ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำผู้ประสบอุทกภัย ควรคำนึงถึงความปลอดภัยในอาหารเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ควบคู่กับการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นและพลังงานเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ด้านหน่วยงานช่วยเหลือ ควรหลีกเลี่ยงมอบอาหารที่บูดง่าย ให้เลือกอาหารที่สามารถเก็บได้นาน และตรวจสอบคุณภาพอาหารก่อนนำไปมอบทุกครั้ง
ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคต่างๆ และที่สำคัญคือเรื่องของอาหารการกิน เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต
“ในภาวะน้ำท่วม ผู้ประสบภัยไม่สามารถประกอบอาหารเองได้ และไม่สะดวกในการออกไปซื้ออาหาร จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เข้ามาดูแล ทั้งในรูปแบบอาหารที่ปรุงสำเร็จ และอาหารแห้งที่สามารถกักตุนไว้กินได้หลายวัน ทั้งนี้ เรื่องอาหารการกิน ยังคงจำเป็นต้องใส่ใจความสะอาด และความปลอดภัยเป็นหลัก ที่สำคัญวัตถุดิบอาหารต้องมีคุณภาพดี เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต ต้องระมัดระวังและตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงผู้รับ เพื่อให้อาหารปลอดภัยต่อการบริโภคและดีต่อสุขภาพ” ดร.วนะพร กล่าว
สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในการนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย คือ อาหารที่เสียง่ายหรือบูดง่าย ได้แก่
- อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ เพราะอาหารไทยหลายเมนูมักใช้กะทิเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว เช่น แกงเขียวหวาน แกงพะแนง และอาหารหวาน ที่มีส่วนผสมของกะทิ ซึ่งกะทิมีองค์ประกอบของสารอาหารที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่เป็นตัวการทำให้อาหารเสียง่าย
- อาหารประเภทลาบหรือยำ เนื่องจากวัตถุดิบผ่านการลวกหรือรวนซึ่งเป็นการผ่านความร้อนเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่สามารถทำลายจุลินทรีย์ก่อโรคได้
- อาหารที่ใส่ผักลวก ในเมนูน้ำพริกต่าง ๆ มีการใส่ผักลวกหรือผักต้มไปในกับข้าวอื่น ๆ จะทำให้อาหารมีความชื้น และเสียง่าย
- ข้าวผัด เนื่องจากข้าวผัดจะมีความชื้นและข้าวเป็นอาหารกลุ่มที่มีความเป็นกรดต่ำ เอื้อต่อการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค
ส่วนอาหารปรุงสดที่ควรเลือก คือ อาหารที่ไม่เสียง่ายหรือบูดยาก เก็บไว้ได้นาน และมีคุณค่าโภชนาการ โดยแนะนำให้แยกข้าวออกจากกับข้าว เพื่อทำให้อาหารบูดช้าลง อาทิ
- ข้าวสวย หรือ ข้าวเหนียว + เนื้อสัตว์ (หมู/ไก่/เนื้อ/ปลา) ทอด ย่างหรืออบ หรือ ไข่เจียว/ไข่ต้ม + ผัดผัก
- ข้าวสวย + กับข้าวประเภทผัดหรือต้มที่ใส่เนื้อสัตว์และผัก (ไม่มีส่วนผสมของแป้งและกะทิ)
- ผลไม้ที่ยังไม่ได้ปลอกเปลือกหรือยังไม่หั่น เช่น กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะม่วง แตงโม
สำหรับอาหารที่เก็บไว้ได้นาน และเหมาะสำหรับนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ
- ปลากระป๋อง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล
- อาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋อง
- ไข่
- ผักสดที่เก็บได้นาน เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือ
- นมพลาสเจอร์ไรซ์
- ขนมปังกรอบหรือเครกเกอร์
ดร.วนะพร แนะนำว่า ลักษณะอาหารที่ไม่ควรกิน เสี่ยงเป็นอาหารที่เสีย สามารถสังเกตจาก 3 สัญญาณต่อไปนี้
- กลิ่นของอาหารเปลี่ยน เช่น กลิ่นเปรี้ยว กลิ่นหืน กลิ่นบูด
- เนื้อสัมผัสอาหารเปลี่ยนไป เช่น เป็นเมือก เป็นฟอง
- รสชาติเปลี่ยน เช่น เปรี้ยว ขม
สำหรับข้อสังเกตอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารบรรจุกระป๋อง ที่ไม่ควรรับประทาน ได้แก่
- อาหารที่หมดอายุแล้ว
- อาหารที่บรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย เช่น กระป๋องเป็นสนิม ถุงฉีกขาดมีรอยรั่ว
- อาหารที่ขึ้นรา เช่น มีใยสีขาว มีจุดสีดำบนอาหาร
ในขณะที่ น้ำดื่ม ควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ส่วนน้ำใช้ แนะนำใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มั่นใจได้ในความสะอาด กวนสารส้ม หยดคอรีน ป้องกันเชื้อโรคที่มากับน้ำ
ดร.วนะพร กล่าวย้ำว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม สุขภาพยังเป็นสิ่งที่ทุกคนควรคำนึงอยู่เสมอ หากเจ็บป่วยในขณะที่อยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมยิ่งจะสร้างความลำบากในการเดินทางไปสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษา ดังนั้น จึงต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่รับประทานเป็นลำดับแรก ควบคู่กับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่กินในแต่ละวันเพื่อให้ได้รับพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย.