสภา นำเครื่องดื่ม และ Mc ยีนส์ นำหน้ากากผ้า ร่วมมอบด้วย

เงาหุ้น : กดดัน!!

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 11 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,396.77 จุด ลดลง 22.00 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 82,892.56 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 752.80 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด SUPER ปิด 1 บาท บวก 0.13 บาท, BAM ปิด 25.50 บาท บวก 0.70 บาท, STA ปิด 27.75 บาท ลบ 0.75 บาท, MINT ปิด 22 บาท ลบ 0.90 บาท และ SCB ปิด 86.50 บาท ลบ 2.75 บาท

หุ้นไทยดิ่งลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯและดาวโจนส์ฟิวเจอร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ย นโยบายไว้ที่เดิม ขณะที่เฟดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะหดตัวลงในปีนี้ 6.5% และปีหน้าจะดีดตัวขึ้น 5% ขณะที่ไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แถมยังส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปจนถึงปี 65 กดดันภาพรวมการลงทุน โดยหุ้นไทยถูกเทขายกดดัชนีลงมาหลุด 1,400 จุดตามคาด

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า นิคมอุตฯสามารถยืนปิดบวกได้ โดย WHA +5.5% และ AMATA 3.7% จากการที่นักลงทุนมองว่าหุ้นยัง laggard ส่วนหุ้นที่คลาย lockdown ในการเปิดกิจการ ราคากลับปรับตัวลง จากความกังวลการระบาดรอบ 2 ทั้ง CENTEL -5.5%, MINT -3.9%, ERW -3.8%, AOT -3.8%, CRC -3.4%, MAJOR -3.4% และ AWC -2.6% เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มน้ำมันได้รับผลกระทบจากความกังวลเช่นกัน นำโดย PTTGC, IVL, PTTEP, ESSO, TOP, PTT และ SCC พาเหรดร่วงทั้งกระดาน รวมทั้งหุ้นกลุ่มธนาคาร ที่กังวลในการลดอัตราดอกเบี้ย

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ชี้ว่าตลาดเข้าสู่การปรับฐานสอดคล้องกับคาดการณ์ โดยประเมินแนวรับแรกบริเวณ 1,390 จุด และแนวรับถัดไปบริเวณ 1,360-1,370 จุด ยังแนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นชุด D&D (Defensive and Domestic Play) ที่ทนความผันผวนของตลาดได้ดี ได้แก่ ADVANC, INTUCH, CPALL, SUPER, TACC, BCH และแบ่งซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคาร ได้แก่ KBANK, SCB, BBL

ปิดท้าย กองทุนบัวหลวง จัดทำ Fund Comment เผยมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือน มิ.ย.ว่า ต้องให้ความสำคัญเรื่องการคัดสรรหุ้นมากขึ้น เนื่องจากตลาดปรับขึ้นมารับแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจไปบ้างแล้ว ทำให้ระดับมูลค่าหุ้นโดยรวมค่อนข้างตึงตัว กลยุทธ์การลงทุน เน้นเลือกลงทุนหุ้นที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินและมีความสามารถในการแข่งขัน มีกลยุทธ์การปรับตัวที่ดี

รวมทั้งให้น้ำหนักมากขึ้นกับธุรกิจที่สามารถกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงภาวะปกติในเวลาไม่นาน!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

แบงก์ชาติยัน บาทแข็งสอดคล้องกับภูมิภาค

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลในภูมิภาค โดยตั้งแต่สิ้นเดือน พ.ค. ถึงปัจจุบัน (11 มิ.ย. 63) เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 2.71% รองจากเงินรูเปียของอินโดนีเซีย และเงินวอนของเกาหลีใต้

สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เงินทุกสกุลในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเงินไหลกลับของนักลงทุนที่เป็นทั้งนักลงทุนไทยและกองทุนต่างๆ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่มาก

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกและไทย อาจส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวน ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ และกระจายสกุลเงินในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงการอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว โดยเฉพาะหากเป็นการซื้อขายระหว่างกันเองในภูมิภาค การพิจารณาเลือกเงินสกุลเพื่อกำหนดราคาสินค้า (invoicing currency) ในสกุลที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันจะมีโอกาสช่วยลดความผันผวนของรายรับในสกุลบาท นอกจากการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สถาบันการเงินให้บริการอยู่แล้ว

เงาหุ้น : หุ้นโรงแรม-โรงพยาบาลสวย

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 10 มิ.ย.63 ปิดที่ 1,418.77 จุด เพิ่มขึ้น 10.40 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 77,422.25 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 859.49 ล้านบาท

หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด MINT ปิด 22.90 บาท ลบ 1 บาท, CPF ปิด 30.50 บาท ลบ 1.50 บาท, SCB ปิด 89.25 บาท บวก 1.50 บาท, BAM ปิด 24.80 บาท ลบ 0.20 บาท และ KBANK ปิด 116.50 บาท บวก 3.50 บาท

ตลาดกลับมาดี๊ด๊าเด้งปิดบวก จากความคาดหวังมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการผ่อนปรนล็อกดาวน์เฟส 4 ที่คาดว่าจะเริ่มได้เร็วสุด 15 มิ.ย.นี้ ขณะที่ตลาดรอลุ้นติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

หุ้นกลุ่มแบงก์ฟื้นตัว รวมทั้งค้าปลีกยังโดดเด่น และกลุ่มน้ำมันมีแรงซื้อเข้ามาดันราคาขึ้น ขณะที่หุ้นโรงแรมส่วนใหญ่บวกขึ้น รับข่าวการเปิดคลายล็อกเฟส 4 และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐ ด้านหุ้น CPF ร่วงแรงกว่า 4% นักลงทุนกังวลเรื่องการออกหุ้นกู้อนุพันธ์และการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบ

มีความเห็นที่น่าสนใจจาก บล.หยวนต้า ที่คาดว่าสินทรัพย์ลงทุนทั้งหุ้น น้ำมัน ทองคำ จะผันผวนอย่างมาก ซึ่งเฟดจะมีการประกาศประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ และอาจมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินจากยกระดับงบดุล เป็นการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรบางอายุ

เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯช่วงหลังเริ่มดีขึ้น ความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินจึงเริ่มลดลง แต่สหรัฐฯยังอยู่ในช่วงระดมเงินผ่านการประมูลพันธบัตร เฟดจึงน่าจะนำประเด็นต้นทุนทางการเงินมาพิจารณาเพื่อไม่ให้เร่งตัวขึ้นเร็วเกินไป เพราะฉะนั้นผลประชุมมีโอกาสออกมาเป็นกลาง แต่สินทรัพย์ลงทุนจะผันผวนสูงจากการตีความ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำให้พักเงินในหุ้น Low Beta ที่ Valuation ไม่แพง (PBV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง) และเข้าธีม D&D ของเรา เช่น CPALL-ADVANC-INTUCH-BDMS-BCH-SUPER-GUNKUL และ SGP

นอกจากนี้ ยังออกบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ประเมินว่าจะเคลื่อนไหวได้ดีกว่าตลาด เนื่องจากเริ่มมีปัจจัยบวกจากการรอพิจารณาเพื่อเปิดให้ผู้ป่วยต่างชาติเดินทางมารักษาพยาบาลได้แบบเฉพาะกลุ่ม ขณะที่ภาพรวมกำไรคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ 3Q63

สำหรับโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากในประเทศสูง คือ BCH และอาจเห็นการเก็งกำไรรายตัวในโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าจีน หากเปิดให้เดินทางมาใช้บริการได้ แนะนำ “สะสม” BCH และ “เก็งกำไร” EKH!!

ที่มา คอลัมน์ เงาหุ้น โดย อินเด็กซ์ 51 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ธอส. เตรียมปล่อยสินเชื่อบ้าน “เราไม่ทิ้งกัน” 2 หมื่นล้านบ. ดอกเบี้ย 1.99% คงที่ 2 ปีแรก

รายงานข่าวจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเยผว่า ธนาคารสนับสนุนนโยบายรัฐบาลร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีบ้าน เตรียมวงเงิน 20,000 ล้านบาท จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน” อัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี คงที่นานถึง 2 ปีแรก ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.150% ต่อปี) หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

โดยให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล(มาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท) หรือบุคคลในครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ทั้ง 10 มาตรการ วงเงิน ให้กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหลักประกัน เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ขยาย ซ่อมแซม และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย พิเศษ!! ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ และคิดค่าประเมินราคาหลักประกันอัตราพิเศษ ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

เดินหน้าส่งมอบอาหารปลอดภัย ครั้งที่ 18 สู่ชุมชนวัดภคินีนาถฯ

นายณัฏฐชัย ถิรคุณพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ นำชาวซีพีเอฟจิตอาสาทีม LDP พระนคร ร่วมเดินหน้าอาหารมั่นคง มอบอาหารอุ่นร้อนจากรถ CPF Food Truck ในโครงการ “อาหารปลอดภัยจากใจ..สู่ชุมชน” ครั้งที่ 18 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหารให้กับประชาชนชาวชุมชนวัดภคินีนาถ ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 โดยมี ผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมด้วย ที่ วัดภคินีนาถ วรวิหาร เขตบางพลัด

นายณัฐชัย กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นถึงความยากลำบากของคนไทยในช่วงวิกฤติเช่นนี้ ซีพีเอฟจึงขอมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์และลดภาระค่าครองชีพแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ด้วยการมอบอาหารคุณภาพดี สะอาดปลอดภัย มาตรฐานส่งออก พร้อมกับไข่ไก่ต้ม และน้ำแร่ เพื่อเติมเต็มความอิ่มอร่อย ส่งถึงมือพี่น้องประชาชนชุมชนต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 เขต ตั้งแต่บางกอกน้อย บางพลัด บางบอน ห้วยขวาง หนองแขม บางขุนเทียน และยังคงส่งมอบความสุขเช่นนี้ต่อไป

ด้าน นายสุรชาติ เพ็ญพิชัย ตัวแทนชาวซีพีเอฟจิตอาสาทีม LDP พระนคร กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาช่วยชาวชุมชน มองว่าวิกฤติในครั้งนี้หากสามารถทำอะไรได้ทุกคนก็ยินดี เมื่อบริษัทจัดกิจกรรมดีๆเช่นนี้จึงอยากเอาแรงมาช่วยและถือเป็นการตอบแทนสังคม ตามค่านิยมองค์กรเรื่อง 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน ที่ได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอด

ส่วน นางกฤติมณ พูลเพิ่ม อายุ 64 ปี ชาวชุมชนวัดภคินีนาถ ที่มาร่วมกิจกรรม บอกว่า ตนเองไม่มีอาชีพ และอาศัยอยู่กับหลานซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้รายได้ลดลง ทุกวันนี้พยายามลดรายจ่ายให้มากที่สุด เมื่อชุมชนแจ้งว่าซีพีเอฟจะมามอบอาหารก็รู้สึกดีใจที่บริษัทมาช่วยกันในช่วงวิกฤติ

เช่นเดียวกับ นางปวีณา ภารดีภาพย์ อายุ 59 ปี ที่กล่าวขอบคุณซีพีเอฟที่จัดกิจกรรมช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ตนเองมีอาชีพเสริมสวยเมื่อมีวิกฤตโควิดอาชีพก็ต้องหยุดลง รายได้เป็นศูนย์ ช่วงที่ผ่านมาลำบากมาก ต้องดึงเงินที่พอมีเก็บสะสมไว้มาใช้ประทังไปเป็นวันวัน ขอฝากให้หน่วยงานต่างๆมาร่วมด้วยช่วยกันเช่นนี้

การระดมทุนแบบ private placement ทางเลือกและทางรอดของ SME และ startup ไทย

โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA
ผู้ช่วยเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทีมโฆษก และฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2

จอมขวัญ คงสกุล
ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “SME” (เอสเอ็มอี) เป็นกลไกและรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งการจ้างงานที่กระจายไปในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจการเกษตรไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า รวมถึงธุรกิจบริการต่าง ๆ โดยปัจจุบันเอสเอ็มอีในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43% เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศไทย

ในช่วงเวลาที่เอสเอ็มอีกำลังเผชิญความท้าทายเรื่องเงินทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกขนาดและทุกประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้กลับมามีความเข้มแข็งโดยเร็ว โดยในส่วนของ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาตลาดทุน มีเป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันผู้ลงทุนก็ยังได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมด้วย ก.ล.ต. จึงได้มีการออกหลักเกณฑ์เพื่อเปิดช่องทางให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (startup) ที่อยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัดสามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนผ่านตลาดทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมถึงมีขั้นตอนที่ง่ายและไม่ซับซ้อน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาเงินทุนเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ โดยรูปแบบการลงทุนดังกล่าวเรียกว่า การระดมทุนจากบุคคลหรือผู้ลงทุนในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP)

การระดมทุนรูปแบบ PP นั้น เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถเลือกได้ว่า จะระดมทุนด้วยเครื่องมือลักษณะใดระหว่างการเสนอขาย ดังนี้

(1) หุ้น ซึ่งผู้ลงทุนจะมีสิทธิประโยชน์และความเสี่ยงเหมือนเจ้าของกิจการตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ
(2) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture หรือ CD)* ซึ่งในช่วงแรกผู้ลงทุนจะยังไม่มีสถานะเป็นเจ้าของกิจการ แต่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการ โดยในช่วงนี้ เจ้าของกิจการเดิมเองก็ยังมีอำนาจในการบริหารกิจการได้เหมือนเดิม และต่อมาเมื่อกิจการได้เติบโตขึ้นจนถึงระยะเวลาการใช้สิทธิแปลงสภาพจากหุ้นกู้เป็นหุ้นแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพก็สามารถเปลี่ยนสถานะมาเป็นเจ้าของกิจการร่วมกับเจ้าของกิจการเดิมได้

ทั้งนี้ เพื่อให้การระดมทุนของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่ซับซ้อน ก.ล.ต. จึงกำหนดขั้นตอนและกระบวนการที่เรียบง่าย โดยขอให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพื่อส่งเสริมการระดมทุนระหว่าง ก.ล.ต. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยการลงทะเบียนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพได้รับทราบถึงขั้นตอนในการระดมทุน และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมการล่วงหน้าและทำให้การระดมทุนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่าง ก.ล.ต. และผู้ประกอบการ เพื่อการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย

ด้านการกำกับดูแลคุ้มครองผู้ลงทุน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพอาจมีความเสี่ยงในเรื่องฐานะการเงินและผลประกอบการจากการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้มีการจำกัดประเภทผู้ลงทุน ได้แก่

(1) กรณีเป็นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมตามนิยามของ สสว. เปิดให้เฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการลงทุนในเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) นิติบุคคลร่วมลงทุน (Private Equity: PE) และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Angle Investor) เท่านั้นที่จะสามารถลงทุนได้

(2) กรณีเป็นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดกลางตามนิยามของ สสว. จะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากผู้ลงทุนตามข้อ (1) แต่ต้องไม่เกินจำนวน 10 ราย และมูลค่าการระดมทุนในส่วนนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อจำกัดผลกระทบกรณีที่เกิดความเสียหายในการลงทุนให้อยู่ในวงแคบ ซึ่งเป็นไปตามหลักการคุ้มครองผู้ลงทุน

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ก.ล.ต. ได้กำหนดให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญให้ผู้ลงทุนทราบ เช่น ข้อมูลบริษัท ลักษณะการประกอบธุรกิจ ความเสี่ยง ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์การระดมทุนแบบ PP สำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีขั้นตอนที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ และยังคงหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนที่ดี ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจเพื่อให้ยังดำเนินกิจการอยู่รอดต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากในปัจจุบัน และสำหรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในเรื่องการระดมทุนเพิ่มเติม สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/SME-PP.aspx


หุ้นกู้แปลงสภาพเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพนั้นจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทโดยจะมีการข้อกำหนดและผลตอบแทนในลักษณะเดียวกับหุ้นกู้ทั่วไป (เช่น ได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลง เป็นต้น) แต่หุ้นกู้แปลงสภาพจะมีลักษณะพิเศษกว่าหุ้นกู้ทั่วไป คือ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพหรือเข้าเงื่อนไขตามที่ตกลงกันระหว่างผู้ออกและผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้นกู้ (ผู้ลงทุน) แปลงสภาพสามารถใช้สิทธิเลือกได้ว่าจะขอรับชำระคืนหนี้เป็นเงิน (เหมือนกรณีหุ้นกู้ทั่วไป) หรือจะเลือกใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นก็ได้ โดยอัตราการใช้สิทธิแปลงสภาพจะเป็นไปตามที่ตกลงกันในวันที่เข้าลงทุนซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ

[ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์]